พิศาลเมฆ แช่มโสภา
ขอเรียนไว้ในเบื้องต้นว่า เรื่องหรือเหตุการณ์ที่จะกล่าวต่อไปนี้
๑. บางเรื่อง เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่เป็นกรมการศาสนา (ที่รับผิดชอบดูแลพุทธมณฑล ตามมติของคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี ๒๕๒๒) จนกระทั่งเกิดเป็นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในปัจจุบัน
๒. บางเรื่อง เกิดขึ้นในสมัยที่มีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเกิดขึ้น และรับผิดชอบดูแลพุทธมณฑล ผู้ที่ได้รับมอบให้ดูแลพุทธมณฑล ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ไปจนถึงผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ต่างได้พ้นหน้าที่ไปหมดแล้ว จึงไม่ต้องกังวลว่า “ใครบกพร่อง ใครรับผิดชอบ” และ
๓. เจ้าหน้าที่และผู้บริหารสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่ชาติชุดปัจจุบัน ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จึงไม่เป็นความผิดของใคร
ในปี ๒๕๔๘ มีการประชุมคณะสงฆ์และผู้นำชาวพุทธนานาชาติทั่วโลก ๔๒ ประเทศ จำนวนประมาณ ๑,๖๐๐ รูป/คน จัดโดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม ร่วมกับรัฐบาล โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ต่อไปขอเรียกสั้นๆ ว่า สำนักพุทธฯ) เป็นเจ้าภาพร่วมกัน ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ที่ประชุมมีมติประการหนึ่ง คือ “ให้พุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาโลก”
คนในวงการศาสนารู้กันดี แต่นำมากล่าวเพื่อนำไปสู่เรื่องที่จะกล่าวถึงต่อไป..
นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ เป็นต้นมา สิ่งที่จะบอกชาวพุทธ และผู้คนทั่วไปให้ทราบว่า พุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาโลก ก็คือ ป้ายคัทเอ๊าท์บริเวณพื้นที่ใกล้ป้อมยาม ประตูที่ ๑ นับจากแยกถนนบรมราชชนนีตัดกับถนนพุทธมณฑลสาย ๔ (เรียกง่ายๆ ก็คือ ถนนที่เคยเข้าไปหอประชุมพุทธมณฑล หรือถนนเข้าพุทธมณฑล เดิมนั่นเอง เพราะอีกด้าน เมื่อก่อนไม่เคยเปิดให้เข้า) มีรูปหลวงพ่อใหญ่ และตัวอักษรว่า “พุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาโลก”
ป้ายนี้เท่านั้นจริงๆ ที่บอกว่า “พุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาโลก” ส่วนภายในพุทธมณฑล ไม่มีอะไรเกิดขึ้นตามาเลย เมื่อป้ายผุ ก็เปลี่ยนใหม่ เป็นเวลาน่าจะไม่เกิน ๓ ปี.. ป้ายนั้น ก็กลายเป็นการประกาศกิจกรรมที่จะมีในพุทธมณฑลตามเดิม
ต่อจากนั้นถึงปี ๒๕๕๐ กว่าๆ เป็นต้นมา ก่อนที่จะมี “การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา” ผู้บริหารหลายยุคสมัย ของสำนักพุทธฯ ก็นำเอา “พุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาโลก” เป็นวิสัยทัศน์ของสำนักพุทธฯ จะต้องทำ มาใส่ไว้ตลอด จนกระทั่งปัจจุบัน..
และวิสัยทัศน์นี้ สำนักพุทธฯ ก็ “สอบตก” มาตลอดเช่นกัน.. เพราะไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่มีข่าวคราวใดๆ ที่แสดงว่า สำนักพุทธฯ เริ่มงานรองรับให้พุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาโลก
จนกระทั่งมีการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ๖ + ๑ ตามที่เคยเสนอไปแล้ว (๖ คือ ภารกิจ ๖ ด้านของคณะสงฆ์ ๑ ก็คือ พัฒนาให้พุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาโลก)
ที่เขียนมา พอจะเป็นการปูพื้นฐานให้เข้าใจภาพรวมก่อนที่จะเข้าเรื่องต่อไป…
ปฐมเหตุ คือ ก่อนปี ๒๕๔๕ สมัยพุทธมณฑลสังกัดกรมการศาสนา ได้เข้าไปปฏิบัติงานที่พุทธมณฑลหลายครั้ง และในปี ๒๕๕๗ กว่าๆ ผมได้ให้เพื่อนขับรถไปส่งที่สำนักพุทธฯ โดยเข้าทางประตู ๑ แล้วขับไปตามถนนในพุทธมณฑล วันนั้นฝนตกมาก จึงค่อยๆ ไป พร้อมกับตอบคำถามเพื่อนไม่ได้ ลงท้ายที่เพื่อนขับรถไปอาคารสำนักพุทธฯ ไม่ถูก พากันวนเวียนทัวร์พุทธมณฑลหลายรอบ.. จนถึงสำนักพุทธฯ โดยกระท่อนกระแท่น..
ทั้ง ๒ เหตุการณ์รวมกัน จึงเป็นที่มาของบทความนี้..
๑. วงเวียนแห่งน้ำ
พอรับบัตรผ่านเข้าจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำพุทธมณฑล (บัตรนั้น มีไว้เพื่อป้องกันการขโมยรถ ท่านต้องรักษาติดตัวไว้ในแสดงในขาออก หากไม่มีจะต้องวุ่นวายหน่อย) ไม่ถึง ๑๐๐ เมตร ทั้งประตู ๑ และประตู ๒ รถทุกคันจะต้องพบกับวงเวียน ที่สร้างไว้เพื่อเป็นทางกลับรถไปด้านใดด้านหนึ่ง การสร้างวงเวียน จะมีลักษณะคือ พื้นที่จะต้องเอียงลาดไปทางแถบใดแถบหนึ่ง เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเวลาฝนตก วงเวียนทั้ง ๒ ประตู จะเอียงลาดไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ
ปัญหาที่พบคือ ทุกครั้งที่ฝนตกพอสมควร รถทุกคันต้องลุยน้ำเข้าไปหรือออกมา ในลักษณะน้ำกระจายไปหลายเมตร ตามแต่ความเร็วรถ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะตั้งแต่มีการสร้างทางที่มีขอบทางทุกแห่งในพุทธมณฑล จะต้องมีการสร้างท่อระบายน้ำไว้ด้วย เพื่อระบายน้ำที่ถนนลงท่อ เวลาฝนตก
แต่ท่อระบายน้ำนั้น น่าจะไม่มีการลอกท่อมาตั้งแต่เริ่มสร้าง..
ผลที่ตามมาคือ ท่อระบายน้ำตัน เมื่อท่อตัน น้ำก็ไปไม่ได้ จึงท่วมอยู่ที่ถนน ไหลไปไหนไม่สะดวก..
ผมจึงคิดว่า ทำไมไม่ทำบายพาสน้ำ โดยใช้ท่อขนาด ๑๐ นิ้วขึ้นไป ความยาวเท่ากับความยาวขอบถนนถึงคูน้ำข้างถนน เอาอิฐที่ปูทางออกก่อน แล้วขุดดินในจุดที่ลาดเอียงที่สุด ที่วงเวียน ในแนวเอียง ประมาณ ๑๕ – ๓๐ องศา ให้กลางปากท่ออยู่ในแนวเดียวกับถนน ถ้าไม่ให้หน้าเกลียดก็เอาตะแกรงมาปิดด้านหน้า กันใบไม้ลงไปทำให้ท่อตัน แล้วกลบดิน วางอิฐซ้อนไว้ ให้อยู่ในสภาพเดิม
เมื่อฝนตก น้ำก็จะไหลลงท่อที่ขุดไว้ แล้วไหลตรงลงคูน้ำด้านข้าง..
ทำแค่นี้ ปัญหาก็จะหมดไป..
เห็นมาหลายปี ยังไม่เห็นมีการแก้ไข เพราะเป็นเรื่องที่เห็นจนเคยชิน จนไม่เป็นปัญหา ถ้าไม่ตระหนักก็จะไม่เห็นเป็นปัญหา..
ความคิดของการบริหารที่สอนกันทั่วๆ ไป คือ อย่าเอาเรื่องเล็กน้อยมาทำให้เป็นปัญหา (ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องเล็กน้อย)
แต่ความเป็นจริง ก็คือ “น๊อตตัวเดียวอาจทำให้รถทั้งคันพังได้” เหมือนกัน..
เอาแค่ทางเข้า ๑๐๐ เมตรก่อน.. อีก ๑๐๐ เมตรต่อไป มีอีก..
*******************************************
Leave a Reply