ปลัดมหาดไทยโค้ชชิ่ง “หลักสูตร INS. CAST” มุ่งเสริมสร้างศักยภาพผู้ตรวจราชการกระทรวง-กรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทยสู่การเป็นผู้นำการตรวจราชการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการ “ทำงานเป็นทีม” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก กรมการพัฒนาชุมชน ต.สาริกา อ.เมืองนครนายก จ.นครนายก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารระดับสูง กระทรวงมหาดไทย หลักสูตร “ผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ระดับกระทรวง พร้อมบรรยายพิเศษเรื่อง “ทำไมต้อง INS. CAST (Inspector for Change Agent for Strategic Transformation)” โดยได้รับเกียรติจากคณาจารย์ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ คำฝอย รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย อาจารย์ชยดิฐ หุตานุวัชร์ นายกสมาคมสถาบันทิวา และคณะทำงานจากกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมเป็นวิทยากร โดยมี นายปรีชา เดชพันธุ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย และผู้ตรวจราชการกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย รวม 67 คน เข้ารับการฝึกอบรม โอกาสนี้ นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก นายบรรจบ จันทรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายเอกวิทย์ มีเพียร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายบุญธรรม ถาวรทัศนกิจ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ นางสาวมนทิรา เข็มทอง ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน นายสันชัย พัฒนะวิชัย หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครนายก ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมรับฟัง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการฝึกอบรม “ทำไมต้อง INS. CAST” ให้กับท่านผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยและผู้ตรวจราชการกรม หลังจากที่ได้ฝึกอบรมให้กับท่านผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และทีมงาน ซึ่งการฝึกอบรมหลักสูตรนี้นั้นเกิดจากการบูรณาการ 2 ประการ คือ 1) เป็นการบูรณาการใช้ทรัพยากรของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยที่มีอยู่ คือ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก เป็นสถานที่ให้ผู้ตรวจราชการทุกท่านได้ใช้ชีวิตร่วมกันตลอดระยะเวลาการฝึกอบรม 2) การให้พวกเราทั้งผู้ตรวจราชการกระทรวงและกรมได้มาสร้างความสนิทสนมคุ้นเคย มาเปิดใจแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ดังคำว่า “มหาดไทย” ที่มาจากคำว่า มหทย อันมีความหมายสะท้อนหัวใจแห่งการมีความรักความเมตตาที่ยิ่งใหญ่ที่มีต่อพี่น้องประชาชน ดังสีประจำกระทรวงมหาดไทย คือ “สีดำ” ที่เป็นสีแห่งความรักที่เป็นอมตะตามความเชื่อคติทางพราหมณ์ ตรงกับหน้าที่คนมหาดไทยที่รักคนอื่น รักประชาชนมากกว่ารักตัวเอง เพื่อให้เกิดการ Change for Good บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชนที่ได้ทำมาตลอด 131 ปีที่ผ่านมา
“ขอให้เราได้ใช้เวลาทุกนาที ทุกชั่วโมงในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มุ่งมั่นบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทำสิ่งที่ดีให้เกิดประโยชน์สุขกับพี่น้องประชาชน ไม่ใช่ว่ามีเวลาเยอะ แต่ปล่อย ๆ ไปวันวันนึงมันก็ไร้ค่า จึงต้องทำให้เวลาที่มีอยู่น้อยเป็นโอกาสที่ต้องทุ่มเททำอย่างเต็มที่เพื่อก่อให้เกิดคุณค่า พัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการทุกระดับ ทั้งในเชิงระบบและเชิงการทำงาน ดูแลข้าราชการรุ่นน้องเป็นประดุจดั่งลูกศิษย์ด้วยการ “ติดตาม หนุนเสริม ประเมิน” คือ 1) ทำหน้าที่เป็น “ครู” ผู้ให้ความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ 2) ให้คำสอนแก่ศิษย์ 3) ตรวจประเมินให้คะแนน และ 4) เมื่อผ่านการประเมินผลแล้ว เราต้องให้คำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อให้เขามีโอกาสพัฒนาปรับปรุงการทำงานให้เกิดสิ่งที่ดีตามที่พวกเราตั้งใจทำกันไว้ คือ การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างสุดกำลังความสามารถ ด้วยการหมั่นลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับพี่น้องประชาชน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า ผู้ตรวจราชการกระทรวงและผู้ตรวจราชการกรมต้องให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนการตรวจราชการแบบบูรณาการ พร้อมทั้งถ่ายทอดแนวทางการทำงานและการประพฤติปฏิบัติตนของข้าราชการ ตั้งแต่เรื่องของ “ใจ” และ “วัตรปฏิบัติโดยทั่วไป” เพื่อพัฒนาทำให้ข้าราชการเป็นผู้รอบรู้และมีประสิทธิภาพการทำงาน โดยบูรณาการหน้าที่รับผิดชอบทั้ง “การตรวจราชการตามภารกิจ (Function-based)” ที่เน้นการตรวจราชการของส่วนราชการหรือตามภารกิจของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง “การตรวจราชการตามพื้นที่หรือเขตตรวจราชการ (Area-based)” ที่เน้นการตรวจราชการเฉพาะในเขตพื้นที่รับผิดชอบ และ “การตรวจราชการตามนโยบาย (Agenda-based)” ที่เน้นการตรวจราชการในประเด็นสำคัญที่ได้รับมอบหมาย รวมถึง “เชิงพื้นที่” คือ ทำให้คนมหาดไทยทุกคนทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ด้วยการเป็นผู้นำต้องทำก่อน น้อมนำพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ทำให้ทฤษฎีใหม่ที่มีมากกว่า 40 ทฤษฎีใหม่ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และหลักการทรงงาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ประทานพระดำรัสไว้ตอนหนึ่งที่ถือเป็นหัวใจของการเป็นผู้ตรวจราชการ ความว่า “การเป็นผู้นำนั้น ต้องให้รองเท้าขาดก่อนกางเกง คือต้องออกตรวจจนรองเท้าขาด ไม่ใช่นั่งเก้าอี้จนกางเกงขาด” หลักโบราณก็มีอยู่ว่า “จงคิด จงสั่ง จงตรวจ” โดยต้องตรวจราชการทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น การสุ่มพื้นที่หรือสถานที่หรือโครงการ/กิจกรรมเพิ่มเติมในระหว่างการลงพื้นที่ที่เป็นทางการตามกำหนดการ ซึ่งจะทำให้เราได้ข้อมูลที่ชัดเจน ข้อมูลที่ Real ทำให้รู้ปัญหาที่แท้จริง หรือได้เห็นของจริง ที่สามารถนำมาประกอบการนำเสนอผลการตรวจราชการ นำไปสู่การปรับปรุง พัฒนา แก้ไข ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน ดังนั้น ไม่ว่าท่านจะอยู่หน้าที่ไหนก็ต้องทำให้ดีที่สุด และมีใจที่อยากทำอะไรให้ดีขึ้นได้ จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมนี้เพื่อให้ได้ปลุกพลัง ระดมความคิด มาให้กำลังใจ เป็นแรงใจซึ่งกันและกัน ใช้ชีวิตร่วมกัน ซึ่งทุกคนต้องเปิดใจ (Open Mind) ไม่ปิดกั้นตัวเอง รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน อะไรที่ถูกตำหนิติติง ถ้าสิ่งที่ถูกตำหนิ ถูกกล่าวถึงเป็นเรื่องที่กระทบต่อส่วนรวม เราก็ต้องน้อมรับและปรับตัวเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดกับพี่น้องประชาชน
“คนมหาดไทยเป็นเหมือนหนุมาน ที่เราต้องเป็นเสมือนกระโถนท้องพระโรงรับทุกเรื่องที่เป็น “ทุกข์ของชาวบ้าน ด้วยการมุ่งมั่นทุ่มเท “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชน” โดย “เรื่องใหญ่ที่สุดในวันนี้” คือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 66 เป็นอุทาหรณ์เตือนใจชาวมหาดไทยทุกคนได้ว่า บ้านเมืองนี้อยู่ในความรับผิดชอบของเราด้วย แม้ว่ากฎหมายจะให้ข้าราชการเป็นกลางทางการเมือง ขณะเดียวกันกฎหมายก็กำหนดให้เรามีหน้าที่ในฐานะพลเมือง ฐานะประชาชน ที่มีสิทธิ เสรีภาพ มีอิสระ มีความคิดเห็นทางการเมือง คือ Public Interest หรือประโยชน์ต่อส่วนรวม ด้วยการที่เราสามารถเสนอนโยบาย กฎหมาย ความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งเชื่อว่า พวกเราในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความคิดที่จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมการเมืองที่มีความสุข เพื่อให้ประเทศชาติมั่นคง คือ สถาบันหลักของชาติ อันประกอบด้วย สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ต้องมีความเข้มแข็ง ด้วยการมีค่านิยมที่ดี มีวัฒนธรรมการทำงานที่ดี มุ่งมั่นลงพื้นที่ มุ่งมั่นทำงานรับใช้พี่น้องประชาชนด้วยความจริงใจ ทุ่มเท เสียสละ อุทิศกำลังกาย กำลังใจ และทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อ “ทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น” และกำหนดเป้าหมายว่า ต้องทำให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการต้องช่วยกันสร้าง “ใจ (Passion)” และ “ทัศนคติ (Attitude)” รวมทั้งสร้างความตระหนักให้เห็นว่าการทำให้ประสบความสำเร็จ ให้เกิดสิ่งที่ดีกับพี่น้องประชาชนนั้นต้องมี “ความสามารถ (Ability)” และ “ความรู้ (Knowledge)” มุ่งมั่น “ทำงานเป็นทีม” เพราะงานจะประสบความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนคนเดียว ต้องใช้กลไก 3 ระดับ คือ ระดับพื้นที่/ชุมชน ระดับจังหวัด ระดับประเทศ 5 กลไก คือ การประสานงานภาคีเครือข่าย การบูรณาการแผนงานและยุทธศาสตร์ การติดตามหนุนเสริมและประเมินผล การจัดการความรู้ และการสื่อสารสังคม ต้องร่วมคิด ร่วมพูดคุย ร่วมปรึกษาหารือ ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ ด้วยคนในพื้นที่ ที่เกิดจากภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ทำให้เกิดความตระหนักรู้ ความตื่นรู้ ความตื่นตัวให้ประชาชนลุกขึ้นมาดูแลคนในสังคมด้วยกัน ทำให้ผู้นำในครอบครัว สมาชิกในครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี อันจะส่งผลทำให้คุ้มบ้าน ป๊อกบ้าน กลุ่มบ้าน หย่อมบ้าน ทำให้ตำบล อำเภอ จังหวัด ดีขึ้นอย่างเข้มแข็ง ด้วยพลังการมีส่วนร่วมของประชาชน เฉกเช่นเดียวกับเป้าหมายที่พวกเราตกลงร่วมกันที่จะพัฒนาทุกหมู่บ้านให้เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” รวมถึงการส่งเสริมการใช้ผ้าไทยที่เราต้องลุกขึ้นมาเป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” ที่ต้องทำให้คนไทยทุกคนได้รู้ว่า ผ้าไทยเป็นเครื่องสะท้อนถึงความมั่นคงด้านเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และเป็นอาชีพที่จะต่อลมหายใจ สร้างรายได้ สร้างชีวิตให้กับประชาชนในชนบท รวมถึงวิชาลูกเสือที่จะทำให้เกิดความมั่นคงของชีวิต เพื่อให้สุดท้ายปลายน้ำ คือ ทำให้คนไทยทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า คนมหาดไทยเป็นผู้นำทีมในการบูรณาการการทำงานของข้าราชการทุกกระทรวง ทุกกรม และทีมจิตอาสาในพื้นที่ ปลุกฟื้นกำลังใจคนมหาดไทย ทั้งข้าราชการ และทีมจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ให้ลุกขึ้นมามุ่งมั่นขับเคลื่อนทำหน้าที่นำการพัฒนาการเปลี่ยนแปลง เพื่อก่อให้เกิดการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน และต้องพึงระลึกเสมอว่าไม่ใช่ของเก่าไม่ดีแต่เราจะหยุดนิ่งหยุดคิดที่จะพัฒนาไม่ได้ ด้วยการคิดและมุ่งมั่นในการทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ด้วยการเปิดใจ (Open Mind) และการทำงานเป็นทีม (Partnership) ดังทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนต้นแบบ คือ อ.วังเจ้า จ.ตาก และ อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งผู้ตรวจราชการกระทรวงและกรมต้องเป็นต้นแบบผู้นำการขับเคลื่อนการบูรณาการอย่างยั่งยืน ลงไปสร้างความเข้าใจกับข้าราชการทุกคนว่าภารกิจของพวกเราทุกคน คือ การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ซึ่งแม้อำนาจหน้าที่ (Function) แต่ละหน่วยงานจะต่างกัน แต่ถ้าเราช่วยกันทำงานเป็นทีม Function ที่ต่างกันนั้นก็จะเกื้อกูลหนุนเสริมกัน และท้ายที่สุดเป้าหมายของพวกเราทุกคน คือ “ความสุข” ของพี่น้องประชาชนทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานครจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนตลอดไป
Leave a Reply