เที่ยววัดป่าฝาง..ศิลปะพม่าโดดเด่นประจำจังหวัดลำปาง

 

โดย ป.คลองประเวศน์

ในเขตจังหวัดลำปาง โดยเฉพาะในตัวเมือง มีวัดวาอารามที่สร้างขึ้นโดยอิทธิพลทางศิลปกรรมแบบพม่าที่สวยงาม แปลกตา ซึ่งมีอยู่เป็จำนวนมากวัด อาทิเช่น วัดป่าฝาง วัดศรีชุม วัดจองคา หรือวัดไชยมงคล วัดศรีรองเมือง วัดม่อนปู่ยักษ์ วัดม่อนจำศีล เป็นต้น  ซึ่งวัดพม่าเหล่านี้ ต่างก็มีความวิจิตรงดงาม ตระการตา  แตกต่างจากวัดไทยที่เราเห็นโดยทั่วไป จนอาจจะสามารถกล่าวได้ว่า หากต้องการจะชมความงามของวัดพม่า ไม่ต้องบินไปไกลถึงเมืองพม่า แต่ให้เดินทางมาที่จังหวัดลำปาง

            ซึ่งลักษณะของบรรดาวัดพม่าในเมืองลำปางนั้น ล้วนแล้วแต่เป็น วัดที่สร้างโดยชาวพม่า หรือมีรูปแบบทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรมตกแต่งรวมไปถึงพุทธลักษณะของพระพุทธรูป ซึ่งเป็นพระประธานของวัดเป็นแบบพม่า และในสมัยโบราณแม้กระทั่งสมภารเจ้าวัดตลอดจนพระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ในวัด ต่างก็เป็นชาวพม่าที่เดินทางเข้ามาพำนักอยู่ในเมืองลำปางตั้งแต่ในอดีต
ส่วนหากอยากจะสืบค้นที่มาที่ไปตลอดจนความเป็นมาของการสร้างวัดพม่าในจังหวัดลำปางนั้น ต้องเริ่มตั้งแต่ในยุคแรกที่ชาวล้านนารู้จักการทำป่าไม้โดยเฉพาะไม้สักที่มีอยู่อย่างดกดื่นในเขตดินแดนล้านนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดลำปาง แม้ว่าจะเริ่มรู้จักการทำป่าไม้แล้ว แต่คนท้องถิ่นในสมัยนั้น ก็ยังขาดความรู้และทักษะและไม่ชำนาญหลักในการทำไม้ที่ถูกต้องให้ตรงตามหลักวิชาการ ดังนั้น รัฐบาลสยามจึงได้ทำการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทำป่าไม้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นชาวต่างชาติ ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลและริเริ่มดำเนินกิจการด้านป่าไม้สัก

และหากจะกล่าวถึงนายห้างป่าไม้ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำไม้ที่สุดในเวลานั้น ก็คงจะมีแต่ชาวอังกฤษ เพราะเดินทางเข้ามาดำเนินกิจการป่าไม้ และทำไม้ในประเทศพม่าเป็นเวลาก่อนหน้านั้นแล้ว ชาวอังกฤษที่รัฐบาลสยามได้ติดต่อว่าจ้างเพื่อมาให้คำปรึกษา และเริ่มต้นด้านการทำป่าไม้ในสยาม ก็คือ มิสเตอร์ เอช.สเลด ซึ่งเจ้าตัวมีประสบการณ์ทำไม้อยู่ในพม่ามาก่อน เมื่อได้รับการว่าจ้างให้มาทำหน้าที่ ดูแลกิจการป่าไม้ในสยาม มิสเตอร์ สเลดก็ได้นำทีมงานชาวพม่าที่มีประสบการณ์ มีองค์ความรู้ในการทำไม้ และค้าไม้เข้ามาช่วยทำงานป่าไม้ในเขตดินแดนล้านนาพร้อมกันด้วย

โอกาสนี้ ผู้เขียนจะขอนำท่านมาทำความรู้จักกับวัดพม่า ที่สวยงามเก่าแก่อีกวัดหนึ่งของเมืองลำปาง ทั้งยังมีประวัติความเป็นมาน่าสนใจมากกว่า 100 ปี  อันได้แก่ “วัดป่าฝาง หรือวัดศาสนโชติการาม”   ซึ่ง วัดป่าฝางนี้สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2435  ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี โดยผู้ที่ทำการสร้างวัด คือ พ่อเฒ่าอูส่วยอัตถ์และแม่เฒ่าคำหวาน สุวรรณอัตถ์ สองสามีภรรยาที่มีจิตศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อพระพุทธศาสนา ปรารถนาความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนา ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ได้เข้ามาประกอบอาชีพป่าไม้ในเมืองลำปาง จึงได้ทำการสร้าง วัดศาสนโชติการามเมื่อปีพุทธศักราช 2435 ก็ได้อาราธนาพระสงฆ์เข้ามาอยู่จำพรรษาและอุปถัมภ์ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา ครั้งเวลาต่อมา จึงได้ให้หม่องตีกับเหล่ามัคคทายกไปขออนุญาต เพื่อขอเขตอุโบสถจากเจ้าผู้ครองนครลำปางในสมัยนั้น ก็คือ จ้าหลวงบุญวาทย์ วงศ์มานิตย์ เพื่อทำหนังสือขอ กราบบังคมทูลต่อพระเจ้าแผ่นดินสยามด้วยพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

ภายในวัดมีศาสนสถานที่เป็นจุดเด่นและความงดงามหลายแห่งด้วยกัน เริ่มที่ พระเจดีย์ใหญ่สีทองสุกปลั่งแลดูโดดเด่น อีกทั้งยังเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากพม่าเมื่อประมาณพ.ศ. 2449 ในส่วนของวิหารนั้น เป็นเรือนไม้ทั้งหลังหลังคาซ้อนกันเป็นชั้น ๆ แบบพม่า ขณะที่พระอุโบสถขนาดเล็กก็มีหลังคาเครื่องไม้แบบพม่าประดับด้วยลวดลายเครือเถาปูนปั้นเหนือ บานประตูสวยงาม ภายบริเวณวัดก็มีความสะอาดสะอ้าน สงบร่มรื่น เพราะในปัจจุบัน ลูกหลานของพ่อเฒ่าอูส่วยอัตถ์ ก็ยังคงอุปถัมภ์ ทำนุบำรุงวัดแห่งนี้ตลอดมา วัดป่าฝางตั้งอยู่ที่ ถนนสนามบิน ตำบลหัวเวียง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

นี่ก็เป็นวัดตัวอย่างเพียงวัดนึงเท่านั้น  ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสหยิบยกมาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษาและทราบที่มาที่ไปกัน แต่วัดพม่าในเมืองลำปางที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ ยังมีอยู่อีกหลายวัด รอคอยให้ท่านได้ไปเยือน ไปสัมผัส เพื่อชื่นชมศิลปะความงดงาม อีกทั้งยังเป็นโอกาสอันดี ที่จะได้เข้าวัดเพื่อศึกษาพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากจะได้เปิดประสบการณ์ในการท่องเที่ยวแล้ว ยังจะได้นำเอาหลักพระธรรมคำสอนมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่งหากท่านผู้อ่านมีโอกาสได้ไปเยือน โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวนี้ ก็ถือเป็นโอกาสที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง ที่จะนั่งรถม้า เที่ยววัดต่าง ๆ ในเขตเมืองลำปาง ให้สมกับสโลแกนที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว ของเมืองลำปางในปีนี้ คือ ลำปาง ปลายทางฝัน นั่นเองครับ

***************************************

 

 

ขอบคุณภาพ ..คนเมืองเหนือออนไลน์

Leave a Reply