วันนี้ (19 เม.ย. 67) เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนเพชรบุรี ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการศึกษาอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นที่ 15 โดยได้รับเกียรติจากนายกองเอก ธารณา คชเสนี (ครูป๊อด) นายหมวดตรี น้ำเพ็ชร คชเสนี สัตยารักษ์ (ครูปั๊ม) ดร.ลักษิกา เจริญศรี (ครูป้ายู) ร่วมเป็นวิทยากร โอกาสนี้ นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นางวันเพ็ญ มังศรี นายธรรมนูญ ศรีวรรธนะ นางสาวเบญจวรรณ มีเผือก หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเพชรบุรี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ร้อยตรี สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ นายวีระพงษ์ อ่างทอง ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนเพชรบุรี และผู้เข้ารับการศึกษาอบรมจากจังหวัด 4 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี และสมุทรสงคราม รวมกว่า 84 คน ร่วมรับฟัง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและดีใจอย่างยิ่งที่ตนได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นที่ 15 จาก 19 รุ่น ซึ่งหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรการฝึกอบรมที่จะทำให้ทุกท่านผู้มีความมุ่งมั่นที่จะเป็น “ครูจิตอาสา” ผู้ที่ตระหนักรู้ถึงสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศชาติมั่นคง คือ การทำให้คนในสังคมไม่ลืมรากเหง้าและไม่ลืมบุญคุณของบรรพบุรุษ ด้วยการเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นตลอดชีวิตในลักษณะจิตอาสา จึงนับเป็นเรื่องที่ดียิ่งที่ทุกท่านต่างมาเข้ารับการอบรมด้วยความตั้งใจในการตอบแทนคุณแผ่นดินและบ้านเกิดเมืองนอนของเรา และที่สำคัญได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณครู 3 ป. ครูป๊อด ครูปั๊ม ครูป้ายู ผู้เป็นสามทหารเสือของพระราชา ที่ตนมั่นใจว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์ และจะได้กลับไปทำความดีตอบแทนคุณแผ่นดิน อันสอดคล้องกับเป้าหมายที่กระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ด้วยความคิดที่จะทำให้ลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา ทำให้ทุกคนเกิดความผูกพัน เกิดความกตัญญูกตเวที ดังพุทธศาสนสุภาษิต นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา : ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี ทำให้คนในชาติได้รู้จักสำนึกในบุญคุณของบรรพบุรุษของเรา ที่คนรุ่นก่อนนั้นได้เสียสละเลือดเนื้อปกป้องรักษาผืนแผ่นดินไทยไว้ให้ลูกหลานของพวกเรา
“เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชดำรัสต่อมหาสมาคม ที่สะท้อนถึงความสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย และจะเป็นกำลังใจให้พวกเราได้ทำหน้าที่ในฐานะผู้บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ความตอนหนึ่งว่า “เพราะเราจะพูดถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ที่บรรพบุรุษของเราสละชีวิตมาเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินมาด้วยเลือดเนื้อ ด้วยชีวิต แต่เสียดาย …ไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์แล้วนะ…ตอนที่ฉันเรียนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีประวัติศาสตร์อะไรเท่าไหร่ แต่เราก็ต้องเรียนประวัติศาสตร์ของสวิส แต่เมืองไทยนี่ บรรพบุรุษเลือดทาแผ่นดิน กว่าจะมาถึงที่ให้พวกเราอยู่ นั่งอยู่กันสบาย มีประเทศชาติ เรากลับไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์…อย่างที่อเมริกาถามไปเขาก็สอนประวัติศาสตร์บ้านเมืองเขา ที่ไหนประเทศไหน เขาก็สอน แต่ประเทศไทยไม่มี ไม่ทราบว่าแผ่นดินนี้ รอดไปอยู่จนบัดนี้เพราะใคร หรือว่ายังไงกัน อันนี้น่าตกใจ ชาวต่างประเทศยังไม่ค่อยทราบว่า นักเรียนไทยไม่มีการสอนประวัติศาสตร์ชาติเลย” ซึ่งพระราชดำรัสองค์นี้ สะท้อนให้เห็นว่า พระองค์ทรงตระหนักและให้ความสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยที่จะมีผลต่อความมั่นคงของชาติ ที่พวกเราต้องน้อมนำมาศึกษา ทำความเข้าใจ และยึดเป็นหลักชัยในการหนุนนำให้พวกเรามีกำลังใจไปกระตุ้นให้พื้นที่ของเราไม่ลืมเลือนที่จะพูดคุย เรียนรู้ ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้กับลูกหลาน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานที่แน่วแน่ในการทำให้ประเทศชาติมั่นคงและประชาชนมีความสุข ดังพระปฐมบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 62 ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ซึ่งต่อมาพระองค์ท่านยังได้พระราชทานพระราชดำรัสขยายความพระปฐมบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 63 ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งการทำให้ “ประเทศชาติมั่นคงและประชาชนมีความสุข” ได้นั้น ทรงชวนให้พวกเราร่วมกัน “แก้ไขในสิ่งผิดและสืบสานพระราชปณิธานภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งการแก้ไขสิ่งผิดที่เกิดขึ้นในสังคมไทย พระองค์ได้พระราชทานโครงการจิตอาสาพระราชทาน โรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน และโครงการพระราชดำริมากมาย เพื่อให้เราทุกคนช่วยกันแก้ไขในสิ่งผิด รื้อฟื้นสิ่งที่ดีให้กลับคืนมาสู่สังคมไทย
Leave a Reply