สมเด็จพระวันรัตชี้บาลีจำเป็นต่อชีวิตพระ-เณร

สมเด็จพระวันรัตชี้บาลีจำเป็นต่อชีวิตพระ-เณร ผอ.หลักสูตรสันติศึกษาและวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ แนะคณะพุทธศาสตร์ ‘มจร’ เป็นความหวังในการพัฒนาพระสงฆ์ไทย มุ่งสู่การรับใช้สังคมโลกอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2562 ที่วัดไร่ขิง จ.นครปฐม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) ทรงมีพระบัญชาให้สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) เจ้าอาวาสวัด บวรนิเวศวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ เป็นประธานในพิธีทรงตั้งเปรียญธรรม (ป.ธ.) 3 ประโยค และมอบประกาศนียบัตรประโยค 1-2 ในเขตปกครองคณะสงฆ์หนกลาง จากนั้นสมเด็จพระวันรัต กล่าวให้โอวาทตอนหนึ่ง ว่า ขอแสดงความชื่นชม ยินดี ที่มีความอุตสาหะในการเล่าเรียน การศึกษาคณะสงฆ์อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้ตั้งใจเรียนเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้สมกับที่พระองค์มีพระราชศรัทธา

สมเด็จพระวันรัต กล่าวต่อไปว่า บาลีเป็นเรื่องจำเป็นต่อชีวิต อย่าคิดว่าไม่จำเป็น คิดว่า ไม่รู้จะเรียนไปทำอะไร เพราะการคิดแบบนั้น คือการพิจารณาไม่เห็นคุณ ไม่เอาปัญญาไปไตร่ตรอง จึงทำให้ไม่เห็นคุณ ไม่ได้นำปัญญามาคิด คำสอนทางพระพุทธศาสนามีการบันทึกเป็นภาษาบาลี ดังนั้น การเรียนภาษาบาลี จึงเป็นการเรียนเพื่อรักษา กาย วาจา ใจ ของเรา ไม่ให้ทำผิด ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนให้เราดูแลสิ่งที่ดี ให้ใช้ กาย วาจา ใจ ให้ถูก ซึ่งมีการบันทึกไว้เป็นภาษาบาลีเช่นกัน

ขณะเดียวกันระหว่างวันที่ 18-19 มิ.ย.2562 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผอ.หลักสูตรสันติศึกษาและวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ได้เป็นประธานคณะกรรมการตรวจประเมินคุณภาพภายในระดับหลักสูตรสาขาวิชาปรัชญาและสาขาวิชาศาสนา คณะพุทธศาสตร์ มจร พร้อมกันนี้วันที่ 20 มิ.ย.2562 พระมหาหรรษา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Hansa Dhammahaso ความว่า

#คณะพุทธศาสตร์
#ความหวังในการพัฒนาพระสงฆ์ไทย
#มุ่งสู่การรับใช้สังคมโลกอย่างยั่งยืน

ตามมุมมองส่วนตัวซึ่งอาจจะผิดหรือถูกก็ได้ เห็นว่า การออกแบบคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาฯ โดยเปิดทั้งสาขาพระพุทธศาสนา สาขาบาลีสันสกฤต สาขาศาสนา สาขาปรัชญา สาขาศาสนาเปรียบเทียบ สาขาพระไตรปิฎกศึกษา และสาขาวิปัสสนาภาวนา เจตนารมณ์เพื่อมุ่งพัฒนาคุณค่าภายใน แล้วนำคุณค่าที่ค้นพบออกไปทำงานรับใช้สังคมโลก แนวคิดนี้อาจจะสอดรับกับสิ่งที่พระเดชพระคุณสมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ พยายามกระตุ้นให้พระเณรเห็นคุณค่าของการเรียนภาษาบาลีว่า “การเรียนบาลีเป็นวิถีของพระเณร”

พูดให้ชัดๆ ก็คือ คณะพุทธศาสตร์ คือ คณะที่ทำหน้าหลักในการผลิต “ศาสนทายาท” ที่เป็นพุทธบริษัท เพื่อ (1) ทำหน้าที่สืบต่ออายุ และรักษาพระพุทธศาสนา (2) เที่ยวไปเชื่อมสมาน และอนุเคราะห์ชาวโลกให้เปี่ยมสันติสุข ฉะนั้น หากจะถามว่า คณะใดเป็นกระดูกสันหลัง (Backbone) ของมหาจุฬาฯ ตอบได้เลยว่า “คณะพุทธศาสตร์” จนมีคำกล่าวจากครูบาอาจารย์รุ่นปู่หลายท่านที่ย้ำว่า “ไม่มีคณะพุทธศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องมีมหาจุฬาฯ”

หน้าที่หลักของคณะพุทธศาสตร์ คือ หน้าที่ปั้น และผลิตศาสนทายาทให้เป็นพระธรรมทูต และที่สำคัญคือ การเป็นศาสนทายาท คือ การดำรงรงตนเป็นสมณะ ให้เชื่อมั่นในคุณค่าของความเป็นสมณะ อันเป็นการเรียนเพื่อบวชรักษาพระศาสนาในรูปแบบของพระสงฆ์ ในฐานะที่พระสงฆ์เป็นธงชัยสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจและนำพุทธบริษัทกลุ่มอื่นๆ เข้าถึงความจริงสูงสุด มิฉะนั้น พุทธองค์คงไม่จัดให้พระสงฆ์เป็นหนึ่งในแก้วสามประการ

คนตัดสินใจเรียนคณะพุทธศาสตร์ จึงมีแนวโน้มและมีความเป็นไปได้ที่จะดำรงตนเป็นสมณะเพื่ออยู่รับใช้พระพุทธศาสนาภายใต้สถานภาพของพระสงฆ์มากกว่าการตัดสินใจเรียนคณะอื่นๆ ที่ “อาจจะ” มีแรงจูงใจให้สึกหาลาเพศออกไปทำหน้าที่การงานในรูปแบบของฆราวาสมากกว่า ดังจะเห็นได้จาก “นิสิตบางท่าน” ขอร้องให้เปลี่ยนชื่อปริญญาจากพุทธศาสตรบัณฑิตไปสู่สาขาที่สอดรับกับวิถีโลก

สาขาต่างๆ ในขณะพุทธศาสตร์ แม้จะเรียนพระพุทธศาสนา แต่มหาวิทยาลัยมุ่งให้เรียนองค์ความรู้อื่นๆ ไปด้วย เพื่อจะทำให้เอื้อต่อการเข้าใจวิธีคิด หรือชุดความคิดของชาวโลก อันเป็นการบูรณาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่เพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม เป้าหมายสำคัญในการบูรณาการเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนเข้าใจศาสตร์อื่นๆ และสามารถชี้นำสังคม เช่นเดียวกับพุทธองค์ที่จบ 18 ศาสตร์

จากการที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะพุทธศาสตร์ ให้มาทำหน้าที่เป็นประธานในการประเมินสาขาศาสนา และปรัชญานั้น ทำให้พบสิ่งที่น่าสนใจว่า คณาจารย์ทั้งสองสาขานั้น ทุ่มเทแรงกายใจ และกำลังทรัพย์ในการพัฒนาสาขาที่ตัวเองรับผิดชอบ แต่คำถามที่ผุดขึ้นใน 10 ปีหลังก็คือ จำนวนนิสิตไทยที่ตัดสินใจเลือกเข้ามาศึกษาสองสาขามีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับสาขาอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย ถ้ามุมมองในเชิงการตลาดอาจจะมีคำถามตามมาหลายประเด็น

ในความเห็นส่วนตัว ถ้าเรามุ่งจะออกแบบให้สาขาศาสนาปรัชญา รวมถึงสาขาอื่นๆ ของคณะพุทธศาสตร์ทำหน้าที่ในการปั้น และผลิตศาสนาทายาท เพื่อให้อยู่ทำหน้าที่รักษาและเผยแผ่ศาสนา นิสิตที่มีอยู่ และเลือกที่จะเรียนสาขาเหล่านี้ คือ ทรัพยากรบุคคลที่ทรงค่าของพระพุทธศาสนา จำนวนน้อยนั่นเอง จะทำให้ครูบาอาจารย์สามารถเติมเต็มทั้งความรู้และความรักได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม ผลที่จะตามมาคือคุณภาพของศาสนทายาทที่ทรงค่า ผู้จะแปลงร่างเป็นพระธรรมทูตออกไปทำงานรับใช้พระพุทธศาสนาในสถานะของพระสงฆ์

จะเห็นได้ว่า ทุกครั้งที่สัมภาษณ์นิสิตที่เป็นพระเพื่อประกอบการประเมิน คำตอบที่ได้รับคือ “ผมรู้สึกถึงความภาคภูมิใจที่ได้ตัดสินใจเลือกเรียนสาขานี้ เพราะจะทำผมสามารถนำองค์ความรู้ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ” เหล่านี้ คือ สิ่งที่สะท้อนความรู้สึกของผู้เรียน ผ่านอาจาระ และท่าทีของการสำรวมระมัดระวังในวิถีของสมณะ ที่สังเกตได้ตลอดการพูดคุย เหตุผลเพราะเครื่องมือในการเรียนรู้ และหล่อหลอมของนิสิตคณะพุทธศาสตร์ คือ การหล่อหลอมให้ดำรงตนเป็นสมณะที่ดี และเป็นหลักชัยในการเผยแผ่ศาสนา

สำหรับความคิดส่วนตนที่เฝ้าคิดตามประสาพระเด็กๆ มาตั้งแต่เรียนปริญญาตรี สาขาปรัชญา ในปี 2536 มีคำถามเสมอว่า เราเรียนพระพุทธศาสนา เพราะมุ่งพัดพาตัวเองให้เข้าถึงความจริงสูงสุด ทำไม!! เราต้องเสียเงิน เราเอาเงินมาแลกการเข้าถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนกระนั้นหรือ?? เพราะเหตุใด? วัดวาอาราม และองค์กรพระพุทธศาสนา จึงไม่ระดมสรรพกำลังทุ่มเทงบประมาณมาผนึกกำลังปั้นศาสนทายาท ตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก

ความคิดตอนเป็นพระเด็กๆ เหล่านั้น ได้ถูกถอดสลัก เมื่อคณะพุทธศาสตร์ในยุคปัจจุบันได้เร่งหาทุนจำนวนมากมาสนับสนุนและส่งเสริมนิสิตภายในคณะ ตัวแปรสำคัญก็คือมุ่งพัฒนาศักยภาพของศาสนทายาทเพื่อออกไปเป็นพระธรรมทูตที่ดีในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่สังคมโลก ที่เฝ้ารอพระสงฆ์เหล่านี้ แต่คำถามที่คนทั่วไป รวมถึงคณาจารย์มักจะถามอยู่เนืองๆ คือ เพราะเหตุใด? ทั้งที่ให้ทุนศึกษาตลอดหลักสูตร จำนวนผู้เรียนจึงมีจำนวนน้อยมาก บางท่านเปรยขึ้นว่า หรือว่าพระเณรเราไม่ประสงค์ หรือขาดแรงจูงใจที่จะเป็นศาสนทายาทรักษาพระพุทธศาสนาให้ยาวนานต่อไป

เหล่านี้ คือ สิ่งที่ตัวเองในฐานะประธานของการประเมิน รวมทั้งท่านมหาสมพงษ์ (คุณากโร รองผู้อำนวยการวิทยาลัย พุทธศาสตร์นานาชาติ มจร) อาจารย์กิตติศักดิ์ ที่เป็นกรรมการได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ทั้งจุดแข็ง ปัญหา อุปสรรค โอกาส และภัยคุกคามกับอาจารย์ประจำหลักสูตรทั้ง ทั้งสาขาศาสนาและปรัชญา ทุกท่านมีความห่วงใยต่อสถานการณ์เหล่านี้อย่างเห็นได้ชัด แต่ลำพังความห่วงใย อาจไม่เพียงพอต่อการปั้นศาสนาทายาทเพื่อประกาศพุทธธรรมทั้งในระยะใกล้และระยะไกล

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น การจะพัฒนายุทธศาสตร์เพื่อกระตุ้นประเด็นเหล่านี้ อาจจะไม่ใช่เพียงแค่กรรมการ หรืออาจารย์ประจำหลักสูตรเท่านั้น หากแต่ขยายวงไปสู่คณะ มหาวิทยาลัย และหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ได้ร่วมกันศึกษาวิเคราะห์อย่างรอบด้าน เพื่อจะได้ออกแบบรูปแบบและแนวทางในการกระตุ้นผู้เรียนให้เกิดความสนใจเข้ารับการศึกษาและพัฒนา โดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาศาสนทายาทให้มีศักยภาพ ทั้งความรู้ด้านพระพุทธศาสนา ภาษา ปรัชญา วัฒนธรรม และรู้จักใช้เครื่องมือในการเผยแผ่อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

Leave a Reply