ปลัด มท. ลงยะลา เปิดฝึกอบรมวิทยากรผู้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น เน้นย้ำ ทำหน้าที่ทหารเสือของพระราชาร่วมสืบสาน รักษา และต่อยอด Change for Good

วันนี้ (8 พ.ค. 67) เวลา 08.00 น. ที่หอประชุมปาล์ม 2559 ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนยะลา ถ.สุขยางค์ ต.สะเตง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการศึกษาอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นที่ 17 โดยได้รับเกียรติจากนายกองเอก ธารณา คชเสนี (ครูป๊อด) นายหมวดตรี น้ำเพ็ชร คชเสนี สัตยารักษ์ (ครูปั๊ม) ดร.ลักษิกา เจริญศรี (ครูป้ายู) ร่วมเป็นวิทยากร โอกาสนี้ นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล นายอำนาจ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายเกียรติศักดิ์ มณีรัตน์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดยะลา พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ร้อยตรี สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ นางธนพร ไฝพรม ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนยะลา และผู้เข้ารับการศึกษาอบรมจากจังหวัด 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยะลา ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี และนราธิวาส รวม 91 คน ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและดีใจอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นที่ 17 นับเป็นโอกาสที่ดีที่ได้มาพบปะกับทุกท่านผู้เป็นทหารเสือของพระราชา ที่เราเรียก “ทหารเสือของพระราชา” เพราะสิ่งที่พวกเรากำลังเสียสละการใช้ชีวิตตามปกติเพื่อมาใช้ชีวิตร่วมกันที่ศูนย์ศึกษาพัฒนาชุมชน เป็นเวลา 5 วัน 4 คืน เพื่อมาร่วมกันทำสิ่งที่เป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่อยากเห็นคนไทยช่วยกัน “สืบสาน รักษา และต่อยอด” พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการทำให้คนในสังคมมีการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อันเป็นรากฐานสำคัญยิ่งที่จะทำให้คนในชาติมีความรักความสามัคคี มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และไม่ลืมบุญคุณของบรรพบุรุษและบ้านเกิดเมืองนอน ที่เสียสละชีวิตทำให้เรามีแผ่นดินที่สวยงามและมีความอุดมสมบูรณ์ ที่ทั่วโลกเรียกว่า “สุวรรณภูมิ” หรือ “สยาม” ซึ่งสิ่งที่มีเหล่านี้ล้วนมาจากบรรพบุรุษของเรา และเราทุกคนโชคดีที่มีพ่อแม่คอยเลี้ยงดูเอาใจใส่ ทั้งอาหารการกิน ทั้งการศึกษาต่าง ๆ อีกมากมาย ดังนั้น บุพการีของเราทุกท่านให้มากกว่าที่สิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้จะให้ได้ เกิดมาจากจิตใจที่เมตตากรุณา มีความรักความเอ็นดูต่อลูกหลาน ซึ่งเราได้เรียนรู้มาจากการถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่น ทำให้เรารู้จักรักครอบครัว สำนึกในบุญคุณ เช่นเดียวกันกับการบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่จะสอนให้เรารู้จักความกตัญญูกตเวทีอันเป็นเครื่องหมายของคนดี ทำให้คนในสังคมได้รู้จักและมีความรักในความเป็นชาติ

“สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชดำรัสต่อมหาสมาคม เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ที่สะท้อนถึงความสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย ความตอนหนึ่งว่า “เพราะเราจะพูดถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ที่บรรพบุรุษของเราสละชีวิตมาเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินมาด้วยเลือดเนื้อ ด้วยชีวิต แต่เสียดาย …ไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์แล้วนะ…ตอนที่ฉันเรียนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีประวัติศาสตร์อะไรเท่าไหร่ แต่เราก็ต้องเรียนประวัติศาสตร์ของสวิส แต่เมืองไทยนี่ บรรพบุรุษเลือดทาแผ่นดิน กว่าจะมาถึงที่ให้พวกเราอยู่ นั่งอยู่กันสบาย มีประเทศชาติ เรากลับไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์…อย่างที่อเมริกาถามไปเขาก็สอนประวัติศาสตร์บ้านเมืองเขา ที่ไหนประเทศไหน เขาก็สอน แต่ประเทศไทยไม่มี ไม่ทราบว่าแผ่นดินนี้ รอดไปอยู่จนบัดนี้เพราะใคร หรือว่ายังไงกัน อันนี้น่าตกใจ ชาวต่างประเทศยังไม่ค่อยทราบว่า นักเรียนไทยไม่มีการสอนประวัติศาสตร์ชาติเลย” ซึ่งพระราชดำรัสองค์นี้ สะท้อนให้เห็นว่า พระองค์ทรงตระหนักและให้ความสำคัญอันเป็นรากฐานของชาติ ซึ่งการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยทำให้พวกเราได้รู้จักความเป็นมาของบ้านเกิดเมืองนอน เกิดความรักชาติที่จะมีผลต่อความมั่นคงของชาติ รู้จักลุกขึ้นมาช่วยกันแก้ไขและพัฒนาให้บ้านเมืองของเราดีขึ้นและตกทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน โดยไม่เป็นเมืองขึ้นของชนชาติอื่น” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อไปอีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมุ่งมั่นในการสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเฉพาะในเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งพระองค์ทรงพระราชทานพระราชดำรัสขยายความคำว่า “ประวัติศาสตร์” พระราชทานแก่เยาวชนโครงการค่ายผู้นำเยาวชนจิตอาสา หลักสูตรการฝึกปฏิบัติและดูงานเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ รุ่นที่ 1 ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ประเทศชาติก็คือบ้าน แบ่งเป็นพื้นที่ต่าง ๆ สังคมต่าง ๆ ก็ลงมาอยู่ที่พื้นฐานก็คือครอบครัวและลงมาอยู่ที่ตนเอง บ้านเมืองของเรา ประเทศของเรา หรือบ้านหรือครอบครัวของเราเนี่ย จะมีความสุขปลอดภัย น่าอยู่ สบาย มันก็ขึ้นกับคนรุ่นเราในอนาคต…แต่ที่สำคัญ คือ เราต้องเอาบทเรียนมาใช้…เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ เพราะเราคืออนาคต ประวัติศาสตร์มาปัจจุบัน ปัจจุบันก็คืออนาคต ปัจจุบันถือไมโครโฟน พอวางลงก็เป็นอดีต เมื่อเราจับไมโครโฟนมาใหม่ก็เป็นปัจจุบัน…ถ้าเราอยากเรียนลัด ก็ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาให้มาก ว่าสมัยก่อนมันเป็นอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้มันเป็นอย่างนั้น แล้วปัจจุบันเราจะทำอย่างไรให้เรามีความรู้ มีร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่จะรักษาประเทศชาติบ้านเมือง อย่างน้อยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เป็นกำลังใจให้…”

“พระราชดำรัสองค์สำคัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่กล่าวถึงวิชาประวัติศาสตร์นั้น สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญอย่างน้อยด้วยกัน 3 ประการ ประการที่ 1 คือแสดงถึงพระราชหฤทัยแน่วแน่ของพระองค์ ดังพระปฐมบรมราชโองการ ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ด้วยการที่พระองค์ท่านทรงสืบสานและรักษาพระราชปณิธานของพระราชเสาวนีย์ ด้วยการเชิญชวนให้พวกเราศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทย ประการที่ 2 ทรงต่อยอดประวัติศาสตร์ ที่นอกเหนือจากการทำให้คนได้รู้จักความรักชาติแล้ว ยังได้รู้จักประยุกต์ใช้ในการพัฒนา “Change for Good” ทำสิ่งที่ดี ทั้งการรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามให้คงอยู่ รู้จักช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และประการที่ 3 คือ การเชิญชวนให้ทุกคนมาเป็นจิตอาสา ไม่ใช่เพียงแค่การสวมหมวกใส่ผ้าพันคอ แต่ช่วยกันแก้ไขในสิ่งผิด ดังที่ทรงพระราชทานพระราชดำรัสที่ขยายความพระปฐมบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 63 ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งทั้งสองสิ่งเป็นเรื่องเดียวกัน และจะเกิดขึ้นได้ด้วยการช่วยกัน “แก้ไขในสิ่งผิด” จากที่ในอดีตเคยดีอยู่แล้วให้กลับมาดีเหมือนเดิม ทำให้คนในสังคมมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจไมตรี ช่วยกันทำสิ่งที่ดีโดยหวังค่าตอบแทน พระองค์จึงได้พระราชทานโครงการจิตอาสาพระราชทาน โรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน (904) ทั้งได้พระราชทานเครื่องแบบและเครื่องหมายซึ่งเป็นเพียงสัญลักษณ์ให้พวกเรา แต่เป้าหมายสูงสุดคือทุกคนเป็นจิตอาสาได้ เพราะจิตอาสาอยู่ที่ “DNA” ไม่ใช่เครื่องแบบ เพื่อให้เราทุกคนช่วยกันแก้ไขในสิ่งผิด รื้อฟื้นสิ่งที่ดีให้กลับคืนมาสู่สังคมไทย ดังหลักอริยสัจ 4 เพื่อหาหนทางการดับทุกข์ เช่นเดียวกับเรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่จะทำให้ทุกคนในที่นี้ได้มาเรียนรู้ และทำหน้าที่เป็นครูจิตอาสา นำไปบอกเล่าถ่ายทอดให้กับเยาวชนลูกหลานและคนในสังคม” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทย ได้ขับเคลื่อนการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยตามบันทึกความร่วมมือ “แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย” นำโดย ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษาฯ และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้กำหนดให้สถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินหลักสูตรการเรียนการสอนวิชา ประวัติศาสตร์ชาติไทย หน้าที่พลเมือง ศีลธรรมและจริยธรรม โดยการลดเวลาเรียนสร้างเวลารู้ สัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 1 ชม. รวมถึงการดำเนินโครงการฝึกอบรมผู้บอกเล่าถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยได้รับการสนับสนุนวิทยากรครู 3 ป. จากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.จอส.พระราชทาน) มาฝึกอบรมครูจิตอาสาทั่วประเทศ โดยได้รับเกียรติจาก ศอญ สนับสนุนคุณครู 3 ป. มาเป็นวิทยากรให้กับหลักสูตรของพวกเรา เพื่อสร้างครูผู้ถ่ายทอดบอกเล่าเรื่องราว เกิด “ครู ก” ไปขยายผลสร้าง “ครู ข” เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้กับพวกเรา ในการสนองแนวพระราชปณิธาน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อทำให้คนในชาติเกิดความรักความสามัคคี มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

“ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอจึงต้องช่วยกันผลักดันและขับเคลื่อน โดยเรียนเชิญครูจิตอาสาให้มีส่วนร่วม ทั้งในการประชุมต่างๆ ของ จังหวัด อำเภอ โดยใช้กลไกในระดับพื้นที่ของกระทรวงมหาดไทยรวมถึงใช้ช่องทางต่าง ๆ ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ถ่ายทอดวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย ทั้งกิจกรรมของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน งานกิจกรรมของโรงเรียนหรือชุมชน การใช้ช่องทางเรือนจำทัณฑสถาน รวมถึงวิทยุหอกระจายข่าวชุมชน ซึ่งเราสามารถบันทึกการบอกเล่าเพื่อไปเผยแพร่ให้กับคนในสังคมได้ในทุกช่องทาง ซึ่งอาจเริ่มจากแนวทางการเผยแพร่ดังที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้คือถ่ายทอดให้กับผู้ที่เป็นบัวพ้นน้ำ ที่มีพื้นฐานความรู้ และสามารถเข้าใจได้ในสิ่งที่เรากำลังที่เราทำ ซึ่งทั้งหมดมีเป้าหมายสูงสุดคือการสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ช่วยกันแบ่งเบาพระราชภาระด้วยการแก้ไขในสิ่งที่ผิด มุ่งมั่นสืบสานพระราชปณิธานทำให้ประเทศชาติมั่นคงประชาชนมีความสุข จึงเป็นที่มาของคำว่า “ทหารเสือของพระราชา” ดังนั้น ขอให้พวกเราทุกคนที่เข้าร่วมการอบรมในวันนี้ ช่วยกันทำวันนี้ให้ดีที่สุด ช่วยกันทำให้สังคมในวันนี้และวันหน้าได้ดีขึ้น ขอฝากความหวังไว้ที่ทุกท่าน ทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส ที่มาเข้ารับการอบรม ได้ช่วยกันแก้ไขในสิ่งผิด ทำให้บ้านเมืองมีความมั่นคง ประชาชนมีความสุขร่วมกัน ขอให้ทุกท่านมีร่างกายและจิตใจที่เข้มแข็ง เพื่อไปทำหน้าที่ทหารเสือของพระราชา ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยให้คนในสังคมได้รับรู้ เกิดความรักชาติรักแผ่นดิน มีความกตัญญูกตเวที และร่วมกันทำสิ่งที่ดีงามให้เกิดขึ้นกับครอบครัว ชุมชน อำเภอ ตำบล หมู่บ้านของพวกเรา ร่วมกันทำหน้าที่ ครูจิตอาสาและทหารเสือของพระราชา ผู้เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติไปด้วยกัน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

Leave a Reply