“ประโยค 9” อธิบายความหมายคำว่า “พอเพียง” แยกชัดพอเพียงฉบับ “พระภิกษุ-คฤหัสถ์”

วันที่ 8 พ.ค. 67 เฟชบุ๊ค Wattana Paññādīpo Khamken ซึ่งเป็นของ “พระมหาวัฒนา ปญฺญาทีโป ปธ.9” อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ได้อธิบายความหมายของคำว่า “พอเพียง” ในทัศนะพระพุทธศาสนาดังมีความต่อไปนี้
พอเพียง มาจาก สมชีวิตา ความมีชีวิตสม่ำเสมอ หมายถึงรู้จักประมาณในการใช้ชีวิตให้พอเหมาะพอสมโดยใช้ปัญญาเข้ามาดำเนินการพิจารณาถึงเหตุผล คุณค่าแท้คุณค่าเทียม
สมชีวิตา เป็นธรรมขั้นสูงในกลุ่มชุดฆราวาสธรรม 4 คือ

1. อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียรในการแสวงหาทรัพย์
2. อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการจัดการดูแลรักษาทรัพย์ที่หามาได้ให้คงอยู่ พอกพูนและเป็นประโยชน์
3. กัลยาณมิตตา คบมิตรที่ดี หรือคบเพื่อนดี อันจะนำไปสู่ความเจริญในชีวิต คือมิตรที่มีความเชี่ยวชาญทางโลกธุรกิจและมีคุณธรรมศีลธรรม จิตใจดีงาม
4. สมชีวิตา ความรู้จักใช้จ่ายทรัพย์ ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา ไม่ฟุ่มเฟือย พอเหมาะสมแก่ฐานะ สถานทางสังคม

ธรรมข้อสุดท้าย จะครอบคลุมเรื่องราวทั้งหมด ถ้าหาก 3 ข้อแรกทำได้ดี แต่ข้อสุดท้ายล้มเหลว ย่อมเท่ากับความพยายามทั้ง 3 ในมุมของนักบวช ธรรมข้อนี้ จะเทียบกับความสันโดษยินดีปัจจัยที่มี ซึ่งความสันโดษมีหลายรูปแบบ โดยสรุปมี 3 คือ

1) ยถาลาภสันโดษ ยินดีของตามที่ได้มา มื่อได้สิ่งใดมาก็ยินดีสิ่งนั้น ไม่อยากได้สิ่งอื่น เป็นการควบคุมกิเลสโลภะไม่ให้เติบโต
2) ยถาพลสันโดษ ยินดีตามกำลังของตน ตามสภาพของตน เช่นบิณฑบาตได้อาหารมา มีจำพวกอาหารที่มีไขมัน กับอาหารไม่มีไขมัน เมื่อพิจารณาร่างกายตน ว่าอ้วนเป็นโรคความดัน แม้จะชอบอาหารที่มีไขมันก็ตาม ก็ยอมสละอาหารที่มีไขมันให้พระรูปอื่น ตนเองฉันอาหารไม่มีไขมัน เพื่อเหมาะแก่ร่างกาย การพิจารณาแบบนี้ใช้ปัญญาเข้ามาจัดการไม่ตกเป็นทาสตัณหา เรียกว่า สันโดษตามกำลังตน
3) ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีตามสภาพที่เหมาะสมแก่ตน เช่น เมื่อได้ทุเรียนหมอนทอง กับทุเรียนชะนีมา พิจารณาว่าตนเป็นพระนวกะ ควรกับของดีมีราคาพอประมาณ ส่วนพระอาจารย์มหาเถระทั้งหลายในวัด เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมสอนธรรม มีอุปการะมากแก่พุทธบริษัท ควรแก่ทุเรียนหมอนทอง จึงนำไปถวายแก่ท่าน ตนบริโภคทุเรียนชะนี การพิจารณาแบบนี้ เป็นการพิจารณาถึงความเหมาะสม แก่สถานภาพของตนและลดหารบริโภคที่จะก่อให้เกิดกิดกิเลสตัณหา เป็นความสันโดษตามสมควรแก่รูปภาวะแห่งตน พระพุทธเจ้าสรรเสริญ ยถาสารุปปสันโดษ กว่าความสันโดษทั้งปวง

สรุป ความพอเพียง สมชีวิตา เป็นฆราวาสธรรม ที่มุ่งกำจัดกิเลสตัณหา ทะยานอยาก ไม่ให้มีอำนาจควบคุมชีวิตมากเกินไป อันจะนำทุกข์มาสู่ตนและครอบครัว ใครเข้าใจ สมชีวิตา ใช้ชีวิตสมดุลย์ จะดำเนินชีวิตอย่างราบรื่น มุ่งไปทางธรรม

ในขณะที่ พระสงฆ์ เป็นความสันโดษ ยินดีพอใจในปัจจัยสี่ จะครอบคลุมทั้ง ในการแสวงหา การได้มา การใช้สอยบริโภค ไม่ล่วงสีลปาติโมกข์ เป็นอาชีวปริสุทธศีล และปัจจยสันนิสิตศีล ถ้าเข้าใจข้อนี้จะมุ่งสู่ความหลุดพ้นได้..

Leave a Reply