“สถาบันโบราณศิลป์”ถือว่าเป็นอีกองค์กรที่เป็นมาตรฐานของวงการพระเครื่อง ซึ่งเดิมทีนั้นเคยมีสถานที่การสำนักงานอยู่ที่อาคารฐานเศรษฐกิจ ถ.วิภาวดี ด้วยขณะนั้น นายอรรถภูมิ บุณยเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันโบราณศิลป์ ได้ร่วมมือกันกับนายสมศักดิ์ ศรีวุฒิชาญ อดีตประธานฐานเศรษฐกิจผู้ล่วงลับ ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก่อตั้งสถาบันโบราณศิลป์ขึ้น และได้ดำเนินการมาหลายปีจนกระทั่ง นายสมศักดิ์ ถึงแก่กรรม งานดังกล่าวจึงหยุดชะงักลง
ต่อมานายอรรถภูมิ ผู้ซึ่งริเริ่มก่อตั้งสถาบันโบราณศิลป์มาตั้งแต่ปลาย พ.ศ.2537 โดยชื่อ “สถาบันโบราณศิลป์” ได้รับการเสนอในที่ประชุมนักวิชาการและผู้ชำนาญการ ณ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มีผู้เสนอชื่อ คือ รศ.ดร.พัฒน์ น้อยแสงศรี ซึ่งเป็นที่ปรึกษาวิชาการท่านสำคัญท่านหนึ่ง
การดำเนินกิจการของสถาบันโบราณศิลป์ ทั้งก่อนหน้าอาคารฐานเศรษฐกิจ และ ณ อาคารฐานเศรษฐกิจ นายอรรถภูมิ รับบทบาทเป็นผู้อำนวยการสถาบันโบราณศิลป์ แม้เมื่อย้ายจากอาคารฐานเศรษฐกิจ นายอรรถภูมิ ก็ได้มาดำเนินการต่อ ณ ถนนพระราม แยก… 5 ต.บางสีทอง อ.บางกวย จ.นนทบุรี
หอพระโบราณศิลป์ มีส่วนจัดแสดง 4 ส่วนหลักๆ คือ 1. ห้องฤาษีทุกตน และ เทพตามคติความเชื่อของคนไทย ซึ่งจะอยู่ชั้นล่างสุด 2.ห้องสมุดหนังสือพระเครื่องและเครื่องรางจากทุกสำนักพิมพ์ ซึ่งจะอยู่ชั้น 2
3.ห้องจัดแสดงพระเครื่อง เหรียญพระพุทธ เหรียญพระคณาจารย์ รวมทั้งเครื่องราง ของขลัง ซึ่งจะอยู่ชั้น 2 และ 4.ห้องจัดแสดงพระบูชา ทุกศิลปะ จากทุกยุคทุกสมัย ซึ่งจะอยู่ชั้น 3
“หอพระโบราณศิลป์จะมีความพิเศษกว่าศูนย์พระอื่นๆ คือ มีทั้งหนังสือพระเครื่องให้อ่าน มีพระเครื่องพระบูชาให้ดูองค์จริง จะมีห้องสมุดที่รวบรวมเกี่ยวกับหนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับพระเครื่องทุกชนิด ทั้งที่เป็นหนังสือที่พิมพ์โดยหน่วยงานราชการ หนังสือที่แจกในงานศพ
หนังสือที่พิมพ์โดยเซียนพระตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หนังสือเหล่านี้อาจจะหาอ่านได้ที่หอสมุดแห่ง แต่เข้าใจว่าไม่ได้รวมเป็นหมวดหมู่ จัดเป็นมุมเฉพาะหนังสือพระเครื่องเท่านั้น” นี้คือแนวความคิดของนายอถรรภูมิ
พร้อมกันนี้ นายอรรถภูมิ ยังบอด้วยว่า ที่ผ่านมายังไม่มีสถาบัน องค์กร และ หน่วยงานใดทำห้องสมุดหนังสือพระเครื่องโดยเฉพาะ หนังสือที่นี่ไม่จำกัดค่าย ไม่จำกัดผู้พิมพ์ แม้แต่หนังสือที่เรียกว่าพระปลอมทั้งเล่มก็มีให้อ่าน
ทั้งนี้เซียนพระจำนวนไม่น้อยคิดว่า หนังสือพระปลอมไม่ควรอ่านเป็นอย่างยิ่ง แต่ในมุมองตัวเองกลับมองว่า หนังสือทุกประเภทล้วนให้ความรู้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้อ่านจะไปประยุกต์ใช้อย่างไรเท่านั้น กรณีหนังสือพระปลอมเราอ่านเพื่อที่จะรู้ว่าวงการพระปลอมนั้นเขาเล่นกันอย่างไร
“3,000-5,000 เล่ม” เป็นตัวเลขหนังสือพระเครื่องและนิตยสารพระเครื่องที่นำมาจัดแสดงในห้องสมุด ซึ่งปกติแล้วหนังสือเหล่านี้เป็นของสะสมของคนวงการพระเครื่อง และที่สำคัญคือเป็นที่หวงแหนมาก เพราะเป็นหนังสือที่มีคุณค่าราคา ผู้ที่มาใช้ห้อสมุดสามารถเปิดอ่านได้ทุกเล่ม แต่ห้ามยืมออกจากห้อสมุดเด็ดขาด เว้นแต่ให้ถ่ายเอกสารออกไปได้เท่านั้น
ส่วนนิตยสารพระเครื่องในห้องสมุดนั้น จะมีทุกชนิดที่คนรุ่นปัจจุบันเกิดไม่ทัน เช่น นิตยสารอาณาจักรพระเครื่อง ของ ปรีชา เอี่ยมธรรม หรือ อ.เปี๊ยก ปริทัศน์พระเครื่อง จักรวาลพระเครื่อง หนังสือเปิดโลกพระเครื่อง ของ อ.สุธน ศรีลานธรรม อมตะพระกรุ เล่มแรก ของ หรือ ต้อยเมืองนนท์ หนังสือจอมสุรางค์ ของ สเถียร สเถียรสุต ของ บอย ท่าพระจันทร์ หนังสือพระพุทธชินราช ของ นุ เพชรรัตน์ เป็นต้น
ปกติแล้วหนังสือพระเครื่องเหล่านี้ โอกาสที่คนปกติทั่วไปจะหาอ่านทั้งเล่มได้ยาก นอกจากเป็นของหายาก มีน้อย ที่สำคัญ คือ เจ้าของหวงแหนไม่ต่างจากพระเครื่ององค์หนึ่ง ในฐานะที่ ส.โบราณศิลป์ เป็นองค์กรพระเครื่ององค์กรหนึ่งที่มีหน้าที่ให้ความรู้เรื่องพระเครื่อง จึงนำหนังสือพระเครื่องที่ขึ้นชื่อว่าสุดยอดมาให้อ่าน ท่านสามารถถ่ายเอกสารเก็บไว้อ่านทุกเล่ม แต่ไม่อนุญาตให้ยืมออกไป เพราะผมก็หวงและรักหนังสือเหล่านี้เหมือนกัน
นายอรรถภูมิ แนะนำด้วยว่า “ผมอยากให้นักสะสมพระเครื่องทุกท่านใช้วิจารณญาณและต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ อย่าฝากความหวังไว้กับบรรดาเซียนทั้งหลาย รวมทั้งตัวผมด้วย เพราะตราบใดที่เรายังไม่มีความรู้มากพอที่จะตัดสินได้ด้วยตนเอง มันก็คล้ายกับการยืมจมูกผู้อื่นหายใจ คงมีบ้างที่เรามิอาจรู้ได้ว่า กำลังหายใจเอาสิ่งปนเปื้อน หรือสิ่งมีพิษเข้าไป
เพราะฉะนั้นจงใช้สายตาในการพิจารณา จงใช้สติปัญญาในการไตร่ตรอง จงใช้วิจารณญาณในการวินิจฉัย พระจะเก๊แท้ คนเท่านั้นที่เป็นผู้ประกาศิต องค์พระท่านไม่เกี่ยวข้องด้วยหรอกครับ พระเก๊ไม่มีหรอก เพราะทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นรูปพุทธปฏิมา ควรค่าแก่การเคารพบูชาทั้งสิ้น”
หอพระโบราณศิลป์ เปิดต้อนรับผู้สนใจพระเครื่องทุกระดับ ตั้งอยู่ อาคารนำโชคทวี แยกบางสีทอง ถนนพระราม 5 ต.บางสีทอง อ.บางกวย จ.นนทบุรี เปิดให้บริการตั้งแต่ 11.00 – 20.00 น. หยุดทุกวันพุทธ โทร.02-550-6438 และ 089-242-8999
ติดตามกิจกรรมของ “หอพระโบราณศิลป์” ได้ที่….https://www.facebook.com/1619705581617589/
Leave a Reply