ปาฏิหาริย์พระหลวงปู่ทวด ที่ว่า “แขวนพระหลวงปู่ทวดแล้วไม่ตายโหง” เป็นความเชื่อของคนในวงการพระเครื่องและคนที่ห้อยพระหลวงปู่ทวด และคติความเชื่อนี้เองทำให้มีการสร้างหลวงปู่ทวดออกมาจำนวนมาก จนมีคำพูดในวงการสร้างพระเครื่องว่า “สร้างพระหลวงปู่ทวดอย่างไรก็ขายได้และไม่ขาดทุน”
ไม่น่าเชื่อว่าพระหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ ซึ่งสร้างโดยพระครูวิสัยโสภณ (พระอาจารย์ทิม ธมมธโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อ พ.ศ.2497 หรือเมื่อ 65 ปีที่แล้ว จะโด่งดังสูงล้ำด้วยค่านิยม ชนิดไล่หลังพระสมเด็จวัดระฆังเลยทีเดียว ทุกวันนี้กลับกลายเป็นค่านิยมที่มีการแสวงหากันทั่วประเทศ
การสร้างพระหลวงปู่ทวด เมื่อ พ.ศ.2497 พระอาจารย์ทิม ได้สร้างพระพิมพ์จากนิมิต รูปพระภิกษุชราองค์ดำ ที่มีวัยประมาณ 90 ปีตามนิมิต มีรูปกายสันทัด ผิวคล้ำ หน้าเข้มคมแบบคนพื้นทางใต้ แฝงไปด้วยตบะเดชะและอำนาจ และความเมตตา จึงเป็นที่มีของการแกะแม่พิมพ์ด้วยครั่ง
เพื่อนำมาพิมพ์พระที่สร้างขึ้นจากเนื้อว่าน 108 ชนิด ผสมด้วยดินกากยายักษ์ โรยหลังด้วยแร่ ภายใต้การอนุเคราะห์ของคหบดีชาวปัตตานี คือ คุณอนันต์ คณานุรักษ์ ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์วัดช้างให้เรื่อยมา
ทั้งนี้ พระอาจารย์ทิมได้สร้างเพื่อมอบเป็นที่ระลึกให้ผู้ร่วมทำบุญในการสร้างอุโบสถ วัดช้างให้ในขณะนั้น ซึ่งมิได้มีการกะเกณฑ์มูลค่า จะทำบุญ 10 บาท 20 บาท ก็หยิบเอาไปได้ตามชอบใจ โดยได้สร้างตามกำหนดฤกษ์ที่หลวงปู่ทวดลงประทับแล้วกำหนดไว้ให้ ตามกำหนดเวลาฤกษ์สร้างพระเนื้อว่านได้ 64,000 องค์ ซึ่งตามความตั้งใจจะสร้างให้ได้ 84,000 องค์ แต่หมดเวลาฤกษ์เสียก่อน
พระเครื่องหลวงปู่ทวดเนื้อว่านรุ่นแรก ปี 2497 มีจำนวนแม่พิมพ์ 16 แม่พิมพ์ แบ่งเป็น 3 ขนาด คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลางและพิมพ์เล็ก
กระแสความนิยมประหลวงปู่ทวดเกิดขึ้นคล้อยหลังจาก พ.ศ. 2497 มาประมาณ 3-4 ปี เกิดขึ้นเมื่อนางเอกดังในขณะนั้น
ปัจจุบันคือดาราอาวุโสรุ่นใหญ่ คุณรัตนาภรณ์ อินทรกำแหง ห้อยหลวงปู่ทวดแล้วประสบอุบัติเหตุ จนเป็นที่อัศจรรย์ว่ามิได้รับการบาดเจ็บแม้แต่น้อย ทั้งที่สภาพอุบัติเหตุควรจะต้องมีการบาดเจ็บล้มตายกันขึ้น
หนังสือพิมพ์ลงข่าวหน้าหนึ่งถึงปาฏิหาริย์ของหลวงปู่ทวด กระแสนิยมตั้งแต่ท้องถิ่นภาคใต้อย่างรวดเร็ว และยิ่งเลื่องลือกระฉ่อนขจรขจาย
จนทำให้บรรดาคนในวงการบันเทิงขณะนั้นไม่ว่าจะเป็น มิตร ไชยบัญชา ผู้ล่วงลับ อีกทั้งนักร้องนักแสดงมากมายต่างมุ่งหน้าสู่วัดช้างให้ เช่นเดียวกับคนในแวดวงอื่นๆ
ในครั้งนั้นกลายเป็นค่านิยมว่า หากเดินทางไปภาคใต้ถึงจังหวัดปัตตานี ต้องตรงไปที่วัดช้างให้เพื่อร่วมทำบุญบูชาพระหลวงปู่ทวด ทั้งเพื่อตนเองและนำมาฝากญาติมิตรลูกหลาน จนกระทั่งพระหลวงปู่ทวดกระจายไปทั่วประเทศ
ยิ่งนับวันยิ่งเกิดประสบการณ์มากมาย ล้วนแล้วแต่แคล้วคลาดปลอดภัยจากภัยอันตรายร้ายแรงอย่างน่าอัศจรรย์ เช่นเดียวกับกระแสความนิยมจตุคามรามเทพเมื่อหลายปีก่อน ช่วง พ.ศ. 2500 – 2505 ใครที่ไป จ.นครศรีธรรมราช ก็จะไปวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เพื่อเช่าจตุคามรามเทพเป็นของฝาก
เรื่องราวของหลวงปู่ทวดเป็นเรื่องเล่าไม่รู้จักจบสิ้น โดยเฉพาะประสบการณ์ปาฏิหาริย์ จนก่อให้เกิดกระแสความเชื่อว่า แม้พระหลวงปู่ทวดที่สร้างจากวัดอื่นหรือพระที่พวกมือผีจงใจปลอมแปลงขึ้นมา หากผู้บูชามีศรัทธาในหลวงปู่ทวดอย่างแท้จริงก็สามารถก่อให้เกิดปาฏิหาริย์เป็นอัศจรรย์ได้เช่นเดียวกัน
“พระหลวงปู่ทวดมีค่าควรแสน” นี่เป็นการคาดการณ์ของ นายอรรถภูมิ บุณยเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันโบราณศิลป์ เมื่อ พ.ศ.2535 หรือ 18 ปีที่แล้ว ขณะที่เป็น บก.อาวุโสของวงการพระเครื่อง เจ้าของนิตยสาร “สนามพระ” และ “คู่มือนักสะสม” ที่กล้าประกันฟันธงไว้ในขณะนั้นว่า
“พระหลวงปู่ทวดหลังเตารีดพิมพ์ใหญ่ ซึ่งขณะนั้นราคาอยู่ประมาณองค์ละหลายๆ พันถึง 1 หมื่นบาทโดยเฉลี่ย จะต้องพุ่งทะยานขึ้นสู่หลักหลายแสน เทียบได้กับหลวงพ่อเงินวัดบางคลานทีเดียว”
ทั้งนี้ นายอรรถภูมิ ได้จัดลำดับค่านิยมไว้ได้ดังนี้ คือ เนื้อว่านรุ่นแรก พิมพ์ใหญ่ยอดนิยมเอ หรือที่เรียกกันว่าพิมพ์หัวไม้ขีด มีค่านิยมหลักล้านโดยเฉลี่ย ในกรณีที่เป็นพระสวยสมบูรณ์ พิมพ์ใหญ่ยอดนิยมบี หรือที่เรียกกันว่าพิมพ์ใหญ่ลึก ก็มีค่านิยมหลักล้านเช่นเดียวกัน
พิมพ์ใหญ่ยอดนิยมซี ที่เรียกกันว่าพิมพ์ไหล่จุดก็มีค่านิยมเฉลี่ยหลักแสนกลางๆ ส่วนพิมพ์อื่นๆ ก็อาจถึงพิมพ์ต้อใหญ่ซึ่งหายากมาก ก็อยู่หลักแสนกลางๆ พิมพ์พระรอดหน้าใหญ่ ซึ่งอยู่ในกลุ่มพิมพ์เล็ก ถ้าสวยแชมป์ก็หลักแสนกลางๆโดยเฉลี่ย
ในขณะที่พระรูปเหมือนเลขใต้ฐาน ถ้าเลขสวยตัวเดียว อย่างเช่นเลข 9 แน่นอนว่าทะลุหลักล้าน หรือ 9 หน้า 9 หลัง ก็ต้องถึงล้าน ส่วนเลขอื่นๆ ถ้าสวยก็เริ่มต้นที่หลักแสนกลางๆ เช่นเดียวกับพระหลังเตารีดพิมพ์ใหญ่เนื้อนวโลหะ ตอกโค้ด ฉ ฉิ่ง ก็เริ่มต้นที่หลักแสนกลางๆ
ยิ่งมี ฉ ฉิ่งหลายตัวยิ่งมากแสนหรืออาจถึงล้าน และดังที่กล่าวแล้ว เหรียญหัวโตรุ่นแรก ถ้าสวยแชมป์ก็ทะลุล้าน เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์ ปี 2508 สวยแชมป์ก็หลายแสน
“เรื่องการปลอมแปลงหลวงปู่ทวดเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้สนใจศึกษาควรต้องรับรู้ว่าพระเนื้อว่านหลวงปู่ทวดมีการปลอมแปลงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ต้นๆ และปลอมแปลงกันมากมายหลากหลายฝีมือ แต่การปลอมแปลงก็ไม่อาจปิดกั้นให้พระหลวงปู่ทวดมีค่านิยมที่ตกต่ำลง แต่กลับยิ่งทวีมูลค่า
นอกจากนี้แล้วจากคติความเชื่อที่ว่าแขวนพระหลวงปู่ทวดแล้วไม่ตายโหง โดยเฉพาะรุ่นและองค์ที่มีประสบการณ์ย่อมทำให้ค่านิยมของพระรุ่นนั้นๆ สูงขึ้น” นายอรรถภูมิกล่าวทิ้งท้าย
เพื่อให้ความรู้เรื่องพระเครื่องครบทุกด้านทุกมิติ นายอรรถภูมิได้รำพระเครื่องพระบูชา และหนังสือพระเครื่องทั้งหมดมาเปิด หอพระโบราณศิลป์ ณ แยกบางสีทอง ถนนพระราม 5 ต.บางสีทอง อ.บางกวย จ.นนทบุรี
หอพระโบราณศิลป์ มีส่วนจัดแสดง 4 ส่วนหลักๆ คือ
1. ห้องฤาษีทุกตน และ เทพตามคติความเชื่อของคนไทย ซึ่งจะอยู่ชั้นล่างสุด
2.ห้องสมุดหนังสือพระเครื่องและเครื่องรางจากทุกสำนักพิมพ์ ซึ่งจะอยู่ชั้น 2
3.ห้องจัดแสดงพระเครื่อง เหรียญพระพุทธ เหรียญพระคณาจารย์ รวมทั้งเครื่องราง ของขลัง ซึ่งจะอยู่ชั้น 2 และ
4.ห้องจัดแสดงพระบูชา ทุกศิลปะ จากทุกยุคทุกสมัย ซึ่งจะอยู่ชั้น 3
“หอพระโบราณศิลป์จะมีความพิเศษกว่าศูนย์พระอื่นๆ คือ มีทั้งหนังสือพระเครื่องให้อ่าน มีพระเครื่องพระบูชาให้ดูองค์จริง จะมีห้องสมุดที่รวบรวมเกี่ยวกับหนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับพระเครื่องทุกชนิด ทั้งที่เป็นหนังสือที่พิมพ์โดยหน่วยงานราชการ หนังสือที่แจกในงานศพ
หนังสือที่พิมพ์โดยเซียนพระตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หนังสือเหล่านี้อาจจะหาอ่านได้ที่หอสมุดแห่ง แต่เข้าใจว่าไม่ได้รวมเป็นหมวดหมู่ จัดเป็นมุมเฉพาะหนังสือพระเครื่องเท่านั้น” นี้คือแนวความคิดของนายอถรรภูมิ
พร้อมกันนี้ นายอรรถภูมิ ยังบอด้วยว่า ที่ผ่านมายังไม่มีสถาบัน องค์กร และ หน่วยงานใดทำห้องสมุดหนังสือพระเครื่องโดยเฉพาะ หนังสือที่นี่ไม่จำกัดค่าย ไม่จำกัดผู้พิมพ์ แม้แต่หนังสือที่เรียกว่าพระปลอมทั้งเล่มก็มีให้อ่าน
ทั้งนี้เซียนพระจำนวนไม่น้อยคิดว่า หนังสือพระปลอมไม่ควรอ่านเป็นอย่างยิ่ง แต่ในมุมองตัวเองกลับมองว่า หนังสือทุกประเภทล้วนให้ความรู้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้อ่านจะไปประยุกต์ใช้อย่างไรเท่านั้น กรณีหนังสือพระปลอมเราอ่านเพื่อที่จะรู้ว่าวงการพระปลอมนั้นเขาเล่นกันอย่างไร
หอพระโบราณศิลป์ เปิดต้อนรับผู้สนใจพระเครื่องทุกระดับ ตั้งอยู่ อาคารนำโชคทวี แยกบางสีทอง ถนนพระราม 5 ต.บางสีทอง อ.บางกวย จ.นนทบุรี เปิดให้บริการตั้งแต่ 11.00 – 20.00 น. หยุดทุกวันพุทธ โทร.02-550-6438 และ 089-242-8999
ติดตามกิจกรรมของ “หอพระโบราณศิลป์” ได้ที่….https://www.facebook.com/1619705581617589/
Leave a Reply