น้อมนำขยายผลพระดำริ “เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ปลัด มท. นำผู้ทรงคุณวุฒิลงพื้นที่โค้ชช่างทอผ้าพื้นที่อีสานใต้ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้สู่ชุมชน

วันนี้ 19 เม.ย. 66  เวลา 10.00 น. ณ โรงแรมอมารี บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ด้านผ้าไทย และงานหัตถกรรม (Coaching) “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” จุดดำเนินการที่ 3 จังหวัดบุรีรัมย์ ตามโครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นางกัญญา จุนถิระพงศ์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดบุรีรัมย์ นายชูชีพ พงษ์ไชย นายวิฑูรย์ นวลนุกูล นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางวาสนา นวลนุกูล รองประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายสิงหชัย ผ่องบุรุษ นายจำเริญ แหวนเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นางอัญชลีพร ผ่องบุรุษ รองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดบุรีรัมย์ นายจรินทร์ รอบการ นักวิชาการด้านส่งเสริมเครือข่ายการพัฒนาชุมชน ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน พัฒนาการจังหวัด ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย และสื่อมวลชน ในเขตพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี  กว่า 400 คน ร่วมในพิธีฯ โดยได้รับเกียรติจาก “คณะปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” อาทิ ดร.ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและผู้เชี่ยวชาญการย้อมสีธรรมชาติ นายศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ THEATRE นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ นางสาวทัศนียา นิลฤทธิ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาไหมราชมงคลและอาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ร่วมเป็นวิทยากร

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำผู้เข้าร่วมงานถวายธูปเทียนแพหน้าพระรูปสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และรับชมการแสดง “สาวทอผ้าไหม” โดยวงดนตรีลูกทุ่งเฟื่องฟ้าขาว โรงเรียนประโคนชัยพิทยาคม แชมป์ชิงช้าสวรรค์ 2022 สุดยอดวงดนตรีลูกทุ่งเยาวชนชิงแชมป์ประเทศไทย  และเป็นประธานกล่าวเปิดพร้อมบรรยายพิเศษ การน้อมนำพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” เพื่อต่อยอดพัฒนาผ้าและงานหัตถกรรมให้เป็นที่ต้องการของตลาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และเยี่ยมชมผลงาน พร้อมให้กำลังใจ และร่วม “โค้ชชิ่ง” ช่างทอผ้า ผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย ภายในงาน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่มั่นคงในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระผู้อภิรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย ให้ได้กลับมาเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้กับประชาชนในถิ่นชนบท ด้วยการต่อยอดพระราชดำริของสมเด็จย่า โดยนำเอาองค์ความรู้ วิชาการแฟชั่นสมัยใหม่ที่พระองค์ทรงศึกษา มาเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์และพัฒนา ภูมิปัญญาผ้าไทยให้เป็นไปตามความนิยมชมชอบของประชาชนผู้บริโภคในปัจจุบัน ภายใต้ชื่อ “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” พร้อมทั้งพระราชทานพระกรุณาให้คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก อันประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ด้านแฟชั่นดีไซน์ ด้านสีธรรมชาติ เป็นโค้ชอบรมถ่ายทอดให้ความรู้ แก่ช่างทอผ้า ผู้ผลิต ผู้ประกอบการผ้าไทย เพื่อสามารถเสริมสร้างเพิ่มพูนรายได้ อันทำให้มีเงินทองจุนเจือเลี้ยงดูครอบครัว ให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดยมีข้าราชการในพื้นที่เป็นโซ่ข้อกลาง น้อมนำพระประสงค์อันแน่วแน่นี้ได้รับการขยายผลอย่างครอบคลุมในทุกกลุ่มทุกพื้นที่อย่างหลากหลาย

“ตนดีใจทุกครั้งที่ได้มาพบปะกับพี่น้องช่างทอผ้าและข้าราชการผู้ทำหน้าที่เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสริมสร้างความมั่นคงยั่งยืนด้านเครื่องนุ่งห่มของประเทศชาติ เพราะทุกท่านที่อยู่ ณ ที่นี้ ทั้งช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม และข้าราชการ ล้วนเป็นบุคลากรผู้มีคุณค่ายิ่งในการผลักดันขับเคลื่อนให้ภูมิปัญญาผ้าไทยยังคงอยู่กับสังคมไทย และทำให้พี่น้องประชาชน ตั้งแต่รุ่นคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย พ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา ได้น้อมนำพระดำริ มาพัฒนาทักษะฝีมือทำให้ผ้าไทย ได้สร้างงาน สร้างรายได้ จนทำให้ลูก ๆ หลาน ๆ ได้เห็นความสำคัญของผ้าไทย และตั้งใจเป็นผู้สืบทอดสืบสานสิ่งเหล่านี้ให้คงอยู่คู่กับชุมชน คู่กับหมู่บ้าน คู่กับสังคมไทย แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ความเจริญงอกงามเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ข้าราชการทุกคนต้องมี “ใจ” ต้องมี “Passion” ที่อยากจะช่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ช่วยกัน Change for Good อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังที่พระองค์ท่านทรงงานอย่างหนักเป็นแบบอย่างเพื่อที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนได้ช่วยรักษาภูมิปัญญาผ้าไทย ด้วยการก้าวผ่าน “กับดักของผ้าไทย” นั่นคือ  ภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่ส่งมอบ knowhow ลวดลาย เทคนิคการทำผ้ามาสู่รุ่นลูกรุ่นหลานจากคติความเชื่อเกี่ยวกับผ้าไทยในแต่ละพื้นถิ่นที่ไม่ได้คำนึงถึงรสนิยมของผู้ที่เอาเสื้อผ้าไปสวมใส่ เพราะเราจะทอผ้าเพียงแต่พอไว้สวมใส่เองเท่านั้น จึงทำให้ผ้าไทยในอดีตมีแต่ลายเดิม ๆ ที่ถักทอตามใจของผู้ทอนั่นเอง” ปลัด มท. กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวอีกว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นกำลังสำคัญในการมาช่วยทำให้พวกเราก้าวผ่านกับดักความเชื่อที่ว่าทอไว้ใช้ให้กลายเป็นทอเพื่อจำหน่ายเป็นงานอดิเรก (Hobby) เป็นอาชีพเสริมเพื่อหารายได้เลี้ยงดูจุนเจือครอบครัว ทรงเสียสละพระราชทรัพย์ด้วยแนวพระราชดำริ “ขาดทุนคือกำไร” ขาดทุนของพระองค์ท่านคือกำไรของพี่น้องประชาชน พระองค์ทำให้คนในชนบทกลับมารู้จักวิธีการหาปลา ไม่ต้องรอรับปลาจากทางราชการ ด้วยการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย ทอผ้าด้วยตนเอง และพระราชทานให้คณะทำงานผู้มีฝีมือการทอผ้าในท้องถิ่นมาช่วยฟื้นฟูเพิ่มพูนทักษะให้สมาชิกกลุ่มทอผ้าให้มากขึ้น โดยทรงริเริ่มดำเนินการก่อตั้งศูนย์ศิลปาชีพเมื่อปี 2513 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่จังหวัดนครพนม ก่อเกิดเป็นศูนย์ศิลปาชีพ และมีบุคคลที่ทรงพระมหากรุณาให้สนองงานช่วยเหลือช่างทอผ้าที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ เช่น แม่ครูวงเดือน อุดมเดชาเวทย์ หัวหน้าศูนย์ศิลปาชีพอำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม รวมถึงแม่ประจวบ จีนไธสง กลุ่มทอผ้าบ้านนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ จึงเปรียบได้ว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเมืองหลวงของผ้าไทย นอกจากนี้ ความรุ่งเรืองของผ้าไทยนั้นมีมาอย่างยาวนานมากกว่า 50 ปี และเฟื่องฟูมากในยุคอดีตนายกรัฐมนตรี คือ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้นำการสวมใส่ผ้าไทย ทำให้ผ้าไทยขายดี กระตุ้นให้ชาวบ้านได้ทอผ้า

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เหมือนกับฟ้ามีตา สวรรค์มีใจ ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแนวทางทำให้เราก้าวข้ามผ่านกับดักการทำผ้าไทย ต่อยอดจากสมเด็จย่า ประการที่ 1. คือ ทรงให้เราสามารถออกแบบลวดลายได้ตามที่เห็นว่าเป็นความงามความชอบของผู้คน 2. ตัดเย็บเสื้อผ้าไทยด้วยรูปแบบที่แปลกตา แปลกใหม่ ทำให้มีผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยทรงนำ knowhow ของตะวันตกว่าสิ่งที่คนเป็นลูกค้าสวมใส่เขาต้องการอีกอย่างหนึ่ง คือ Story Telling บอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมา วิธีการ แนวคิดในการถักทอผ้า เพื่อเป็นเสน่ห์ดึงดูดว่าเสื้อผ้าของเรามีอัตลักษณ์ มีความโดดเด่นมีที่มาที่ไปอย่างไร 3. ทรงสอนให้พวกเราทุกคนมีความรับผิดชอบต่อโลกใบเดียวของเรา ทรงเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการใช้สีธรรมชาติ เพราะสีเคมีทุกประเภทมีสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งผสมอยู่ นั่นคือ สารตะกั่ว พร้อมทั้งทรงแนะนำการปลูกไม้ให้สีทดแทนให้เพิ่มมากขึ้น ทำให้เป็นป่าไม้ให้สี โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการพึ่งพาตนเอง และการถ่ายทอดให้เด็ก ๆ ให้ผู้ที่สนใจในทุกที่ ทุกโอกาส เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งพระองค์ท่านได้ประมวลรวบรวมสิ่งเหล่านี้ผ่านหนังสือ Thai Textiles Trend Book เล่มต่าง ๆ ที่ทรงเป็นบรรณาธิการและพระราชทานให้กับพวกเราทุกคน เพื่อทำให้ผ้าไทยเป็นเครื่องแต่งกายที่เท่ เก๋ไก๋ ถูกอกถูกใจ และกระจายรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย และเป็นภูมิปัญญาที่อยู่คู่กับสังคมไทยไปชั่วกาลนาน

“การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ เราต้องพึ่งพาตนเอง ต้องนึกถึงสิ่งแวดล้อม ต้องนึกถึงคนรุ่นต่อ ๆ ไป และที่สำคัญที่สุด ต้องไม่ใช่ One Man Show ต้องมี Partnership ทำงานแบบรวมกลุ่ม มีกฎกติกา มีข้อตกลง มีความรักสามัคคี ช่วยกันค้นหาทรัพยากรบุคคลที่ดี ที่มีความเสียสละ มาช่วยกันในการเติมเต็มฝีมืองานหัตถศิลป์ของเราให้ดียิ่งขึ้น เพราะสังคมไทยเป็นสังคมแห่งจิตอาสา สังคมไทยเป็นสังคมที่ผู้คนเสียสละ ดังเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ข้อที่ 17 คือ Partnership หรือการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาซึ่งกันและกัน เพราะพระองค์ทรงทำให้เราเห็นเป็นตัวอย่างแล้วว่าทุกคนมีศักยภาพ พวกเราทุกคนต้องเปิดใจให้กว้าง รับเอาสิ่งดี ๆ เข้ามาและลงมือทดลองทำ ซึ่งล้วนแล้วแต่จะส่งผลทำให้มีรายได้ที่เพิ่มพูน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี อันจะยังผลให้ประเทศชาติของเรามีความมั่นคงอย่างยั่งยืน” ปลัด มท. กล่าวในช่วงท้าย

ด้าน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทอดพระเนตรโครงการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง และพระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ให้แก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นของขวัญแก่ช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค เยาวชนคนรุ่นใหม่ และประชาชนคนไทยทุกคนในการสร้างงาน สร้างอาชีพ รวมถึงการสืบสาน  ต่อยอดภูมิปัญญาและงานหัตถศิลป์พื้นถิ่น ให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดินไทยอย่างยั่งยืน ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตถกรรมไทยสร้างรายได้กลับสู่ชุมชน และส่งเสริม กระตุ้นให้เกิดการยกระดับผ้าไทยทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศทุกวัย ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดโครงการ Coaching “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าทั่วประเทศและงานหัตถกรรม ในการเข้าร่วมประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ในระดับภาค และระดับประเทศ ต่อไป

Leave a Reply