วันที่ 24 ก.พ. 2564 เพจ Phramaha Boonchuay Doojai ได้โพสต์ข้อความว่า “จาก ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ถึง ‘เราชนะ’: บทพิสูจน์ความจริงใจของรัฐในการเยียวยาพระสงฆ์”
@ สถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 จากระลอกที่หนึ่งราวเดือนมกราคม-มีนาคม 2563 ถึงการแพร่ระบาดในระลอกที่สอง ที่เชื่อกันว่ามีต้นตอใหญ่มาจากการลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมายของ “แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา” ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เริ่มจากตลาดกลางกุ้ง สู่ “แหล่งอบายมุข” ในพื้นที่จังหวัดในภาคตะวันออกก็ คือ “บ่อนการพนัน” ในจังหวัดระยอง จันทบุรี ชลบุรี และตราด ระบาดต่อไปยังแหล่งบันเทิง ผับ บาร์ สู่ประชาชนคนธรรมดาที่ไร้เดียงสา ผ่านบุตรหลานญาติมิตร
@ การแพร่ระบาดในระลอกแรก รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาคนไทยผู้ได้รับผลกระทบ เพราะต้องอยู่บ้านตามมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ในโครงการที่รู้จักกันเป็นอย่างดีว่า “เราไม่ทิ้งกัน” ผู้มีอาชีพอิสระ เกษตรกร ผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม ต่างได้รับการเยียวยาด้วยการรับเงินช่วยเหลือเป็นเวลา 3 เดือน รวมถึงเด็กแรกเกิดจนถึง 6 ขวบ กลุ่มเปราะบางทั้งผู้สูงอายุและผู้พิการ ก็ได้รับเงินช่วยเหลือด้วย นอกจากนี้ยังมีมาตรการการให้สินเชื่อทั้งประเภทปลอดดอกเบี้ยและดอกเบี้ยต่ำ
@ ข่าวดีสำหรับพระสงฆ์ก็ออกมาในราววันที่ 5 มิถุนายน 2563 ท่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายเทวัญ ลิปตพัลลภ) ได้เสนอการเยียวยาพระสงฆ์รูปละ 60 บาทต่อวัน (จากเดิมตั้งเป้าว่าจะถวาย 100 บาท) โดยมาตรการเยียวยาพระสงฆ์ทั้งหมดราว 2.5 แสนรูป ที่ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากประชาชนทำบุญที่วัดน้อยลง และผลกระทบจากมาตรการงดเว้นกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา โดยจะโอนเงินให้วัดไปบริหารจัดการเองตาม “จำนวนพระ” ที่มี เพื่อใช้จ่ายเป็นค่าอาหารหรือค่าใช้จ่ายภายในวัด ซึ่งได้เคยตั้งคำถามไปใน “เยียวยาพระสงฆ์: ย่ามใครดี”
@ แต่แล้วมาตรการเยียวยาพระสงฆ์ในช่วงการแพ่ระบาดระลอกแรกก็เหลวเป๋วไม่เป็นท่า ไม่ทราบด้วยเหตุผลกลใด เพราะไม่มีคำอธิบายใด ๆ จากท่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “เทวัญ ลิปตพัลลภ” อีกเลยหลังจากที่ให้ข่าว กระทั่งมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติท่านใหม่ ชื่อ “นายอนุชา นาคาสัย” ก็ยังคงเงียบงัน ไร้ความชัดเจนในเรื่องการเยียวยาพระสงฆ์เช่นเดิม
@ กระทั่ง รัฐได้ออกมาตรการใหม่ในเพื่อรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในระลอกที่สอง ในโครงการใหม่เอี่ยมที่รู้จักกันในชื่อ “เราชนะ” ในขณะที่มาตรการเยียวยาพระสงฆ์ยังคง “เงียบฉี่” จนกระทั่งได้ยินเสียงหายใจของพระสงฆ์ที่เฝ้ารอด้วยความหวัง แต่ก็ไร้วี่แววที่จะเป็นไปได้ ประหนึ่งการรอคอย “ดอกพิกุล” จะร่วงออกจากปากของรัฐ ทั้งจากท่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงท่านนายกรัฐมนตรี
@ ปรากฏการณ์ หัวข่าว “ข่าวทั่วไทยโควิดทำพิษ! พระสงฆ์ กำแพงเพชร ลงทะเบียนเราชนะ กลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน” หรือ “พระสงฆ์ที่กำแพงเพชร มาลงทะเบียน “เราชนะ” ชี้ โควิดทำญาติโยมเข้าวัดลดลง” จึงเกิดขึ้น เมื่อหลายวันก่อน (15 กุมภาพันธ์ 2564) ที่มี “พระสงฆ์” จำนวนหนึ่งซึ่งมีฐานะเป็น “พลเมือง” ไทย ด้วยเหตุผลซึ่งพระสงฆ์ที่มาลงทะเบียน กล่าวว่า “… ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากประชาชนได้รับความเดือดร้อน มีภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน จึงส่งผลให้เข้าวัดทำบุญน้อยลง รวมทั้งการทำบุญตักบาตรก็ลดลงตามไปด้วย จึงทำให้พระสงฆ์ในวัดได้รับผลกระทบเช่นกัน”
@ อย่างไรก็ตาม การเยียวยาพระสงฆ์ซึ่งเป็น “ผู้ได้รับผลกระทบ” อีกกลุ่มหนึ่ง ก็ยังจะต้องประสบกับปัญหาเดิม ๆ คือปัญหาเรื่อง “บัตรประจำตัวประชาชน” เพราะน่าจะมีพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้ทำบัตรประจำตัวประชาชนด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน หลังจากการประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์” เมื่อปลายปี 2560 พบว่ามีพระสงฆ์จำนวนมาก มีปัญหาในเรื่องการเข้าถึง “สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ” ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อันเนื่องมาจากปัญหาระบบ “ฐานข้อมูลบุคคล” ของพระสงฆ์ซึ่งไม่สามารถเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แม้ระยะต่อมาได้มีความพยายามรณรงค์ให้พระสงฆ์ไปทำบัตรประจำตัวประชาชนเพิ่มขึ้น แต่ระบบฐานข้อมูลก็ยังคงเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก
@ นั่นหมายความว่า แม้จะมีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งเข้าถึงการเยียวยาในโครงการ “เราชนะ” แต่ก็เชื่อว่ามีพระสงฆ์อีกจำนวนมากที่จะถูก “ทิ้งไว้ข้างหลัง” ในมาตรการการเยียวยาของรัฐอยู่ดี
@ ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันโอชา ได้พูดไว้ในหลายโอกาสจนจำไม่ไหว ว่าจะ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ”
@ จากโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระลอกที่หนึ่ง ที่ “พระสงฆ์ถูกทิ้ง” ไปแล้วรอบหนึ่ง มาถึงโครงการ “เราชนะ” เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในรอบที่สอง ย่อมเป็นบทพิสูจน์ความจริงใจของรัฐในการเยียวยาพระสงฆ์ เพราะถึงวันนี้ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ จากรัฐในเรื่อง “การเยียวยาพระสงฆ์” จนมีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับคนไทยทั่ง ๆ ไป ต้องตัดสินใจไปลงทะเบียน “เราชนะ” กันในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
@ ก็เพียงแค่ให้มันชัดเจนว่า “มีมาตรการเยียวยา” แล้วสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ หรือไม่ก็บอกมาตรง ๆ ว่า “ไม่มีมาตรการเยียวยา” พระสงฆ์
@ จะได้รู้กันให้ชัด ๆ และไม่ต้องให้พระสงฆ์ท่าน “ตั้งตารอ” อย่างที่ผ่านมา
Cr.ภาพจาก https://www.thairath.co.th/news/local/north/2037409?fbclid=IwAR3hOdLSNHB-V0YtWcUUfu2mVDTBSnR0gXaB0CGxFQOSjZm6N2VB97ZTR1k
Leave a Reply