อุบลฯ รวมพลัง “บวร” เดินหน้าขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Model

วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานประชุมชี้แจงการขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Model ณ ห้องประชุมพรหมวรราช ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี โดยมี พระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม และที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พระนักพัฒนาที่ร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนงานเพื่อชุมชนท้องถิ่นมาโดยตลอดตามหลัก “บวร” รวมไปถึง นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนนายอำเภอ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในระดับจับหวัด และอีก 8 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเขื่องใน อำเภอโขงเจียม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอเดชอุดม อำเภอกุดข้าวปุ้น อำเภอน้ำยืน และอำเภอม่วงสามสิบ เข้าร่วมการประชุมฯ

ในส่วนของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี นายพิสดาร ประดา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นางสาววิจิตร หลงชิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นางสาวรัชนี จันทสิงห์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ ตลอดจนพัฒนาการอำเภอ และเจ้าหน้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ทั้ง 8 อำเภอ เข้าร่วมการประชุมฯ โดยพร้อมเพรียงกัน ทั้งนี้ ได้ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด

จังหวัดอุบลราชธานี ได้ขับเคลื่อนโครงการเขตเศรษฐกิจพอเพียง หรือ Sufficiency Economy Development Zones for Sustainable Development Goals (SEDZ for SDGs) โดยขยายผลจากโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ในในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากทั้งส่วนราชการและภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อช่วยเหลือและหาแนวทางในการนำผลผลิตจากเพื่อเชื่อมโยงกับวาระแห่งชาติเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) หรือ BCG ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย

โอกาสนี้ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ประธานการประชุมฯ ได้มอบหมายให้แต่ละอำเภอนำข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละท่าน ไปปรับและประยุกต์ใช้ในรูปแบบของโครงการในระดับพื้นที่อีกครั้ง เพื่อตอบโจทย์ในการเป็น BCG Model รวมถึงมอบหมายให้คณะทำงานฯ ได้ร่วมพิจารณาคัดเลือกแผนงานโครงการ จากทั้ง 8 อำเภอ เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ของจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนเสนอกระทรวงมหาดไทยต่อไป

Leave a Reply