ว่าด้วย “วิธีเดินจงกรม” ของ “มจร” และ “ธรรมนาวา” ของ “เจ้าคุณต้น”

“ผู้เขียน” วานนี้ไปสังเกตการณ์งานอบรม “หลักปฎิบัติธรรมนาวาวัง” ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วังน้อย ของ “เจ้าคุณต้น” พระราชญาณวัชรชิโนภาส วิ. และ “เจ้าคุณไพจิตร”  พระราชเมธีวชิรลก ให้กับพระครูสอนศีลธรรม 300 รูป จาก 18 จังหวัด และพระนิสิตปี 4 คณะครุศาสตร์ 50 รูป รวมทั้งมีพวกอนุศาสตร์จากเหล่าทัพ กรมราชทัณฑ์ มาฟังด้วยประมาณ 10 คน ฟังหลักบรรยายของ “พระราชเมธีวชิรดิลก” ได้นิดหน่อย เป็นหลักธรรมพื้น ๆ เหมือนอบรม “พระนวกะ”  จึงเดินออกไปทักทายไปคุยกับพระคุณเจ้าที่รู้จักบ้าง คณาจารย์บ้าง เจ้าหน้าที่บ้าง กินข้าวกล่องฟรีเสร็จ กลับบ้าน!!

เนื่องจากคิดว่าหลักปฎิบัติธรรมนาวา “ไม่สอดคล้อง” กับ “จริต” ของผู้เขียน และอีกประการหนึ่ง แต่ไหนแต่ไรมา “ผู้เขียน” ก็ไม่ได้เป็น “คนดี” ตามหลักพระพุทธศาสนา ที่นิยมชื่นชอบการปฎิบัติธรรมเท่าไร..

ทุกวันนี้ แค่รักษาศีล 5 ยึดหลัก “คิหิปฎิบัติ” เป็นที่ตั้ง ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุรี่ ไม่เที่ยวกลางคืน สำหรับเพศฆราวาสถือว่า “หนักแล้ว” และชีวิตครอบครัวก็มีความสุขดีแล้ว!!

กลับมาถึงบ้านค่ำ ๆ มีคนส่งคลิปการสอน “เดินจงกรม” ของเจ้าคุณต้น พร้อมกับมีภาพพระภิกษุที่เข้าอบรมเดินมองซ้ายมองขวา บางคนก็เดินด้วยความไม่สงบเสงี่ยม ไกว่มือซ้ายขวา  ตามคำแนะนำของ “เจ้าคุณต้น”  ที่ว่า “วิธีเดินจงกรมเดินตามธรรมดา ไม่มีท่า ไม่มีทาง ไม่มีรูปแบบ คือ เดินอย่างไรก็เดินอย่างนั่น แต่ต้องวางจิตให้ถูก วางอยู่กับกุศลกรรม คือ พระรัตนตรัย”

“ผู้เขียน” เป็นศิษย์เก่า มจร  เรียนการเดินจงกรมครั้งแรกกับ “พระมหาบุญชิต ญาณสงฺวโร ป.ธ.9” ที่ลานพระวิหารราย รอบพระอุโบสถวัดมหาธาตุ ปัจจุบันเจ้าคุณบุญชิตมีสมณศักดิ์ที่  “พระพรหมวัชรวิมลมุนี”  เป็นผู้อำนวยการสถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระวิปัสสนาจารย์ใหญ่ พระอาจารย์ใหญ่ ฝ่ายวิปัสสนาธุระกองการวิปัสสนาธุระแห่ง ประเทศไทย ในพระสังฆราชูปถัมภ์

ยุคนี้ “พระพรหมวัชรวิมลมุนี” ศิษย์เก่าเราถือว่าเป็น “พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนา” และคิดว่า “ศิษย์ มจร” ปัจจุบันก็ยังยึดว่าท่านคือพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาของพวกเราเช่นกัน

บรรดาพระครูสอนศีลธรรมและพระนิสิตคณะครุศาสตร์ ไม่รู้คิดอย่างไรกับ “วิธีเดินจงกรม” ของ พระราชญาณวัชรชิโนภาส วิ.ถูกจริตกับตนเอง เพื่อนำไปสู่ “ดับทุกข์” หรือไม่

แต่หากไม่!! ควรยึดหลักการเดินจงกลม 6 ระยะที่ “มจร”  พร่ำสอนกันมาจากรู่นสู่รุ่น โดยมีคณาจารย์ฝ่ายวิปัสสนานำโดย “เจ้าคุณบุญชิต” เป็นหัวหน้า และ “ห้ามถ่ายทอด” สอนนักเรียน ประชาชน หรือลูกศิษย์แบบที่ “เจ้าคุณต้น” สอน

เว้น..พวกท่านบอกว่า วิธีเดินจงกรมของ “เจ้าคุณต้น” คือ “ทางสายเอก” อันนี้ไม่ว่ากัน เพราะ “จริต” คนเราอาจไม่เหมือนกัน บางคนอาจชอบแนวการเดินจงกรมแบบเจ้าคุณต้นที่ว่า “วิธีเดินจงกลมเดินตามธรรมดา ไม่มีท่า ไม่มีทาง ไม่มีรูปแบบ คือ เดินอย่างไรก็เดินอย่างนั่น แต่ต้องวางจิตให้ถูก วางอยู่กับกุศลกรรม คือ พระรัตนตรัย”

 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ “มจร” แต่ไหนแต่ไรมา เรายึดหลักปฎิบัติกรรมฐานสาย “วัดมหาธาตุฯ” ยุบหนอ พองหนอ และการเดินจงกรมเราก็กำหนด “สติ” ไว้กับ “ตัวรู้”  ดังคำอธิบายวิธีเดินจงกรมของ พระพรหมวัชรวิมลมุนี ที่กล่าวไว้ว่า

“การเดินจงกรม” เป็นอิริยาบถหนึ่งที่มีความสำคัญคู่กับการนั่งกำหนดพองยุบคำว่า “จงกรม” เป็นภาษาสันสฤฤต มาจากภาษาบาลีว่า “จงกรม” ซึ่งมีความหมายว่า “การเดินกลับไปกลับมา” สำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ นิยมเดินจงกลมและนั่งกรรมฐาน โดยใช้เวลาเท่ากันเป็นเบื้องต้น ซึ่งผิดกับบางสำนักที่ต้องใช้เวลานั่งเป็นเวลาหลาย ๆ ชั่วโมง หรือบางสำนักอาจไม่เดินจงกรม เหตุผลที่ต้อง เดิน นั่ง เท่ากัน ก็เพื่อจะได้ปรับความเพียร (วิริยะ) กับความที่จิตมีสมาธิเท่าเทียมกัน อันเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติกำหนดได้ทันปัจจุบัน สำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์กำหนดเวลาเดินจงกรม 6 ระยะ ปัญหาที่หลาย ๆ ท่านอาจจะสงสัยว่า การเดินจงกรม 6 ระยะนี้มีมาในพระไตรปิฎกหรือไม่

ความจริงแล้วสำหรับการเดินจงกรมพระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ในพระไตรปิฎก บางพระสูตรซึ่งพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสเรียกว่าเป็นการเดินจงกรม หากแต่ตรัสว่า เป็นการกำหนดสติที่กาย อันเป็นอิริยาบถหนึ่งในอิริยาบถทั้ง 4  (กายานุปัสสนา อิริยาบถปัพพะ) ถ้าจะกล่าวในแง่ของการเดินจงกรม เราอาจกล่าวได้ว่า การเดินจงกรม ก็คือการเดินธรรมดา จะผิดกับการเดินธรรมดาทั่ว ๆ ไป ตรงที่การเดินจงกรมเป็นการเดินอย่างมี “สติ” หรือมีสติคอยกำหนดอยู่ในเวลาเดินดังพระไตรปิฎกที่ว่า

“ภิขฺเว คจฺฉนฺโต วา คจฺฉามีติ ปชานาติ”  แปลว่า เมื่อภิกษุผู้ปฏิบัติเดินอยู่ ก็รู้ว่ากำลังเดินอยู่”

ความหมายของการเดินจงกรมในพระไตรปิฎก เป็นการตรัสไว้กว้างๆ มองไม่เห็นแนวทางในการปฏิบัติจริง เพราะโดยปกติจิตของคนจะนึกคิดเรื่องราวต่าง ๆ อยู่เสมอ

ดังนั้น พระอรรถกถาจารย์ผู้ที่รู้ความประสงค์ของพระพุทธเจ้า จึงอธิบายวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสให้ง่ายต่อการปฏิบัติ ไม่เช่นนั้น ผู้ที่ไม่เข้าใจแนวพุทธประสงค์ก็จะไม่สามารถที่จะนำมาปฏิบัติได้ วิธีการอธิบายการเดินจงกรมอย่างละเอียด และสามารถนำไปปฏิบัติได้ง่ายขึ้น เราจึงพบในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาเช่น “ตโตเอกปทวารํ อุทฺธรณอติหรณวีติหรณโวสฺสชฺชนสนฺนิเขปนสนฺนิรุมฺภนวเสนฉโกฎฐาเสกโรติ” (วิสุทฺธิ.๓ : ๒๕๑) แปลว่า การเดินจงกรมนั้น แบ่งเท้าแต่ละก้าวออกเป็น 6 ระยะ    ซึ่งสามารถเทียบได้กับการเดินจงกรมของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ดังนี้

(1 ) การยกเท้าขึ้นจากพื้น (อุทธรณํ นาม ปาทสฺส ภูมิโต อุกฺขปนํ) ชื่อว่า อุทธรณะ เทียบได้กับ “ยกส้นหนอ” (การยกส้นเท้าขึ้นอย่างเดียว)

(2) การยื่นเท้าไปข้างหน้า (อติหรณํ นาม ปุรโต หรณํ) ชื่อว่า อติหรณะ) เทียบได้กับ “ยกหนอ” (ยกปลายเข้าขึ้น)

(3) เมื่อผู้ปฏิบัติเห็นตอ หนาม หรืองูเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วย้ายเท้าไปข้างนี้และข้างนี้ (วีติหรณํ ขานุณฺฏกทีฑชาติอาทีสุ กิญฺจิเทว ทิสฺวา อิโต จิโต ว ปาทสญฺนนํ นาม) เรียกว่า วิตีหรณะ เทียบได้กับ “ย่างหนอ” (ย่างเท้าไปข้างหน้า)

(4) เมื่อลดหย่อนเท้าให้ต่ำลงกับพื้น (โวสฺสชฺชนํ นาม ปาทสฺส โอโรปนํ) เรียกว่าโวสัชชนะ เทียบได้กับ “ลงหนอ” (ลดระดับเท้าลงแต่ยังไม่ถึงพื้น)

(5) เมื่อวางเท้าลงที่พื้นดิน (สนฺนิเขปนํ นาม ปฐวีตเล ฐปนํ) เรียกว่า สันนิเขปนะ เทียบได้กับ “ถูกหนอ” (ปลายเท้าแตะพื้น)

(6) ขณะยกเท้าก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่งกดเท้าอีกหนึ่งไว้กับพื้น (สนฺนิรุมภฺนํ  นาม  ปุน  ปาทุทฺธรณกาเล ปาทสฺส ปฐวิยา สทฺธึ อภินิปฺปีฬนํ) เรียกว่า สันนิรุมภนะ เทียบได้กับ “กดหนอ” (วางเฉพาะส้นเท้าลง)

ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงการเดินจงกรมในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ทางสำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ มีวิธีการเดินจงกรมที่ใช้ตามแบบอรรถกถามากกว่าในพระไตรปิฎก อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่าการเดินจงกรมในพระไตรปิฎก เป็นทฤษฎีที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้แบบกว้าง ๆ คนที่เกิดภายหลังไม่ทราบสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่าทรงอธิบายไว้ว่าอย่างไร จึงต้องอาศัยการตีความของพระอรรถกถาจารย์ ผู้รู้การอธิบายของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเดินจงกรมในพระไตรปิฎกกับอรรถกถา จะมีความแตกต่างกันในเรื่องวิธีการปฏิบัติ แต่จะไม่แตกต่างกันเลยในเรื่องของ “สาระสำคัญ”

ดังนั้น พระวิปัสสนาจารย์สายวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ หรือแม้แต่พระวิปัสสนาจารย์ชาวพม่า สายมหาสีสยาดอ ต่างก็จะอธิบายว่า ความสำคัญของการเดินจงกรมมิได้อยู่ที่ระยะเดียวหรือเพิ่มระยะมาก ขึ้นอยู่ที่กำหนดสติ กับอาการเคลื่อนไหวของเท้าเป็นสำคัญ เช่น ขณะเดินอยู่ไม่ว่าระยะใด ก็คอยกำหนดสติให้ทันปัจจุบัน ให้รู้ว่าอาการที่เท้าเคลื่อนไหวไปกับสติที่กำหนดให้ทันกันพอดี ไม่ก่อนหรือไม่หลัง การปฏิบัติเช่นนี้ จึงจะทำให้การเดินจงกรมได้ผล และในทางตรงกันข้าม แม้ว่าผู้ปฏิบัติจะพยายามเดินระยะสูง ๆ เช่น ระยะที่ 4 – 6  หากผู้ปฏิบัติไม่สามารถกำหนดอาการเคลื่อนไหวของเท้าให้ทันปัจจุบันได้ การปฏิบัติวิปัสสนาก็ไม่สามารถสัมฤทธิ์ผลได้เลย ดังนั้นผู้ปฏิบัติจึงไม่ต้องไปกังวลว่า เราจะเดินตามหลักพระไตรปิฎก หรืออรรถกถา เพียงแต่เราเดินด้วยความตั้งใจจริง (อาตาปี) มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม (สัมปชัญญะ) และมีความรู้สึกระลึกได้อยู่เสมอ (สติมา) การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในอิริยาบถเดินจงกรมก็ถือว่า ถูกต้องตามหลักพระไตรปิฎกและอรรถกถาแล้ว

“ผู้เขียน” นำข้อความคำอธิบายที่มาและวิธีเดินจงกรม ของ “พระพรหมวัชรวิมลมุนี” อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มาบางช่วงบางตอน เพื่ออธิบายประกอบบทความชิ้นนี้ไว้เพียงเท่านี้

“ผู้เขียน” ในฐานะศิษย์เก่า อยากฝากข้อคิดถึง ผู้บริหาร คณาจารย์ ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ว่า พวกเราชาว “ชาวมจร” แต่ไหนแต่ไรมา ยึดความ “กตัญญูกตเวที” ต่อสถาบันและครูบาอาจารย์เป็นที่ตั้ง เรามี “รูปแบบ” และ “วิถีคิด-วิธีปฎิบัติ” ตามแบบฉบับของพวกเรา

 พวกเราต้องมี “จุดยืน” และ “มั่นใจ” ในแนวคำสอนวิธีปฎิบัติกรรมฐานของครูบาอาจารย์

“มจร” คือ สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คณะสงฆ์ทั้งเถรวาท มหายาน วัชรยาน และชาวพุทธ ทั่วโลกยอมรับ ในการเป็นสถาบันการศึกษาที่ “อุดมด้วยพุทธปัญญา”  โดยมี “พระไตรปิฏก” เป็นหลักชัย

ปัจจุบันมีคนหลายคนและหลายกลุ่มพยายามจะเข้ามา “ครอบงำ” ในสิ่งที่ “พวกเรามี” และต้องการ “เปลี่ยนแปลง” ในสิ่งที่ “พวกเราเป็น” ทั้งมีกลุ่มคนพยายามแสวงหาผลประโยชน์จาก “มจร”

“มจร” ต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของใคร หรือกลุ่มผู้ใดผู้หนึ่ง?? 

แต่ในขณะเดียวกับ “มจร” เป็นส่วนหนึ่งในการสนองกิจการคณะสงฆ์ให้เป็นสถาบันผลิตบัณฑิต ผลิตศาสนทายาท และทั้งต้องยึดข้อปฎิบัติตามแนวทางนโยบายภาครัฐ

จำต้องอยู่ “ให้เป็น”..ด้วยเช่นกัน

Leave a Reply