สงฆ์สุรินทร์ร่วมภาคีเครือข่ายประชุมคณะทำงานพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในระบบสุขภาพเพื่อสังคมสุขภาวะ พื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา
เมื่อวันวันที่ 4 เมษายน 2564 เวลา 12.30 น.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะทำงานพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในระบบสุขภาพเพื่อสังคมสุขภาวะผ่านกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ตำบลคูตัน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ คณะสงฆ์ภาค 11 ณ ห้องประชุมสำนักงานเจ้าคณะอำเภอกาบเชิง วัดอุดมพรหมวิหาร ตำบลคูตัน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์
มีคณะทำงานจากภาคีเครือข่าย เจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาสวัด สถานศึกษา ผู้นำชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าประชุมเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาวะพระสงฆ์ในเขตพื้นที่อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่แนวเขตชายแดนไทย – กัมพูชา โดยในที่ประชุมพระครูพรหมวิหารธรรม เจ้าอาวาสวัดอุดมพรหมวิหาร เจ้าคณะอำเภอกาบเชิง ประธานคณะทำงาน ในระดับพื้นที่ เป็นประธานที่ประชุม ท่านได้ปรารภว่า….โดยที่ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2560 ได้ถูกตราขึ้น โดยยึดหลักพระธรรมวินัยและข้อมูลทางวิชาการเป็นฐาน ภายใต้หลักการมีส่วนร่วมและการเปิดช่องทางการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ
สะท้อนเจตนารมณ์และพันธะร่วมกัน และเป็นจุดอ้างอิงของพระสงฆ์ คณะสงฆ์ ชุมชน สังคม และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในการกำหนดทิศทางเป้าหมายและยุทธศาสตร์การดูแลและสร้างเสริมสุขภาวะของพระสงฆ์และสังคมในอนาคต
และมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 7/2560 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2560 มติที่ 191/2560 เรื่อง การดำเนินงานพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะที่กำหนดให้ดำเนินการวัดส่งเสริมสุขภาพและธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบและแนวทางการส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์ทั่วประเทศ ตามหลักการของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ และเป้าหมายการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 3 ประเด็นสำคัญ คือ พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย และบทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม
โดยยึดหลักการสำคัญ คือการใช้ทางธรรมนำทางโลก และมาตรการสำคัญในการดำเนินการ 5 ด้านได้แก่ ความรู้ ข้อมูล การพัฒนา การบริการสุขภาพและการวิจัยที่จะนำไปสู่การส่งเสริมและสนับสนุนการดูแลสุขภาวะพระสงฆ์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญาและทางสังคม ตลอดจนการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพโดยก่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างวัดกับชุมชนทำให้พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข ภายใน 10 ปี (พ.ศ.2560-2569)
สถานการณ์การดำเนินงานเกี่ยวกับสุขภาพพระภิกษุและสามเณรภายหลังจาการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.), สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์ ร่วมกับคณะสงฆ์ ได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนงานตามบทบาทและหน้าที่ของส่วนงานเพื่อแก้ปัญหาสุขภาวะพระภิกษุและสามเณรทั้งด้านการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในบริการด้านสุขภาวะการรักษา การส่งเสริม การป้องกันโรค การฟื้นฟูสภาพหลังการเจ็บป่วย และสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตตามพระธรรมวินัย โดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้พระสงฆ์เข้าไปมีส่วนร่วมในกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ 4 รูปแบบ คือ
1. พระสงฆ์เป็นกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
2. พระสงฆ์เป็นผู้เข้าถึงกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือพื้นที่
3. หน่วยงานองค์กรในชุมชนร่วมกับพระสงฆ์ในการใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
4. คณะสงฆ์ร่วมเป็นกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ผลักดันข้อเสนอในการพัฒนาสุขภาพพระสงฆ์และชุมชนผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพ ระดับตำบลทุกตำบลในอำเภอ การมีส่วนร่วมดังกล่าวเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะองค์กรสงฆ์และสุขภาวะของชุมชนนับว่าเป็นฐานสำคัญในการดูแลสุขภาวะองค์กรสงฆ์และเสริมสร้างสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
โดยที่พระสงฆ์เป็นผู้มีความสำคัญในการสืบทอดพระพุทธศาสนา พัฒนาการเรียนรู้ด้านคุณธรรม จริยธรรม และการพัฒนาสังคม ท้องถิ่น ชุมชน อันเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชุมชน ในเรื่องการดูแลสุขภาพตนเอง สิ่งแวดล้อมภายในวัด และขยายผลสู่การพัฒนาสุขภาวะของชุมชน
แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าพระสงฆ์กลับมีปัญหาทางสุขภาพ โดยเฉพาะป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือดและภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการฉันอาหารที่ไม่เอื้อต่อสุขภาพและยังขาดความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงผลเสีย อันก่อให้เกิดการอาพาธหรือการเจ็บป่วยของพระสงฆ์ นอกจากนี้พระสงฆ์ยังเป็นผู้เสี่ยงต่อสิ่งที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค และขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขจะกลายเป็นผู้ป่วยรายใหม่ในสังคม
คณะสงฆ์อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ จึงได้นำเสนอโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในระบบสุขภาพ เพื่อสังคมสุขภาวะผ่านกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพ ในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ตำบลคูตัน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ต่อคณะทำงานที่มหาเถรสมาคม โดยประธานคณะกรรมการฝ่ายปกครอง มหาเถรสมาคม ได้แต่งตั้งขึ้น เพื่อการดังกล่าว และคณะสงฆ์อำเภอกาบเชิง จึงได้มีคำสั่งที่ 02/2564 ลงวันที่ 1 มีนาคม พุทธศักราช 2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในระบบสุขภาพเพื่อสังคมสุขภาวะผ่านกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับ ท้องถิ่นหรือพื้นที่ ตำบลคูตัน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ คณะสงฆ์ภาค 11
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 หมวด 1 มาตรา 5 กำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพฯ และมาตรา 47 กำหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (คณะกรรมการหลักฯ) สนับสนุน ประสาน และกำหนดหลักเกณฑ์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้ดำเนินการและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่โดยให้ได้รับค่าใช้จ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้แก่บุคคลในพื้นที่โดยส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น
และได้มีการออกประกาศ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาลดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบาย ที่กำหนดไว้ ในการประชุมครั้งนี้ ได้รับเมตตาจาก พระมหาประเสริฐ สุเมโธ ,ดร. พระ อสว. จากจังหวัดบุรีรัมย์และพระครูปริยัติภัทรคุณ เจ้าอาวาสวัดสิงห์วงศ์ เจ้าคณะอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ประธานคณะทำงานพื้นที่ตำบลหนองไทร อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมเป็นกำลังใจและให้ข้อคิดเห็นแนวทางการทำงานเป็นภาคีเครือข่ายแบบการมีส่วนร่วม จากทุกภาคส่วน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยวัฒน์ คงทรัพย์ กรรมการบริหารและเลขานุการ ศูนย์ประสานงานเครื่อข่ายหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธ จังหวัดบุรีรัมย์ ปฏิบัติหน้าที่คณะทำงานและเลขานุการ ในการประชุม ได้สรุปผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ในระดับพื้นที่ มีข้อสังเกต พร้อมทั้งข้อเสนอแนะ และได้มีมติเห็นชอบร่วมกันในการดำเนินโครงการการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในระบบสุขภาพ เพื่อสังคมสุขภาวะผ่านกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพ
ในระดับ ท้องถิ่นหรือพื้นที่ตำบลคูตัน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ให้เป็นพื้นที่นำร่อง จังหวัดสุรินทร์ โดยผู้นำชุมชนจะนำโครงการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาชุมชน/หมู่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล นำไปบรรจุแผนพัฒนาตำบล โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในพื้นที่ ช่วยประสานงานกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการจัดตั้งกลไก
และขับเคลื่อนสุขภาวะองค์กรสงฆ์และชุมชนผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ตำบลคูตัน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ดังนี้
1. ร่วมกันจัดทำแผนกิจกรรมการทำงานเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ ผ่านกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับ ท้องถิ่นหรือพื้นที่ตำบลคูตัน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ที่เน้นการมีส่วนร่วมดำเนินการตามแผน โดยมีการประชุมร่วมกันทุกเดือนตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๔ และสรุปผลการดำเนินงานตามแบบฟอร์มที่กำหนดให้
2. ร่วมกันจัดทำโครงการเพื่อขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่กองทุนหลักประกันสุขภาพ องค์การบริหารส่วนตำบลคูตัน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ รวมถึงดำเนินการและจัดทำสรุปผลการดำเนินการตามที่กองทุนกำหนด
3. เข้าร่วมประชุม ร่วมกระบวนการพัฒนาศักยภาพกับคณะทำงานภาค (Node Core Team) และคณะทำงานส่วนกลาง ตามที่ได้รับการประสานงาน
4. ให้ความร่วมมือกับโครงการในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างดำเนินโครงการ
5. บันทึกข้อตกลงการขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่กองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลคูตัน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์
พร้อมกันนี้ ในที่ประชุมเห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธในระดับ ท้องถิ่นหรือพื้นที่ วัดอุดมพรหมวิหาร ตำบลคูตัน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ขึ้น เพื่อรับบทบาทหน้าที่เป็นองค์การขับเคลื่อน หนุนเสริมบทบาทวัดและตำบล ให้การขับเคลื่อนสุขภาวะองค์กรสงฆ์และชุมชนผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายของมหาเถรสมาคมและรัฐบาล เกิดความคล่องตัว และเต่อเนื่อง เป็นรูปธรรม โดยมีวัดร่วมกับตำบลเป็นศูนย์กลางการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์และประชาชน สู่เป้าหมายพระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข สืบต่อไป
Leave a Reply