คำว่า “โยม” มาจากไหน? เหตุใดพระสงฆ์จึงเรียกฆราวาสว่า “โยม”

คำว่า โยม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายว่า “โยม น. คำที่พระสงฆ์ใช้เรียกบิดามารดาของตน หรือเรียกผู้ใหญ่รุ่นราวคราวเดียวกับบิดามารดา; เป็นคำใช้แทนชื่อบิดามารดาของพระสงฆ์; เรียกผู้ที่เป็นบิดามารดาของผู้บวชว่า โยมพระ, เรียกผู้ที่แสดงตนว่าเป็นผู้อุปการะพระสงฆ์โดยเจาะจงว่า โยมอุปัฏฐาก; เรียกฆราวาสที่อยู่ปฏิบัติพระในวัดว่า โยมวัด; เรียกฆราวาสผู้อุปการะพระทั่ว ๆ ไปว่า โยมสงฆ์”

ทำไม โยม จึงเป็นคำสรรพนามสำหรับพระสงฆ์ใช้เรียกฆราวาส คำนี้มีที่มาจากไหน?

“โยม” ไม่ใช่ภาษาไทยแท้ แต่เป็นภาษาขมรโบราณ แปลว่า “ข้าทาส”

คําว่าโยม มีใช้ภาษาแต่โบราณ ปรากฏในศิลาจารึกเขมรโบราณสมัยก่อนพระนคร (พุทธศตวรรษที่ 6) แต่เดิมเขียนว่า “กฺญุํ” หมายถึง “คนรับใช้, ข้าทาส”

ดังปรากฏในศิลาจารึก K. 388 กล่าวว่า “เนะ คิ กฺยุํ วฺระ” แปลว่า “นี่คือข้าพระ” หรือในศิลาจารึก K. 600 กล่าวว่า “กฺญุํวฺระ” แปลว่า “ข้าพระ”

คําว่า “กฺญุํ” นี้ ในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนแปลงรูปเขียนจากพยัญชนะต้น ก ไปเป็นพยัญชนะต้น ข โดยเขียนว่า “ขฺญุํ” ซึ่งใช้กันต่อมาจนถึงภาษาเขมรปัจจุบัน ซึ่งยังคงความหมายว่า “คนรับใช้, ข้าทาส” เช่นเดิม

ดังปรากฏในศิลาจารึกเขมรสมัยพระนคร เช่น ศิลาจารึกอุบมุง (พ.ศ. 1536) กล่าวว่า “ขฺญุํ มน กลฺปนา เผฺล อาศฺรม ปศฺจิม” แปลว่า “ข้าที่กัลปนาผลไม้แด่อาศรมทิศตะวันตก”

อ. ศานติ ภักดีคำ สันนิษฐานว่า พระสงฆ์หรือพราหมณ์ของไทยเรียก “ข้าพระ” ในวัดว่า “ขฺญุํ” ซึ่งออกเสียงว่า “ขญม” เช่นเดียวกับคำยืมภาษาเขมรในภาษาไทยคำอื่น ๆ ที่ใช้สำหรับพระสงฆ์ เช่น ฉัน จังหัน ฯลฯ ดังปรากฏร่องรอยการใช้ในภาษาไทยถิ่นเหนือ มีคำว่า “ขะยม” หรือ “ขะโยม” ความหมายว่า “เด็กวัด”

และคำว่า “ขฺญุํ” ที่ออกเสียงว่า “ขญม” น่าจะกร่อนเสียงเหลือเพียงคำว่า “โยม” ในภาษาไทยปัจจุบัน โดยเปลี่ยนความหมายจาก “คนรับใช้, ข้าทาส” มาเป็น คำที่พระสงฆ์ใช้เรียกฆราวาส ตั้งแต่บิดามารดา ผู้อุปัฏฐาก ไปจนถึงผู้อุปการะพระทั่วไป

 

แหล่งข้อมูล . https://www.silpa-mag.com/
ศานติ ภักดีคำ. (2562). แลหลังคำเขมร-ไทย. กรุงเทพฯ : มติชน.

Leave a Reply