“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ฯ ” เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมพระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” วันที่ 23 ม.ค. 65 เวลา 10.00 น. ที่วัดธาตุประสิทธิ์ และหอประชุมโรงเรียนนาหว้าพิทยาคม ตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ สมาชิกกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และประชาชนชาวจังหวัดนครพนมและจังหวัดใกล้เคียง เฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมาก ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงทอดพระเนตรการแสดงฟ้อนรำบูชาพระธาตุประสิทธิ์ ทรงนมัสการองค์พระธาตุประสิทธิ์ และเสด็จไปยังศาลาโรงธรรม ทอดพระเนตรนิทรรศการตามรอยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการเสด็จมาทอดพระกฐินต้น ที่วัดธาตุประสิทธิ์ เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2515 และชมนิทรรศการความเป็นมาของกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จากนั้นทรงพระราชทานแบบลายผ้าลายใหม่ “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้แก่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศ และเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการกลุ่มทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ และนิทรรศการกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รวมทั้งทรงทอดพระเนตรการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 50 กลุ่ม ซึ่งมีกลุ่มผู้เฝ้ารับเสด็จขอพระราชทานคำแนะนำ จำนวน 35 กลุ่ม และกลุ่มถวายรายงานส่งการบ้านผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาตามพระวินิจฉัย จำนวน 15 กลุ่ม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2515 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินต้น ณ วัดธาตุประสิทธิ์ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม และได้มีราษฎร จำนวน 6 คน มารอรับเสด็จและทูลเกล้าฯ ถวายผ้าไหมแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งพระองค์รู้สึกพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากผ้าไหมมีลวดลายสวยงามและเป็นเอกลักษณ์แบบพื้นบ้าน ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีรับสั่งให้ราชเลขานุการในพระองค์ฯ พร้อมด้วยราชองครักษ์ฯ มาพบราษฎรทั้ง 6 คน ที่เคยถวายผ้าไหมในคราวนั้น โดยทรงรับสั่งให้ทอผ้าไหมเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วให้นำทูลเกล้าฯ ถวายเป็นประจำทุกปี และหลังจากนั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นการส่งเสริมการทอผ้าไหมโดยอาศัยหลักการที่ว่า “ฟื้นฟูการทอผ้าไหมในช่วงว่างจากการประกอบอาชีพทำนา” เพื่อเสริมรายได้ให้แก่ราษฎร ด้วยการเน้นการทอลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์พื้นบ้านอย่างแท้จริง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ต่อมามีราษฎรสนใจทอผ้าไหมมากขึ้น จึงได้จัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมในพระบรมราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งถือว่าเป็น “กลุ่มทอผ้าไหมแห่งแรกของประเทศ” และได้โปรดพระราชทานจัดให้มีการอบรมสมาชิกกลุ่มทอผ้าไหม เพื่อเพิ่มพูนความรู้ในเรื่องการทอผ้าไหมให้ได้มาตรฐาน ตลอดจนอุปกรณ์ในการทอผ้าไหมให้แก่สมาชิก พร้อมกับโปรดรับซื้อผ้าไหมที่สมาชิกทอขึ้นทุกปี ต่อมาพระองค์ท่านได้มีรับสั่งให้จัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมบ้านนาหว้า เป็น “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” เมื่อปี 2520 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2541 ทรงรับสั่งให้ตั้งชื่อกลุ่มทอผ้าไหมอำเภอนาหว้า ชื่อ “กลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” โดยกลุ่มทอผ้าดังกล่าวได้มีการสืบทอดภูมิปัญญาสู่ลูกหลาน มีการบรรจุไว้ในหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่นของโรงเรียนบ้านนาหว้า โรงเรียนนาหว้าพิทยาคม และโรงเรียนราษฎร์สามัคคี โดยมีสมาชิกกลุ่มในพื้นที่อำเภอนาหว้า ทั้งศูนย์หัตถกรรมและจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านวัดธาตุประสิทธิ์ และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ รวม 180 คน ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ อย่างต่อเนื่องทุกปี และมีกิจกรรมทอผ้าไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยสมาชิกได้ร่วมกันทอผ้าไหมเฉลิมพระเกียรติ ทูลเกล้าฯ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน “ในปี 2565 ได้มีการทอผ้าไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 90 พรรษา จำนวน 92 เมตร อันนับเป็นความภาคภูมิใจของราษฎรชาวอำเภอนาหว้า และชาวจังหวัดนครพนม” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้แก่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทรงได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานแก่ราษฎร อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย ซึ่งแต่ละลวดลายมีความหมายที่ลึกซึ้ง กล่าวคือ 1) ลาย S ที่ท้องผ้า หมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทยโดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ส่งออกแบบให้เว้นช่องว่างไว้เพื่อให้ราษฎรได้ร่วมถักทอลวดลายของตนเองลงในช่องว่าง เป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากแต่ละท้องถิ่น โดยลายขิดที่เป็นกรอบล้อมรอบตัว S นี้ หมายถึง ความจงรักภักดีที่ชาวไทยมีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ 2) ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึง ความรักของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่มีต่อปวงชนชาวไทย 3) ลาย S ประกอบกับลายขิดที่เชิงผ้า หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงปรารถนาให้คนไทยอยู่ดีมีสุข 4) ลายต้นสนที่เชิงผ้า หมายถึง พระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของโครงการศิลปาชีพฯ อันลายต้นสนนี้เป็นลวดลายพื้นถิ่นที่ถักทออยู่บนพื้นผ้าของบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม ที่ซึ่งเป็นจุดกำเนิดโครงการศิลปาชีพฯ และ 5) ลายหางนกยูงที่เชิงผ้า หมายถึง ความตั้งพระทัยมั่นของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของประชาชนชาวจังหวัดนครพนม ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมทักษะและต่อยอดแนวคิดในการพัฒนาลวดลายผ้าให้แก่สมาชิกกลุ่มทอผ้าไหม นอกจากนี้ ยังทรงเป็นแบบอย่างให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่มในการออกแบบเสื้อผ้าไทยให้ทันสมัย สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส อันเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย ก่อให้เกิดรายได้สู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน “กระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ภายใต้โครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ได้มีอาชีพ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย จำนวนผู้ชม : 549 Leave a ReplyFacebook Comments More Articles By the same author สมเด็จพระสังฆราชประทานกำลังใจ พระภิกษุสงฆ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ อุทัย มณี ธ.ค. 15, 2022 วันที่ 15 ธันวาคม 2565 เพจสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ได้โพสต์ข้อความว่า… ปลัดมท. เยี่ยมโคก หนอง นา บ้านสวนตาจุน ยกเป็น “คลังอาหาร” ของชุมชน อุทัย มณี ก.ย. 16, 2024 วันที่ 16 กันยายน 67 วานนี้ เวลา 16.30 น. ที่ศูนย์เรียนรู้ โคก หนอง… มท.1 เป็นประธานวางศิลาฤกษ์ “พระบรมธาตุศรีแสงธรรมมหาวชิรโมลี” วัดพระเสียดายแดด อุทัย มณี มี.ค. 29, 2023 วันที่ 29 มีนาคม 2566 (ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 5) เวลา 13:09 น. ที่วัดป่าศรีแสงธรรม… แชร์ว่อน!!! วัดประยูรห้ามพระเถระไม่ได้ฉีดวัคซีนร่วมอธิษฐานเข้าพรรษา ส่วนพระภิกษุ -สามเณร ให้ฟังจากเครื่องขยายเสียง อุทัย มณี ก.ค. 23, 2021 วันที่ 23 ก.ค. 64 วันนี้มีการแชร์คำประกาศคณะกรรมการป้องกันไวรัสโคโรน่า… 18 ส.ค.นี้! พระพรหมบัณฑิต เปิดห้อง’IMind’เรียนออนไลน์ ‘IBSCมจร’ อุทัย มณี ส.ค. 17, 2019 วันที่ 17 สิงหาคม 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร.… พระสงฆ์ 2,600 รูป เจริญพระพุทธมนต์สันติภาพนานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ ‘ในหลวง ร.10’ อุทัย มณี มิ.ย. 16, 2019 'มจร'ร่วมกับสมาคมสันติภาพโลก นิมนต์พระสงฆ์ 2,600 รูปจาก 15 ประเทศ… อธิบดีพช.ติดตามให้กำลังใจ ต้นแบบความสำเร็จการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” เพื่อพลิกฟื้นความยั่งยืนสู่ชุมชน อุทัย มณี ก.ย. 04, 2021 วันที่ 4 กันยายน 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน… พระมหานรินทร์ “จวก” สำนักงานพุทธเดือด!! กรณีห้องรับรองพระ “สนามบินสุวรรณภูมิ” อุทัย มณี ธ.ค. 16, 2024 วันที่ 16 ธ.ค. 67 พระมหานรินทร์ นรินฺโท ป.ธ.9 เจ้าอาวาสวัดไทยลาสเวกัส… เปิดใจ 2 นักธุรกิจ “อะไรคือแรงดลใจ” หันมาทำ โคก หนอง นา พร้อมเผย “ช่องทางธุรกิจ” อุทัย มณี ก.ย. 10, 2021 ปฎิเสธไม่ได้ว่า การผุดขึ้นโครงการโคกหนองนา ในห้วงเวลา… Related Articles From the same category พระไม่ทิ้งโยม! วัดหลวงพ่อวิริยังค์ตั้งโรงทานบรรเทาทุกขภัยโควิด-19 วันพุธ ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2563 เวลา 17.00 น. ที่ผ่านมา ที่วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนท์วิหาร… มหาดไทยคิกออฟ! “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่”แก้จน มหาดไทยคิกออฟ! "เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่"… “มหานิยม” จัดให้ “ปลดล๊อค” ที่ดินวัดสกลนคร หลังรอมา 43 ปี วันที่ 24 มกราคม 2568 ที่สำนักสงฆ์โพนม่วง บ้านโพนม่วง หมู่ 11 ตำบลโพธิไพศาล… โซเชียลระอุ!! ตั้งคำถามรองผอ.พศ. หลังเปิดประเด็นห้ามอวดอ้าง “วัตถุมงคล” เกินจริง ด้าน “พม.นรินทร์-สุรพศ” ร่วมแจม “สำนักพุทธ” ยุคนี้ไร้น้ำยา?? วันที่ 2 พฤษจิกายน 2567 กรณี นายบุญเชิด กิตติธรางกูร รองผู้อำนวยการ… เปิดประวัติ “อินทพร” ว่าที่ ผอ.พศ. คนใหม่!! วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี…
Leave a Reply