สังฆะประชา “ปันสุข”

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาขับรถมาจากกรุงเทพมหานครมาร่วมงานกิจกรรม “พลังบวร” ถอนกล้าดำนาบุญ โครงการสังฆะประชานำสุข คณะสงฆ์อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ณ สำนักปฎิบัติธรรมปาโมกข์ธรรมาราม โดยมี “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทยเดินทางมาเป็นประธาน “ถอนกล้า ดำนา”

“สังฆประชาปันสุข” หากแปลตามตัวก็คือ คณะสงฆ์แบ่งปันความสุขให้กับประชาชนนั่นแล เท่าที่คุยกับ “องค์ม่อน” พระครูปลัดบัณฑิต อินฺทเมธี  หัวแรงสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการนี้เล่าว่า เดิมอยู่วัดสังข์กระจาย เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาสังคมสงเคราะห์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องการกลับมาพัฒนาบ้านเกิด จึงขอที่ดินซึ่งเป็นมรดกของพ่อแม่ มาเต็มเติมสร้างความฝันด้วยกันทำ สำนักปฎิบัติธรรม เน้นอบรมสอนเยาวชน สังเคราะห์ประชาชน พร้อมกับพัฒนาที่ดินส่วนหนึ่งทำเป็น “สวนฮักนาแพง” เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ไว้ทำกิจกรรมร่วมกันของเด็ก ๆ และชาวบ้าน แล้วนำผลผลิตไปแจกจ่ายสังเคราะห์คนในหมู่บ้าน

“ตอนมาครั้งแรก คณะสงฆ์ท่านก็มองเราแปลก ๆ เพราะเราทำในสิ่งที่คณะสงฆ์ไม่เคยทำ ทั้งดึงเยาวชนมาอบรมแล้วให้เยาวชนนำสิ่งของออกไปเยี่ยมเยียนผู้สูงวัยบ้าง ผู้ป่วยติดเตียงบ้าง ในหมู่บ้าน นำผลหมากรากไม้ในสวนออกไปแจกจ่ายทั้งคณะสงฆ์และประชาชน ตอนหลัง ๆ คณะสงฆ์อาจเห็นว่าเราตั้งใจทำงานจริง จึงค่อย ๆ เขามาดู เข้ามาส่องสิ่งที่เราทำ และสุดท้าย จึงร่วมมือกันระดับอำเภอตั้งโครงการสังฆะประชาปันสุข ซึ่งเจ้าคณะอำเภอตอนนี้ถือว่าท่านเป็นพลังสำคัญให้กับโครงการนี้เลย..”

เดินดูป้ายนิทรรศการที่จัดไว้ มีหลากหลายกิจกรรมที่คณะสงฆ์อรัญประเทศทำ ทั้ง ธนาคารกายอุปกรณ์และธนาคารแพมเพิส,มีการให้พระธรรมวิทยากรออกไปสอนธรรมะ นำนักเรียนสวดมนต์ จัดตั้งธนาคารพันธุ์ข้าวโดยปีนี้มีวัดร่วมเข้าโครงการ 5 วัด ใช้ที่ดินของวัดปลูกข้าวรวมกันแล้วมากกว่า 100 ไร่ เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็ให้มีการ “เอามื้อสามัคคี” แบ่งปันที่เหลือก็เก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉินหรือสงเคราะห์ผู้ยากไร้ภายในชุมชนของตนเอง

“องค์ม่อน” บอกต่อว่า ในช่วงวิกฤติโควิด-19 คณะสงฆ์อรัญประเทศจัดตั้งโรงทานและนำอาหารไปแจกจ่ายสงเคราะห์ประชาชนตามบ้านบ้าง ตามโรงพยาบาล หรือแม้กระทั้งศูนย์พักพิง การเก็บข้าวเปลือกไว้ตรงนี้จะช่วยได้เยอะ เฉลี่ยค่าใช้จ่ายเฉพาะโรงทานยังเดียวหากคิดเป็นเงินหมดไปไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ซึ่งคณะสงฆ์เราร่วมกันระดุมทุน แล้วมาทำเป็นโรงทาน แจกจ่ายให้กับประชาชน บางคนเห็นพระออกไปแบบนี้ ซาบซึ้งน้ำตาไหล ร้องให้ ดีใจที่พระไม่ทิ้งโยม..

“จิตพระโพธิสัตว์” หัวใจสำคัญคือ การเมตตาและการสงเคราะห์ แบ่งปันเกื้อกูล หลักการนี้พระผู้ใหญ่บางรูปอาจจะไม่ซาบซึ้ง เพราะทั้งชีวิตตนเอง “เคยรับ” อย่างเดียวไม่เคยแบ่งปัน เมื่อเห็นพระรุ่นใหม่ ๆ ทำกิจกรรมแบบนี้อาจ “ขัดหู ขัดตา”  ซึ่งปัจจุบันมีพระสงฆ์จำนวนมากที่หันมาสงเคราะห์ประชาชน ช่วยเหลือประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งดีงามในพระพุทธศาสนา และเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยสนใจเข้าวัด เมื่อมีกิจกรรมในลักษณะนี้ก็เข้าวัด เห็นคุณค่าของพระสงฆ์ เห็นคุณค่าของวัด และรวมทั้งเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา เป็นที่พึ่งแก่ชุมชนหมู่บ้านและสังคมได้ มิใช่เมื่อมีภัย “ปิดประตูวัด” หนี ไม่ยอมช่วยเหลือสงเคราะห์ประชาชนอะไรเลย

“สังฆะประชาปันสุข” เป็นกิจกรรมเล็ก ๆ ที่ใช้หลัก “พลังบวร” ในการขับเคลื่อนกิจกรรมร่วมกันของคณะสงฆ์ ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งภาคเอกชนในอำเภออรัญประเทศ ที่คณะสงฆ์ควรนำแบบอย่างไปขยายผลและศึกษาดูงาน เพื่อนำไปเป็นแบบอย่างในการสร้างความสามัคคีและความสุขให้กับชุมชนหมู่บ้าน

ภายใน “สวนฮักนาแพง”  นอกจากมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ร้านกาแฟ สะพานไม้แล้ว มีแปลง“โคก หนอง นา” ขนาด 3 ไร่ ภายใต้การสนับสนุนของ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยด้วย  การเดินทางมาของปลัดกระทรวงมหาดไทยในครั้งนี้ มีสินค้าประเภทโอทอปจากชุมชนต่าง ๆ ผลผลิตจากโคก หนอง นา มาร่วมจำหน่ายด้วย ร่วมทั้งที่พลาดไม่ได้ คือนิทรรศการ “วิทยาลัยชุมชนสระแก้ว” ที่ถือว่าเป็นแม่งานร่วมจัดงานในครั้งนี้

“สุทธิพงษ์ จุลเจริญ”  ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นชาวจังหวัดตราด สมัยเรียนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาเป็นเด็กค่ายอาสาชนบท ถือว่าเป็นคน “ติดดิน” ชอบเข้าหาชาวบ้าน เท่าที่สังเกตใบหน้า เขามีความสุขทุกครั้งที่ได้คุยกับพระและชาวบ้าน การมาคราวนี้ก็เช่นกันทางคนจัดงานให้ลงไปไถนา ลงไปถอนกล้า ดำนา ทำหมด ไม่สนใจว่าจะเปลื้อนดินหรือโคลนหรือไม่ สิ่งที่ทำทุกอย่างคือ ความสุข

“สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” เคยบอกกับผู้เขียนไว้ว่า แม้จะเหนื่อยก็อย่าบอกว่าเหนื่อย ทำให้เต็มที่ คนให้เกียรติเชิญมาเรา เราต้องทำให้เต็มที่ พี่เป็นเด็กบ้านนอก เรื่องแบบนี้เราผ่านมาหมดแล้ว ยิ่งกับพระกับเจ้า เราต้องให้ความเคารพ เราต้องให้เกียรติท่าน ยิ่งตอนนี้เราเป็นผู้นำ ต้องทำเป็นแบบอย่าง!!

ไม่ว่าเป็นโครงการ “สังประชาปันสุข” ไม่ว่าจะเป็น “องค์ม่อน” หรือพระครูปลัดบัณฑิต อินฺทเมธี ไม่ว่าจะเป็น “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ”  ทั้งหมดคือ แบบอย่างที่คณะสงฆ์ ประชาชน เด็กและเยาวชนรวมทั้งสังคม..ควรนำมาเป็นแบบอย่าง??

Leave a Reply