”อานิสงส์น้ำเหนือ บึงบอระเพ็ดพ้นวิกฤติ” เมืองปากน้ำโพ พลิกวิกฤตเป็นโอกาส เจาะคันดิน พร่องน้ำเข้าบึงบอระเพ็ดให้ได้มากที่สุด

วันที่  6 ต.ค. 66 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการระดมสรรพกำลังเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญต่อแหล่งน้ำต้นทุนในการผลิตประปาหมู่บ้าน และระบบนิเวศที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดที่สำคัญของประเทศไทยในลุ่มเจ้าพระยา และลุ่มน้ำอื่น ๆ คือ พื้นที่ “บึงบอระเพ็ด” ซึ่งประสบกับสถานการณ์ภัยแล้งจนน้ำในบึงลดระดับลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยนายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ คนที่ 58 ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์เอลณีโญในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อติดตามสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคน้ำ เพื่อการประกอบอาชีพ ด้านการประมง ด้านปศุสัตว์ และการรักษาระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสูบน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับการผลิตประปาหมู่บ้านในบึงบอระเพ็ด ตั้งเป้ามีปริมาณน้ำรวม 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายในเดือนตุลาคม 2566 เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค และการรักษาระบบนิเวศ ต่อเนื่องจนถึงฤดูฝนในปี 2567

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากสภาวะอากาศที่ประเทศไทยตอนบนและพื้นที่ต่าง ๆ เกิดปริมาณฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำเหนือมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นและไหลลงมาบริเวณพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์จำนวนมาก โดยล่าสุด ตนได้รับรายงานจาก นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์  ถึงสถานการณ์น้ำเพื่อรับมืออุทกภัยและเตรียมการด้านภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยายังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำน่านมีระดับน้ำสูงกว่าน้ำในบึงบอระเพ็ด กระทั่งที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการโดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์มอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ได้หารือร่วมกับโครงการชลประทานนครสวรรค์ ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมอุตุวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมีมติที่ต้องเจาะคันกั้นน้ำที่ประตูระบายน้ำปากคลอง ตำบลเกรียงไกร อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อให้น้ำไหลเข้าสู่บึงบอระเพ็ดให้ได้มากที่สุด โดยได้ทำการเจาะคันดินครึ่งหนึ่ง เพื่อเร่งพร่องน้ำเข้าบึงบอระเพ็ด และได้สั่งให้สำนักงานประมงจังหวัดนครสวรรค์ ยกประตูสถานประมง (ประตูดำ) เพื่อให้น้ำไหลผ่านได้มากที่สุด ทั้งนี้ ได้กำชับว่าถ้าปริมาณน้ำในแม่น้ำน่านมีปริมาณลดต่ำหรือเท่ากับระดับน้ำในบึงบอระเพ็ด ให้ปิดประตูสถานประมง (ประตูดำ) พร้อมทั้งทำคันดินประตูระบายน้ำปากคลอง ตำบลเกรียงไกร อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อไม่ให้น้ำในบึงไหลย้อนกลับลงแม่น้ำน่านอีก

“จากสถานการณ์ผลกระทบของสภาวะอากาศในปัจจุบันที่พวกเรากำลังต้องเผชิญกับสภาวะโลกร้อน อากาศวิปริตแปรปรวน สะท้อนผ่านปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้ต้องเผชิญกับสภาวะฝนทิ้งช่วง โดย “บึงบอระเพ็ด” เป็นพื้นที่หนึ่งที่ต้องประสบสภาพปัญหาจากภาวะเอลนีโญอย่างรุนแรงมาก แต่ด้วยสภาวะอากาศที่ส่งผลทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นและไหลจากภาคเหนือลงมายังพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ จึงกลายเป็น “อานิสงส์” ที่ส่งผลดีกับการดูแลรักษาระบบนิเวศขนาดใหญ่ของประเทศไทยแห่งนี้ โดยต้องขอบคุณจังหวัดนครสวรรค์ที่มีความกล้าหาญในการช่วยกันปกป้องสิ่งที่เป็นมรดกอันล้ำค่าของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดนครสวรรค์และคนไทยทั้งประเทศ คือ “บึงบอระเพ็ด” ให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีและเหมาะสม มีความยั่งยืนในการที่จะรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ยังประโยชน์ให้กับพี่น้องชาวนครสวรรค์ และเป็นแหล่งสนับสนุนให้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในอนาคต อันเป็นการน้อมนำพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังพระบรมราชโองการ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ทำให้คนไทยทุกคนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “บึงบอระเพ็ด” ซึ่งเป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของภาคเหนือตอนล่าง ที่เป็นแหล่งรวมทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีคุณประโยชน์อันมหาศาลให้กับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งที่ผ่านมา พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ลงพื้นที่ตรวจติดตามการพัฒนาบึงบอระเพ็ดอย่างต่อเนื่อง ด้วยเพราะพระองค์ท่านทรงมีความห่วงใยในคุณภาพชีวิตของพสกนิกรไทย”” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวอีกว่า ช่วงเวลานี้เป็นเวลาสำคัญที่จะต้องนำน้ำในแม่น้ำน่านเข้าสู่บึงบอระเพ็ดให้มากที่สุด เพราะระดับน้ำในแม่น้ำน่านมีปริมาณมาก ทั้งนี้ นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งเป้าไว้ว่าประมาณ 6 วันหลังจากนี้จะสามารถเก็บน้ำได้ปริมาณที่ตั้งเป้าไว้ประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังได้เน้นย้ำพี่น้องชาวเกษตรกรว่าขอให้ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อรับมือกับสถานการณ์เอลนีโญ โดยเป้าหมายหลักคือ อุปโภค-บริโภค และใช้รักษาระบบนิเวศในบึงบอระเพ็ด ทั้งใน “ระยะสั้น” ด้วยการหลีกเลี่ยงใช้น้ำ ใช้น้ำเท่าที่จำเป็น และ “ระยะยาว” ด้วยการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ที่อาจจะไหลลงน้ำไปทำให้บึงบอระเพ็ดเสียหาย

 

“นอกจากนี้ ตนยังได้กำชับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์และนายอำเภอในพื้นที่ได้ร่วมกันรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนทุกครอบครัวได้หันมาร่วมกันคัดแยกขยะ จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ปลูกต้นไม้ ปลูกป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว ใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ตัดไม้ ทำลายป่า เพื่อไม่ทำให้สิ่งที่ไม่สมบูรณ์อยู่แล้วต้องเสียหายมากขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการเกิดเอลนีโญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งผลต่อระบบนิเวศของ “บึงบอระเพ็ด” รวมถึงทุกลำคลองของจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อทำให้บึงบอระเพ็ดเป็นมรดกทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็น “พื้นที่ชีวิต” เป็นสมบัติอันล้ำค่าให้กับลูกหลานและคนในชาติอย่างยั่งยืนสืบไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

Leave a Reply