วันที่ 2 มกราคม 2566 (เมื่อเร็วๆนี้) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2565 โดยมี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ชั้น 8 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ ZOOM) โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2565 ของคณะอนุกรรมการระดับนโยบาย 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ คณะอนุกรรมการด้านวิชาการส่งเสริม¬คุณธรรมในสังคมไทย คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์การส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทย และคณะอนุกรรมการด้านการประเมินชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม และการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566 – 2570 )
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะรองประธานคณะกรรมการคุณธรรมแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงาน การขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 1 ของคณะอนุกรรมการฯ ประกอบด้วย 1) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ได้ติดตามผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ จำนวน 110 หน่วยงาน พบว่าภาพรวมกิจกรรมมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณธรรมแก่บุคลากรและประชาชน รวมถึงกิจกรรมที่ปลูกฝังความจงรักภักดีและเทิดทูน 3 สถาบันหลัก และกิจกรรมรณรงค์คุณธรรม 4 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา โดยเฉพาะจิตอาสา พบว่าประชาชนได้มีส่วนร่วมทำความดีเพื่อสังคม อีกทั้งมีการดำเนินงานของหน่วยงานเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยมีหน่วยงานจัดอบรมและพัฒนาคุณธรรม 129,632 แห่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 359.90 และมีกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมรวม 18,399 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.90 ส่งผลให้มีผู้ได้รับการพัฒนาคุณธรรมจากการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว รวมประมาณ 26 ล้านคนทั่วประเทศ 2) คณะอนุกรรมการด้านวิชาการการส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทย ได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ การสำรวจดัชนีชี้วัดคุณธรรม (25 – 40 ปี) รวมถึงการจัดหลักสูตรวิทยากรส่งเสริมคุณธรรม การส่งเสริมบุคคลและองค์กรต้นแบบด้านคุณธรรม โครงการครอบครัวคุณธรรมพลังบวก การศึกษาระบบเครดิตทางสังคม การจัดงานสมัชชาคุณธรรมและตลาดนัดคุณธรรม 3) คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์การส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทย ดำเนินการรณรงค์เพื่อสร้างการรับรู้คุณธรรม 4 ประการ โดยนำศิลปิน ดารา คนรุ่นใหม่ ร่วมประชาสัมพันธ์ในกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งจัดประกวดคลิปวิดีโอและ Tiktok คุณธรรมสรรค์สร้างเพื่อสังคมไทย หัวข้อ “วินัย” เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่ใช้การสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวเพื่อจุดประกายความคิดในการร่วมกันผลิตสื่อที่ดี และขยายผลให้มีจำนวนมากขึ้น โดยได้รับเงินรางวัล พร้อมโล่รางวัลจากนายกรัฐมนตรีและเกียรติบัตรประกาศยกย่อง รวมมูลค่า 201,000 บาท รวมทั้งสิ้น 25 รางวัล 4) คณะอนุกรรมการด้านการประเมินชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม ได้รายงานผลการประเมินชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม 3 ระดับ ได้แก่ ระดับส่งเสริมคุณธรรม ระดับคุณธรรม และระดับคุณธรรมต้นแบบ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 พบว่า การประเมินทั้ง 3 ระดับ มีชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดผ่านการประเมินทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 39,102 แห่ง ผ่านการคัดเลือกเป็นชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรมต้นแบบโดดเด่น จำนวน 243 แห่ง โดยจะมีพิธีมอบรางวัลยกย่องจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
นายอิทธิพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยภายในปี พ.ศ. 2570 มีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยมีพฤติกรรมที่สะท้อนการมีคุณธรรมเพิ่มขึ้น มุ่งสู่สังคมคุณธรรมที่คนไทยอยู่ร่วมกันด้วยความสมานฉันท์ ภายใต้หลักธรรมทางศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิถีวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม และประเทศไทยปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นแนวทางส่งเสริมคุณธรรมนำสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยมีตัวชี้วัดดัชนีคุณธรรม 5 ประการ “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู” เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี จากชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม ทั่วประเทศ จำนวน 39,102 แห่ง และหน่วยงานภาครัฐน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการบริหารงาน มีค่า ITA ผ่านเกณฑ์การประเมิน ร้อยละ 85 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 โดยจะมีหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 6,147 หน่วยงาน นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายระดับชาติ เพื่อสร้างสังคมคุณธรรม ที่คนไทยเป็นคนดี คนเก่ง และเป็นคนที่มีคุณภาพมีพฤติกรรมที่สะท้อนการมีคุณธรรม “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู” น้อมนำหลักธรรมทางศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิถีวัฒนธรรมไทย และยึดมั่นในสถาบันหลักของชาติ
Leave a Reply