“เจ้าคณะภาค 6” หนุนเสริมการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปสงฆ์ ชี้งานพระศาสนา คืองานที่ต้องทำ ชู ‘พระธรรมจาริก” คือโมเดลรูปธรรมความสำเร็จในการทำงาน”

วันที่ 26 เมษายน 2565 เวลา 13.00 น. เมื่อวันที่ 24 ที่ผ่าน พระเทพเวที (พล อาภากโร ป.9) เจ้าคณะภาค 6 เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการคณะกรรมการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค 6 โดยมีเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเลขานุการ ซึ่งเป็นคณะกรรมการแต่ละฝ่าย พร้อมผู้อำนวยการพระพุทธศาสนาจังหวัดต่าง ๆ และเจ้าหน้าที่ ในเขตปกครองสงฆ์ภาค 6 จำนวน 290 รูป /คน เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน

พระเทพเวที กล่าวว่า การทำงานพระศาสนา คือ งานที่ต้องทำ แม้แผนปฏิรูปกิจการคณะสงฆ์ ฉบับที่ 1 จะผ่านไปแล้ว และจะมีแผนฯ ฉบับที่ 2 อันใกล้นี้ แต่การดำเนินงานก็ยังต้องทำงานกันต่อไปเพราะงานเหล่านี้ คืองานพระศาสนา โดยเฉพาะงานทั้ง 6 ด้านถือเป็นพันธกิจที่เราต้องดำเนินการ แต่ที่เรามีแผนปฏิรูปฯ ก็เพื่อให้การดำเนินงานมีความชัดเจนเป็นระบบ เป็นระเบียบ มีต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพราะในแผนจะกำหนดโครงการ/กิจกรรม เป้าหมาย ตัวชี้วัด พร้อมทรัพยากรในการดำเนินการอย่างชัดเจนเป็นระบบ

พระสงฆ์ไทยดำรงตนทั้งในฐานะพลเมืองของประเทศและนักบวชในพระพุทธศาสนา ต้องประพฤติและปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎหมายสงฆ์ กฎหมายบ้านเมือง และจารีตประเพณีสงฆ์ ตรงนี้เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ต้องให้ความสำคัญและช่วยกันกำกับดูแลปกครองสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมายสงฆ์ กฎหมายบ้านเมือง และจารีตประเพณีอันดีงามของคณะสงฆ์ไทยเรา

จากการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา เกิดรูปธรรมความสำเร็จมากมาย ต้องขออนุโมทนากับท่านเจ้าคณะจังหวัด และคณะกรรมการทุกท่านที่ถือเป็นกำลังสำคัญในการทำงานขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ที่ช่วยกันขับเคลื่อนงานตามนโยบายของมหาเถรสมาคม ซึ่งขอทบทวนและสรุปเป็นภาพรวมให้เห็นภาพร่วมกัน

1.ฝ่ายปกครอง ได้มีการผลักดันให้เกิด “ระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยพระวินยาธิการ พ.ศ. 2562 (ตำรวจพระ)” ตรงนี้คณะสงฆ์ภาค 6 เราในระดับจังหวัดต้องนำมาต่อยอดโดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพตำรวจพระของเราให้ท่านได้เป็นช่วยเป็นกำลังสำคัญในช่วยการปกครองสอดส่องดูแลพระภิกษุ สามเณรในเขตปกครองสงฆ์เราได้ประพฤติปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัยและกฎหมายสงฆ์ต้องขันน็อตตรงนี้ นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการในส่วนของการสำรวจฐานข้อมูล ( Data Base) พระภิกษุสามเณร เรียบร้อย (พศ.เก็บรวบรวมฐานข้อมูล) รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถศาสนบุคคลโดยการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในระบบสุขภาพเพื่อสังคมสุขภาวะผ่านกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ หรือการพัฒนาพระสงฆ์เข้าถึงกองทุนตำบล และการส่งเสริมและสนับสนุนให้วัด โรงเรียนพระปริยัติธรรม และสถาบันการศึกษาสงฆ์จัดตั้งศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธ

2.ฝ่ายศาสนศึกษา ได้มีการผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2562 กฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประกาศคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการศึกษาวิชาสามัญเพิ่มเติมของการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม และแผนกบาลี พ.ศ. 2565 ตรงนี้ระดับจังหวัดต้องชัดเจนโดยเฉพาะกลยุทธ์ในการจัดหานักเรียนมาเรียนและการกำหนดจำนวนขั้นต่ำซึ่งต้องดำเนินการให้ถึงที่สุดเพื่อเสนอจำนวนที่เหมาะสมต่อบอร์ดบริหารที่กำกับและดูแล

3.ฝ่ายเผยแผ่ ได้มีระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พ.ศ.2564 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ในส่วนของการดำเนินงานโครงการมีการยกระดับ “โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5” แผ่ขยายไปทั่วประเทศ มีคณะกรรมการขับเคลื่อน ติดตามและประเมินผลอย่างเป็นระบบ ปัจจุบัน มี พระเทพศาสนาภิบาล วัดไร่ขิง เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อน ในการดำเนินการขับเคลื่อนในพื้นที่ เช่นการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนภายใต้โครงการ “พระธรรมจาริ”เป็นโครงการริ่เริ่มโดย นายประสิทธิ ดิศวัฒน์ หัวหน้ากองสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ในยุคนั้น ในคราวที่ท่านอุปสมบทในวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม แล้วไปปรึกษากับ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ซึ่งสมเด็จ ฯ เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรท่านเห็นด้วย จึงเกิดโครงการนี้ขึ้นมาโครงการพระธรรมจาริกก่อกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2508 ก่อนยุคคอมมิวนิสต์เบ่งบาน และเป็นยุคที่ชาวเขาในบ้านเรานิยมปลูกฝิ่นพื่อเลี้ยงครอบครัว และทั้งไม่รู้จัก ใครคือประมุขของชาติโครงการพระธรรมจาริก ศูนย์กลางการบริหารภูมิภาคอยู่ที่วัดศรีโสดา จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนกลางบริหารหลักอยู่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม มีพระเทพกิตติเวที เป็นประธานพระธรรมจาริก

บทบาทการสร้างสังคมคุณธรรมบนพื้นที่สูง ดังกล่าวส่วนตัวถือว่าเป็นโมเดลในการทำงานเผยแผ่เป็นพุทธนวัตกรรม จะเห็นว่า การดำเนินงานโครงการธรรมจาริกตลอด 55 ปีเกิดประโยชน์มหาศาลทั้งในแง่ของความมั่นคงของชาติ และในการดึงคนมาเป็นพุทธมามกะ และรวมทั้งสอนอบรมให้ชาวเขามีความ “กตัญญูต่อแผ่นดินเกิดและถิ่นอาศัย” โดยผ่านการดำเนินงานของพระธรรมจาริก ท่านเจ้าคุณพระอุดมบัณฑิต รองเจ้าคณะภาค 6 ก็มีส่วนสำคัญในเรื่องนี้

4.ฝ่ายสาธารณูปการ ได้มีการดำเนินการให้มีการจัดทำบัญชีศาสนสมบัติ ผลักดันและดำเนินการโครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุขด้วยกิจกรรม 5 ส. (วัด 5 ส.) แผ่ขยายไปทั่วประเทศ มี พระธรรมรัตนาภรณ์ วัดเขียนเขต เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อน

5.ฝ่ายศึกษาสงเคราะห์ การยกระดับโรงเรียนการกุศลในวัด โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เพื่อการขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่สังคมตามโครงการขยายโอกาสทางการศึกษาสู่สังคม อาจจะต้องมีการสำรวจ จัดกลุ่ม กำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัดในระดับภาค และจังหวัดของเราให้ชัดเจน

6.ฝ่ายสาธารณะสงเคราะห์ ได้มีการผลักดันให้มีระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยกองทุนวัดช่วยวัด พ.ศ. 2562 การดำเนินงานได้ให้เกิดความร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่าย บนฐานของธรรมนูญสุขภาพสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2560 ภายใต้การสนับสนุนของภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย พศ.+สช.+สปสช.+สสส. + มจร+ มมร เช่น การอบรมพระคิลานุปัฏฐาก ,หนึ่งวัด หนึ่งรพสต., กองบุญสุขภาวะพระสงฆ์, ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพพระสงฆ์วิถีพุทธ, พระสงฆ์นักสาธารณะสงเคราะห์ ,กุฏิสงฆ์อาพาธ

นอกจากนี้ การทำงานเผยแผ่ที่มีส่วนในการบูรณาการร่วมกันในทุกฝ่าย ตัวอย่าง โครงการธรรมจาริกโมเดลที่มีการบูรณาการทุกฝ่ายเข้าร่วมกัน น่าจะเป็นโครงการแรก ๆ ของคณะสงฆ์ไทยที่ทำงานเผยแผ่และเกี่ยวข้องกับการฝ่ายต่าง ๆ เช่น การสอนศีลธรรมในโรงเรียนบนพื้นที่สูง, โครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำยุวพุทธธรรมจาริก,โครงการสอบธรรมศึกษาสนามหลวง โครงการ ปลูกต้นกล้าในนาบุญ ,บวชภาคฤดูร้อนชาวเขา หรือแม้กระทั้งโครงการ ธรรมะห่มดอย เป็นต้น

การดำเนินงานตามแผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาต้องขอขอบคุณและอนุโมทนากับทุกท่านที่ได้ช่วยกันขับเคลื่อนงานของคณะสงฆ์ทั้ง 6+ 1 คือการพัฒนาพุทธมณฑลจังหวัดต่าง ๆ ด้วย ความชัดเจนในการขับเคลื่อนงานด้านสงเคราะห์และเผยแผ่ต่อจากผม ทุกท่านจะได้รับฟังการบรรยายหลักการ ข้อคิด ความเห็นซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินงานปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาด้านสาธารณสงเคราะห์จากพระมงคลวชิรากร เลขานุการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม และด้านการเผยแผ่จากพระครูโสภณปริยัตยานุกิจ เลขานุการฝ่ายเผยแผ่ของมหาเถรสมาคมต่อไป

สำคัญที่สุด การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนําเสนอแนวทางการ ดําเนินงานการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ภาค 6 จากเจ้าคณะจังหวัดหรือผู้แทนทุกจังหวัด โดยมี พระสุธีรัตนบัณฑิต รศ.ดร. ผู้อํานวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มจร เป็นผู้ดําเนินรายการ ท่านจะได้ช่วยเติมเต็มข้อคิดความเห็นกำหนดเป็นแนวทางร่วมกัน และท้ายที่สุดการปัจฉิมนิเทศปิดการประชุมโดย พระราชปัญญาภรณ์ รองเจ้าคณะภาค 6 และ พระเทพเวทีกล่าวสรุปท้าย

Leave a Reply