กระทรวงมหาดไทย เดินหน้าขับเคลื่อน “ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน” ครบทุกครัวเรือนทั่วประเทศ ภายใน 30 พ.ย. 65 นี้ พร้อมเดินหน้าแผนปฏิบัติการ 100 วัน มุ่งส่งเสริมการดำเนินการอย่างต่อเนื่องครอบคลุมทุกมิติ
เมื่อวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม 2565 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตนได้มอบหมายให้นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ร่วมกับ นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทย ผู้แทนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) คณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม ท้องถิ่นจังหวัดลำพูน ท้องถิ่นจังหวัดอำนาจเจริญ ท้องถิ่นจังหวัดเลย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน เพื่อดำเนินโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน มีอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นประธาน โดยได้เรียนเชิญ นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการนโยบายเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ศาสตราจารย์ ดร. ชนาธิป ผาริโน รองผู้อำนวยการ สกสว. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมเป็นกรรมการ ตั้งเป้าหมายให้ทุกจังหวัดมีการจัดทำถังขยะเปียกในทุกครัวเรือน โดยในขั้นตอนต่อไป จะเป็นการทวนสอบเพื่อรับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะต้องมีการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เป็นรายเดือน ในห้วงเวลา 7 ปี ใน 4 จังหวัดนำร่อง คือ จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดลำพูน จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดเลย พร้อมทั้งแต่งตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อนครอบคลุมทุกมิติการดำเนินการ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านบูรณาการขับเคลื่อนในพื้นที่ คณะอนุกรรมการด้านการทวนสอบและซื้อขายคาร์บอนเครดิต คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ คณะอนุกรรมการด้านระบบสารสนเทศ และคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
“การดำเนินโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน เป็นการตอบสนองต่อนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ตามถ้อยแถลงต่อที่ประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ที่ว่า “ประเทศไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการฯ ดังกล่าว ประสบความสำเร็จ เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จึงได้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ 1) แผนปฏิบัติการ 100 วัน (1 ตุลาคม 2565 – 8 มกราคม 2566) และ 2) แผนปฏิบัติการต่อเนื่อง ซึ่งมีเป้าหมายให้ทุกจังหวัดจัดทำถังขยะเปียกฯ ครบทุกครัวเรือน ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 และสำหรับจังหวัดนำร่อง 4 จังหวัด คือ จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดลำพูน จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดเลย มีความพร้อมในการทวนสอบและซื้อขายคาร์บอนเครดิตในเดือนพฤศจิกายน 2565 และกำหนดให้ทุกจังหวัดมีความพร้อมในการทวนสอบรอบถัดไปในปี 2566
“สำหรับแผนปฏิบัติการ 100 วัน ประกอบด้วย (1) ให้จังหวัดกำหนดแผนปฏิบัติการจัดทำถังขยะเปียกฯ ครบทุกครัวเรือน ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 (2) กำหนดเป้าหมายความพร้อมในการทวนสอบของจังหวัด (3) ให้มีการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ กระตุ้น หรือสร้างความตื่นตัวในจังหวัด (4) ให้มีการลงพื้นที่เพื่อติดตาม ตรวจนิเทศ หรือจัดกิจกรรมในพื้นที่ให้แก่ผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในแต่ละเดือน (5) ให้มีการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ กระตุ้น หรือสร้างความตื่นตัวแก่สาธารณชนเป็นวงกว้าง รวมกับภาครัฐหรืเอกชนในส่วนกลาง (6) ให้มีการนำเสนอผลงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จตามโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนใน website กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทุกเดือนทุกจังหวัด (7) ให้มีการนำเสนอผลงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จตามโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนในสื่อต่าง ๆ เป็นประจำทุกเดือน (8) ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนเพื่อเผยแพร่ผ่านภาคีเครือข่ายสื่อสารมวลชนทั้งส่วนกลาง และสื่อในพื้นที่ทุกช่องทาง (9) จัดตั้งศูนย์ข้อมูลประชาสัมพันธ์โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ (10) กำหนดการจัดทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อน อยู่ในตัวชี้วัดแผนจังหวัดสะอาด ประจำปี 2566 และตัวชี้วัดของท้องถิ่นจังหวัด” อธิบดี สถ. กล่าวในช่วงท้าย
Leave a Reply