ผู้ว่าฯ สุราษฎร์ ชู “โคก หนอง นา” ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 สร้างชุมชนเข้มแข็ง

ผู้ว่าฯ สุราษฎร์ ชู “โคก หนอง นา” ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 สร้าง ชุมชนเข้มแข็งและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ด้านสำนักงบฯ เขต 4 ชี้เป็นโครงการที่คุ้มค่า เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
เมื่อวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม 2565 เวลา 16.00 น. นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยถึง ผลการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดำเนินการในพื้นที่ 11 อำเภอ

นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า พื้นที่ 11 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี พุนพิน คีรีรัฐนิคม พระแสง เวียงสระ พนม ท่าชนะ เคียนซา ท่าฉาง เกาะพะงัน และอำเภอวิภาวดี ซึ่งเป็นพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับครัวเรือน (Household Lab Model for quality of life : HLM) ทั้งหมดจำนวน 115 แปลง แบ่งเป็น พื้นที่ขนาด 1 ไร่ จำนวน 36 แปลง และพื้นที่ขนาด 3 ไร่ จำนวน 79 แปลง ปัจจุบันได้ดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบโคก หนอง นา และเบิกจ่ายงบประมาณเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขยายผลการดำเนินงาน โดยการพัฒนายกระดับศักยภาพของแปลงโคก หนอง นา จากระดับ C (ปรับตัวสู่การพัฒนา) เป็นระดับ B (เสริมสร้างสู่ต้นแบบ) และจากระดับ B เป็นระดับ A (ต้นแบบศูนย์เรียนรู้) เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่และจังหวัดข้างเคียง พร้อมเป็นพื้นที่แห่งการ “แบ่งปัน” โดยการนำผลผลิตจากแปลงโคก หนอง นา ไปแจกจ่าย ให้แก่ครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นการเยียวยา ช่วยเหลือ เสริมสร้างสังคมไทยที่เต็มไปด้วยความรักความสามัคคี ทั้งนี้ ผลการประเมินศักยภาพพื้นที่แปลงโคก หนอง นา ปัจจุบันอยู่ในระดับ A จำนวน 81 แปลง คิดเป็นร้อยละ 70.43 ระดับ B จำนวน 27 แปลง คิดเป็นร้อยละ 23.48 และระดับ C จำนวน 7 แปลง คิดเป็นร้อยละ 6.09

นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวต่อว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้กำหนดรูปแบบการพัฒนาพื้นที่แปลง โดยให้เจ้าของแปลง เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน เครือข่ายโคก หนอง นา ของอำเภอ/จังหวัด และภาคีเครือข่าย ร่วมวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคของแต่ละแปลงและจัดทำแผนการขับเคลื่อนและแผนการพัฒนาพื้นที่แปลง โคก หนอง นา จากระดับ C เป็นระดับ B และจากระดับ B เป็นระดับ A ผ่านกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ในลักษณะหมุนเวียนกันอย่างต่อเนื่อง พร้อมการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ โดยส่งเสริมพื้นที่แปลงโคก หนอง นา ทุกแปลง ให้มีการรวมกลุ่มผลิต แปรรูป จำหน่าย และนำผลิตภัณฑ์ขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP การเชื่อมโยงผลผลิตจากแปลงโคก หนอง นา โดยให้บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีสุราษฎร์ธานี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ส่งเสริมการกระจายสินค้าในช่องทางการตลาดระดับต่าง ๆ อาทิ ตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้ ตลาดนัดชุมชน รวมถึงตลาดออนไลน์ (E-commerce) และกลุ่มตลาดกลาง (โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ) เพื่อนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างความแข็งแรงให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง เป็นการ Change for Good ที่มีสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้

นายพิชัย มณีลาภ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า นายกรองศักด์ โอยสวัสดิ์ พัฒนาการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มอบหมายให้ นำคณะเจ้าหน้าที่จากสำนักงานงบประมาณเขตที่ 4 และเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาชุมชนสุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่แปลงโคก หนอง นา และให้ข้อมูลในการติดตามผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายงบประมาณ (เงินกู้) ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา”

นางปวิตรา ธรรมศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานงบประมาณเขตที่ 4 กล่าวว่า สำนักงบประมาณได้เห็นความสำคัญของการนำเงินกู้ไปใช้ จึงได้กำหนดให้มีการติดตามผลการดำเนินงาน และการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อให้ทราบถึงความสำเร็จของโครงการ ปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไข โดยวันนี้ได้ลงพื้นที่แปลงของนายอนันต์ เจริญมี หมู่ที่ 3 ตำบลเขาหัวควาย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแปลงโคก หนอง นา ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ ผลการดำเนินงานปัจจุบันได้ทำปุ๋ยหมักและปุ๋ยอินทรีย์โดยใช้วัสดุธรรมชาติและมีการดัดแปลงสูตรให้เหมาะสมกับสภาพแต่ละพื้นที่ เพาะพันธุ์พืชและขยายพันธุ์พืชเอง เป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์ ได้ปลูกและขยายเมล็ดพันธุ์พระราชทาน (ถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธร เบอร์ 1) มีการปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกไม้ 5 ระดับ ทำนาบัว เลี้ยงไก่และปลาดุก เพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีน มีการแปรรูปผลผลิตจากพื้นที่แปลง เช่น กล้วยกรอบแก้ว ขนมทองม้วนไข่เค็ม ขนมครองแครงกรอบ ปลาดุกร้า ปลาดุกแดดเดียว เป็นต้น มีแหล่งจำหน่ายที่ต่อเนื่อง สร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดี โดยในช่วงที่ผ่านมามีหน่วยงานต่าง ๆ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนในพื้นที่ และผู้สนใจเข้ามาศึกษาและดูงานอยู่เสมอ และได้แบ่งปันเกื้อกูลให้กับครัวเรือนเปราะบางในชุมชน ด้วยการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ผักนำไปปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน การแบ่งปันผลผลิตจากแปลงโคก หนอง นา และการให้ความรู้ในการประกอบอาชีพ ซึ่งความสำเร็จของโครงการนี้ เกิดจากการทำงานด้วย “กลไก 3 5 7” (3 ระดับ 5 กลไก และ 7 ภาคีเครือข่าย คือ ภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคศาสนา ภาคเอกชน และภาคสื่อสารมวลชน) พร้อมกับเทคนิค “2จ 1ล” (มีใจ จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และลงมือปฏิบัติจริง) มาใช้ในการปฏิบัติ จึงส่งผลให้เกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้หรือแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต มีขีดความสามารถในการส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนในชุมชนเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่มีศักยภาพและความสามารถในการขยายผลการปฏิบัติสู่พื้นที่โดยรอบ

นางปวิตรา ธรรมศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานงบประมาณเขตที่ 4 ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” เป็นโครงการที่ใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด และช่วยแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้อย่างแท้จริง

Leave a Reply