“ผู้เขียน” ได้รับคำชวนจาก พระครูสมุห์สนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ผอ.สำนักสื่อสารองค์กรของวัดพระธรรมกาย ซึ่งเราทั้งคู่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกสาขา “สันติศึกษา” มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยด้วยกัน ชวนไปร่วมประชุม “วิสาขบูชาโลก” ที่ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 5 -10 พฤษภาคมนี้
หลายปีมานี้คณะสงฆ์เวียดนามเข้ามามีบทบาทในเวทีโลกที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามาก ยิ่งการศึกษายิ่งก้าวไกล โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีพระนิสิต ภิกษุณีและฆราวาส จากประเทศเวียดนามมาศึกษาต่อหลายร้อยรูป
ทั้งกิจการพระพุทธศาสนา กิจการคณะสงฆ์ และการศึกษาของคณะสงฆ์เวียดนาม เติบโตแบบ “ก้าวกระโดด” ประเทศเวียดนามไม่มีศาสนาประจำชาติ โดยรัฐธรรมนูญให้อิสระในการเลือกนับถือศาสนา
จากข้อมูลของสมัชชาสงฆ์เวียดนามเมื่อปี พ.ศ. 2563 ระบุว่า ประเทศเวียดนาม ปัจจุบันมีคนนับถือพระพุทธศาสนามากกว่า 45 ล้านคน จากประชากรประมาณ 98 ล้านคน ซึ่งข้อมูลนี้คงหมายรวมถึงการนับถือแบบความเชื่อ “แบบดั้งเดิม” ผสมเข้ามาด้วย ส่วนพระภิกษุ และภิกษุณีมีทั้งหมด 44,498 รูป มีวัดมากกว่า 14,775 วัด คณะสงฆ์เวียดนามมีนิกายหลัก 3 นิกาย คือ มหายาน เถรวาท และ นิกายแบบผสมผสานระหว่างมหายานกับเถรวาท ในส่วนของนิกายมหายานนับว่ามีความโดดเด่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีภิกษุณี หรือ หญิงที่บวชเป็นพระมากที่สุดในโลกราว 22,000 รูป ทั้งพระภิกษุและภิกษุณีได้รับการศึกษาทางด้านศาสนาจากมหาวิทยาลัย 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยดึกซู มหาวิทยาลัยเว้เหงียม และ มหาวิทยาลัยหว่านฮั่งห์ โดยเฉพาะ มหาวิทยาลัยวันฮั่งห์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งพระพุทธศาสนาจัดตั้งขึ้นโดยสหพุทธจักรเวียดนามและได้รับการรับรองจากรัฐบาลเวียดนาม เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2507 ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยฮันห์ ทำการเปิดสอน 4 คณะคือ คณะพุทธศาสตร์และบูรพาวิทยา คณะอักษรศาสตร์ คณะมนุษย์และสังคมศาสตร์ และคณะภาษาศาสตร์ เฉพาะ คณะพุทธศาสตร์และบูรพาวิทยา แบ่งออกเป็น 9 ภาควิชา คือ ภาควิชาพุทธปรัชญา วรรณคดีพุทธศาสนา พุทธศาสนประวัติ พุทธศาสนาทั่วไป พุทธศาสนาในเวียดนาม ปรัชญาตะวันออก ปรัชญาอินเดีย ปรัชญาจีน และปรัชญาตะวันตก
การประชุมวิสาขบูชาโลกประเทศเวียดนามครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่ 4 หลังจากประชุมมาแล้ว 3 ครั้งคือปี พ.ศ. 2551, 2557 และ พ.ศ. 2562
สำหรับสถานที่จัดประชุมปีนี้ได้แก่ “วัดบ๋าหว่าง” ซึ่งสร้างขึ้นบนเนินเขาใน อ.อวงบี๊ จ.กว๋างนิญ วัดแห่งนี้เคยเป็นวัดร้างอยู่ห้วงเวลาหนึ่งและได้บูรณะขึ้นมาใหม่ในปีพ.ศ.2554 ซึ่งตอนนั้นมีเพียงพระพุทธรูปและเพิงมุงหลังคาแคบ ๆ แม้ที่จำวัดก็ไม่มี ปัจจุบันมีพระภิกษุ 70 รูป ภิกษุณี 70 รูป มีอุบาสกอุบาสิกา 500 คน และอาสาสมัครงานวัดอีก 500 คน ตั้งอยู่บนเนินเขาประมาณ 800 ไร่ พื้นที่วัดเป็นภูเขาทั้งลูก ภายในพื้นที่วัดมีทั้งน้ำตก ไม้ใหญ่ และเนินเขาสวยงาม เจ้าอาวาสชื่อ พระทีก ตรูก ท้าย มีน (Thich Truc Thai Minh) อายุเพียง 55 ปี พรรษา 22 ดำรงตำตำแหน่งประธานพระธรรมทูตสายต่างประเทศ และ แม้วัดจะเป็นวัดเพิ่งบูรณะใหม่ แต่ก็กลายเป็นหนึ่งในวัดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเวียดนาม ทั้งยังมีสาขาอีก 30 กว่าแห่งทั่วโลก
ที่เล่ามานี้พอเป็น “น้ำจิ้ม” ก่อนไปประชุมงานวิสาขบูชาโลกที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งจะเดินทางไประหว่างวันที่ 5 -10 พฤษภาคมนี้
ส่วนประเทศไทยไม่รู้รายละเอียดว่าการจัดงานวิสาขบูชาโลก มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง..แต่คิดว่าคงไม่ทำให้ประเทศซึ่งชาวพุทธนานาชาติยกย่องให้ว่าเป็น “ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก” เสียชื่อหรอกกระมัง!! ไม่อย่างนั้นคนมันจะหัวเราะเยาะเย้ยได้ว่าประเทศไทยเป็นได้แค่ ศูนย์กลางพุทธศาสนาโลกทิพย์??
Leave a Reply