พระสุวรรณมุนี หรือที่รู้จักกันในนาม “หลวงพ่อฉุย สุขภิกขุ” เป็นชาวเพชรบุรีโดยกำเนิด เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๑ ที่บ้านสะพานช้าง ต.มะม่วง อ.คลองกระแชง จ.เพชรบุรี
หลวงพ่อฉุย เป็นพระเกจิชื่อดังแห่งจังหวัดเพชรบุรี เป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน วัตถุมงคลของท่านล้วนเป็นที่นิยมแสวงหา โดยเฉพาะ “เหรียญรุ่นแรก” ที่สร้าง พ.ศ. ๒๔๕๖ นั้น ได้รับการยกย่องให้เป็นเหรียญอันดับหนึ่งของจังหวัด และหนึ่งในเบญจภาคีเหรียญ ที่มีค่านิยมสูงในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องและเหรียญคณาจารย์ทั่วประเทศ
หลวพ่อฉุยเป็นบุตรคนโตในจำนวน ๕ คน ของ นายนง และ นางนก ยังอยู่ดี เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ พ.ศ.๒๔๒๑ โดยมี พระพิศาลสมณกิจ (สิน) เจ้าอาวาสวัดคงคาราม เป็นพระอุปัชฌาย์
ปลัดอบ วัดคงคาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ อาจารย์ครุฑ วัดมหาธาตุ เป็นอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “สุขภิกขุ” ท่านจำพรรษาที่วัดคงคารามยาวนานถึง ๔๕ พรรษา จวบจนมรณภาพในปี พ.ศ.๒๔๖๖
หลวงพ่อฉุย ทำการบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างความเจริญแก่วัดคงคารามจนเป็นที่รู้จักเลื่องลือ พ.ศ.๒๔๕๐ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เป็นรองเจ้าคณะ และเลื่อนเป็นเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี พ.ศ.๒๔๖๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นโท ขึ้นเป็นที่ “พระสุวรรณมุณี นรสีห์ธรรมทายาท สังฆปาโมกน์”
สำหรับ “เหรียญปั้มรูปเหมือนหลวงพ่อฉุย รุ่นแรก ปี ๒๔๖๕” นั้น ท่านสร้างเพื่อแจกแก่พ่อค้าประชาชนที่มีจิตศรัทธาบริจาคปัจจัยร่วมสร้าง “มณฑปประดิษฐานพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา” ที่วัดคงคาราม หลังจากนั้นได้เคยมีการออกเหรียญอีกครั้งใน พ.ศ.๒๔๖๗ โดย อาจารย์มงคล วัดคงคาราม ซึ่งลักษณะของเหรียญจะเหมือนกับเหรียญรุ่นแรก แต่แตกต่างกันที่ปี พ.ศ.ที่จัดสร้าง และพระพักตร์ที่ค่อนข้างใหญ่
ในครั้งนั้นได้จัดสร้างพร้อมกับรูปหล่อลอยองค์ของหลวงพ่อฉุย เพื่อแจกในงานฌาปนกิจศพหลวงพ่อในปีเดียวกันนั้นเอง ดังนั้น เหรียญปั้มรูปเหมือนหลวงพ่อฉุย พ.ศ. ๒๔๖๕ จึงนับเป็นเหรียญรุ่นแรกและรุ่นเดียวที่ทันท่านปลุกเสกก่อนที่จะมรณภาพ
เหรียญปั้มรูปเหมือนหลวงพ่อฉุย รุ่นแรก พ.ศ. ๒๔๖๕ เป็นเหรียญรูปไข่ที่มีขนาดเขื่องกว่าเหรียญอื่นๆ เล็กน้อย ลักษณะหูเชื่อมด้วยน้ำประสานเงิน จัดสร้างโดยฝีมือช่างหลวง จึงมีความประณีต อ่อนช้อย และงดงาม สร้างเป็นเนื้อทองแดงเพียงเนื้อเดียว ด้านหน้า รอบเหรียญแกะลวดลายดอกไม้และโบประดับ โดยได้แบบอย่างมาจาก “เหรียญสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส” ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อฉุยครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ภายในโบจารึกอักษรไทยด้านบนซ้ายว่า “พ.ศ.”
ด้านบนขวาว่า “๖๕” ด้านล่างซ้ายว่า “พระสุวร” และด้านล่างขวาว่า “รณมุณี” ส่วน ด้านหลัง เป็น “ยันต์กระบองไขว้จำหลัก” บรรจุพระคาถาหัวใจพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ “นะ โม พุท ธา ยะ” ด้านหลังจะมี ๒ บล็อก คือ “โมมีไส้” และ “โมไม่มีไส้” “โม” หมายถึง อักขระขอมภาษาบาลี ในยันต์กระบองไขว้ เป็นอักขระในแถวที่สองทางซ้ายมือของเรา ซึ่งทันท่านทั้งสองบล็อก แต่เนื่องจากสร้างถึง ๕,๐๐๐ เหรียญ จึงเกิดบล็อกด้านหลังแตก ต้องแกะเปลี่ยนบล็อก
ต่อมาเกิดมีการสร้าง “เหรียญล้อรุ่นแรก” ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดย อาจารย์แฉ่ง เหรียญจะมีลักษณะเหมือนกับรุ่นแรกทุกประการ แม้แต่ปี พ.ศ.ที่สร้าง เอกลักษณ์สำคัญในการดูว่าเป็นรุ่นแรกและแท้แน่นอนนั้น ให้สังเกต ´ดอกไม้เหนือศีรษะท่าน´ จะมีเกสรเป็นเส้นเต็มกลีบดอก กลางดอกนูนเต็ม หากเป็นรุ่นอาจารย์แฉ่ง กลางดอกจะกลวงโบ๋ เกสรไม่กระจายเต็มกลีบดอก
นอกจากนี้ ให้ดู “ก้านรวงข้าว” ที่ยื่นออกจากโบทั้งซ้ายและขวา ตัวก้านจะมีลักษณะเหมือนเม็ดไข่ปลาเรียงติดๆ กันเป็นตัวก้าน หากเป็นรุ่นสาม (รุ่นอาจารย์แฉ่ง) ก้านจะเป็นเส้นตรงธรรมดา ไม่ปรากฏเป็นเม็ดไข่ปลา และที่ “ตัวกนก” ที่ล้อมรอบเหรียญ จะใหญ่หนาทึบแต่มีความอ่อนช้อย
สำหรับภาพ “เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อฉุยวัดคงคาราม เพชรบุรี พ. ศ.๒๔๖๕ เนื้อทองคำ ” เป็นของ นาย กิตติ พจนานุภาพ นายกสมาคมจิตรางค์คนางค์อนุรักษ์พระเครื่องไทย ที่สำคัญ คือ นายกฯ กิตติ ได้สมบัติของ “เฮียเจี้ย” พ่อเกิดเกล้ามาทั้งหมด จึงกลายเป็นผู้สะสมพระเครื่องหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ที่ขึ้นชื่อว่ามากที่สุด จนได้ฉายาว่า “นายกฯ กิตติ เจ้ากรมพระหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่”
นายกฯ กิตติ บอกว่า สมัยรุ่นๆ พ่อเป็นคนชอบทำบุญ และ เช่าพระสร้างใหม่ทุกวัดทุกสำนัก โดยจะเช่าเนื้อทองคำ เช่าโดยไม่ได้คิดอะไร พร้อมแนะนำว่า ด้วยความนิยมของเหรียญรุ่นดังกล่าวจึงมีการทำออกมาปลอมขายจำนวนมากเช่นกันและสนนราคาอยู่ที่ หลักแสน หลักล้าน สำหรับผู้ที่สนใจพระเครื่องสาย หลวงปู่ทิม อิสริโก และ สายอื่นๆ เข้าไปเยื่ยมชมข้อมูลได้ที่ https://www.facebook.com/ศูนย์พระเครื่องหลวงปู่ทิมอิสริโก-253945151879624/?notif_id=1532486883571003¬if_t=page_fan
Leave a Reply