“อธิการบดี มจร” หวั่น AI เป็นภัยคุกคาม เร่งอัพสกิลบุคลากรด้านไอทีอาทิ “ChatGPT”

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 พระธรรมวัชรบัณฑิต,ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ได้มอบนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ “พลิกโฉมมหาจุฬาฯ มหาวิทยาลัยดิจิทัล” แก่บุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัย 3 ประเด็นด้วยกันคือ 1.สถานการณ์ปัจจุบันกับบทบาทของสถาบันอุดมศึกษา 2.ธรรมชาติของสถาบันอุดมศึกษากับความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลไปด้วยกันได้หรือไม่ 3.นโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ของ มจร

สำหรับประเด็นสถานการณ์ปัจจุบันโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) การสื่อสารออนไลน์ทุกรูปแบบส่งผลให้คนทั้งโลกเป็นผู้สื่อข่าวอย่างไม่เป็นทางการทั้งโลก อันมีผลต่อสถานบันอุดมศึกษา และวิเคราะห์ดูแล้วน่าจะเป็นภัยคุกครามมากกว่า ต้องทำให้สถานบันอุดมศึกษาโดยเฉพาะ มจร จะต้องปรับเปลี่ยนเรียนรู้ ต้องขยันเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว ก็ต้องดูว่าองค์ประกอบของการสื่อสารมีอะไรบ้าง (SMCR) ดังนั้นจึงมอบหมายให้บุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นแม่งานในเรื่องนี้

พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี,ผศ.ดร.อาจารย์ คณะพุทธศาสตร์ มจร ได้เข้าร่วมการมอบนโยบายในครั้งนี้ด้วยได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Khwanchai Kittimetee” ความว่า “เป็นตัวแทนคณาจารย์คณะพุทธศาสตร์ อบรม MOOC ใน 2 วัน (10-11 กุมภาพันธ์ 2566) เป็นการ upskill การเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกันระหว่าง content creator กับ สื่อออนไลน์ที่อาศัยเครื่องมือที่ถูกออกแบบมาอย่างหลากหลาย ไล่ตั้งแต่ ChatGPT, metaverse, botnoi, streamlaps, loomai,kindmaster, iriun ฯลฯ และอีกมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ เหมือนที่เขาเปรียบไว้ การศึกษาก็เหมือนพายเรือกลางน้ำเชี่ยว หากเราหยุดพายเมื่อใด เรือของเราไม่ให้จะหยุดอยู่กับที่ แต่จะถอยหลังออกไปทุกที”

นายบิล เกตส์ มหาเศรษฐีผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟท์ แสดงความเห็นกับหนังสือพิมพ์ฮันเดลสบลัตต์ว่า ChatGPT แชตบอตเอไออัจฉริยะที่สามารถโต้ตอบผู้ใช้ได้คล้ายคลึงกับมนุษย์ มีความสำคัญเทียบเท่าการคิดค้นอินเทอร์เน็ต

นายเกตส์กล่าวว่า “จนถึงตอนนี้ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำได้แค่อ่านและเขียน แต่ไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาได้ โปรแกรมใหม่ ๆ อย่าง ChatGPT จะทำให้งานออฟฟิศมากมายมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการช่วยเขียนอินวอยซ์หรือจดหมายต่าง ๆ ซึ่งสิ่งนี้จะเปลี่ยนโลกของเราได้”

ขณะนี้ ChatGPT Plus ได้เปิดบริการในประเทศไทยแล้วโดยคิดค่าบริการ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนหรือประมาณ 670 บาท

ทั้งนี้ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้จัดโครงการพัฒนาศักยภาพนักพัฒนาระบบ ปี 2566 ระหว่างวันที่ 10 -12 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศาลาการเปรียญ ดร.อุไรศรี คะนึงสุขเกษม วัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ โดยมีวัตถุประสงค์ พื่อพัฒนาและยกระดับทักษะบุคลากรของมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการนำองค์ความรู้ด้านดิจิทัลไปประยุกต์ใช้ในการสร้างพุทธนวัตกรรมและกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาปัญญาและคุณธรรม

การออกแบบหลักสูตรกิจกรรมดำเนินการและระยะเวลาดำเนินการ คณะทำงานร่วมกับวิทยากรออกแบบหลักสูตรจำนวน 4 ด้านตามนโยบายของมหาวิทยาลัย ดำเนินการระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2566 กิจกรรมดำเนินการ ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติ จำนวน 8 ครั้ง เน้นการวิเคราะห์ การนำกรณีศึกษาจากการปฏิบัติงานมาฝึกปฏิบัติ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้ ทักษะการฝึกอบรมไปใช้ปฏิบัติงานได้จริงตามภารงานที่ได้รับมอบหมาย ขอบเขตเนื้อหาการฝึกอบรมประกอบด้วย

1) ด้านการพัฒนาระบบ (Developer) มุ่งเป้าทักษะการพัฒนาและบริหารฐานข้อมูลออนไลน์
2) ด้านการดูแลเว็บไซต์ (Web Master) มุ่งเป้าพัฒนา ปรับปรุงเว็บไซต์ส่วนงานให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีเว็บสมัยใหม่
3) ด้านการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนแบบออนไลน์แบบเปิดเสรี (MOOC) มุ่งเป้าให้ทุกส่วนงานจัดการศึกษาจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์แบบเปิดเสรี อย่างน้อยส่วนงานละ 1 รายวิชา
4) ด้านการบริหารระบบเครือข่าย (Network) มุ่งเป้าทักษะการบริหารระบบเครือข่ายของบุคลากรที่ดูแลรับผิดชอบระบบเครือข่ายของมหาวิทยาลัยทั้งส่วนกลางและภูมิภาค
ในการนี้ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิต ที่ผู้รับผิดชอบงานทั้ง 4 ด้าน จำนวน 100 รูป/คน เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้

Leave a Reply