ปลัด มท. ขอคณะสงฆ์ ภาค 14 ร่วมสนองพระราชปณิธาน “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” อย่างยั่งยืน

วันนี้ (31 พ.ค. 67) เวลา 12.30 น. ที่ศาลาอเนกประสงค์ วัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร ตำบลยกกระบัตร อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และเป็นวิทยากรบรรยายถวายความรู้พระสงฆ์ เรื่อง “แนวทางการขับเคลื่อนงานระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับคณะสงฆ์” ในการประชุมพระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล และเลขานุการทุกระดับ ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค 14 ครั้งที่ 1/2567 ตามมติมหาเถรสมาคม ที่ 143/2546 ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยได้รับเมตตาจาก พระธรรมวชิรานุวัตร ดร. เจ้าคณะภาค 14 เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง พระอารามหลวง พระเทพปวรเมธี รศ.ดร. รองเจ้าคณะภาค 14 รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดประยุรวงศาวาส วรวิหาร พระราชวชิรโมลี รองเจ้าคณะภาค 14 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร พระเทพปริยัติโสภณ เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี พระมงคลพัฒนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร พระพิพัฒน์ศึกษากร เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม พระสุพรรณวชิราภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี พระสังฆาธิการ พระเถรานุเถระ ร่วมพิธี โดยมี นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร หัวหน้าส่วนราชการ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นความเมตตายิ่งที่วันนี้ตนได้มีโอกาสสนองงานคณะสงฆ์ผู้เป็นหลักชัยของสังคมไทย ด้วยการได้รับโอกาสมาเป็นวิทยากรบรรยายถวายความรู้ หัวข้อ “แนวทางการขับเคลื่อนงานระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับคณะสงฆ์” ซึ่งถือเป็นเรื่องที่กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญยิ่ง เพราะคณะสงฆ์ได้เมตตาเป็นผู้นำร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญกับการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนในทุกมิติ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการทำให้ประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งในประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สังคมไทยมีวัดเป็นที่พึ่ง เป็นศูนย์รวมจิตใจให้กับประชาชน เป็นสถานที่ที่รวมสรรพวิทยาการประดุจดั่ง “ครู คลัง ช่าง หมอ” โดยมีพระสงฆ์เป็น “ครู” คอยช่วยเหลือดูแลอุปถัมภ์ อบรมกล่อมเกลา สั่งสอนให้เราทุกคนเป็นคนดีและมีคุณธรรม มี “คลัง” ประกอบไปด้วยถ้วย ชาม ช้อน หม้อ มีเงินทุนทรัพย์ที่คอยสนับสนุนสังคม มีพระสงฆ์และสามเณรเป็นผู้ช่วยกันก่อสร้างวัด เป็น “ช่าง” ทำงานสถาปัตยกรรม งานก่อสร้าง และยังมี “หมอ” ยาสมุนไพร หรือยาหมอสารพัดนึก ทั้งหมดเป็นความสำคัญของพระสงฆ์ต่อสังคม ในฐานะที่คอยอบรมสั่งสอน คอยดูแลญาติโยม ก่อให้เกิดสิ่งที่ดีงามเกิดขึ้น สังคมไทยจึงอยู่รอดมาจนถึงวันนี้ เพราะมีพระสงฆ์คอยค้ำจุน หนุนนำความเจริญรุ่งเรืองในทุกมิติ

“ปัจจุบันโลกมีพลวัตรความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้คนในสังคมที่ในอดีตเคยมีจิตใจเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเคารพต่อผู้หลักผู้ใหญ่ และมีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม กลับลดน้อยถอยลงไป กระทรวงมหาดไทยมีความตระหนักอย่างยิ่งในการ “แก้ไขในสิ่งผิด” เพื่อนำสิ่งที่ดีงามกลับคืนสู่สังคม จึงได้ใช้โอกาสที่มีความผูกพันใกล้ชิดกับคณะสงฆ์ในฐานะผู้นำพื้นที่ จัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือ (MOU) 3 โครงการสำคัญ คือ 1) โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ร่วมกับสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของ วัดและบ้าน ตามหลัก 5 ส. 2) บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ร่วมกับสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม และ 3) โครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5 ขยายผลสู่ หมู่บ้านศีลธรรม” ร่วมกับสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร เพื่อรณรงค์ให้คนมีศีลธรรม ไม่ได้เพียงแค่ศาสนาพุทธ แต่รวมไปถึงศาสนาคริสต์ อิสลาม และทุกศาสนา” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า สิ่งสำคัญของการจับมือร่วมกับผู้นำภาคศาสนาคือการสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะและเอกอัครศาสนูปถัมภก โดยพระราชทานหลักการทำงานร่วมกันแบบภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี อันประกอบด้วย ภาคราชการ ภาคศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้สืบสานแนวทางดังกล่าว โดยพระราชทานหลักการว่า “บวร” คือ “บ้าน วัด ราชการ และโรงเรียน” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำมาขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดผลสำเร็จตามภารกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” โดยมี 7 ภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะผู้นำภาคศาสนาหรือพระสงฆ์ เป็นหลักชัย รวมทั้งเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้ให้ความสำคัญกับภาคีเครือข่าย หรือ Partnership สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 17 ขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ผ่านการขับเคลื่อนโครงการทีมบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยมีพระสงฆ์เป็นหนึ่งในทีมภาคีเครือข่าย เพื่อให้คนในสังคมได้มีศีลธรรม มีสัมมาคารวะเคารพบรรพบุรุษ มีความเป็นญาติมิตร มีเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เฉกเช่นสังคมไทยในอดีต

“สิ่งดีงามเหล่านี้จะช่วยสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังพระปฐมบรมราชโองการ วันที่ 4 พฤษภาคม 2562 “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ข้าราชบริพาร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งการทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคงและประชาชนมีความสุข ต้องเริ่มจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ มีการศึกษาพูดคุยวางแผนร่วมกับผู้อื่น เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดเปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้นำของคนในพื้นที่ โดยมีทีมจังหวัดบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน เดินหน้าบูรณาการคนและบูรณาการงาน สร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคมและประชาชนโดยรวม” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงมหาดไทยได้รับความเมตตาจากมหาเถรสมาคม โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม ด้วยการมอบนโยบายให้พระสงฆ์ทุกรูปช่วยเป็นธุระนำพาให้ข้าราชการของกระทรวงมหาดไทยได้ลงพื้นที่ไปทำงานเพื่อประชาชน เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างเป็นระบบ ทั้งในงานของราชการ งานพระศาสนา และงานอื่น ๆ ที่จะส่งเสริมให้คนมีคุณธรรม เพื่อจะได้เกิดพลัง เกิดแรงขับเคลื่อน โดยให้พระสังฆาธิการได้เมตตาคัดเลือก “พระสงฆ์ผู้รับผิดชอบประจำตำบล” เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่า จะสามารถผลักดันกระตุ้นให้ข้าราชการผู้รับผิดชอบประจำตำบล ซึ่งประกอบไปด้วย ปลัดอำเภอ พัฒนากร เกษตร และสาธารณสุข ได้ร่วมกับพระสงฆ์ มีท่านเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล เป็นผู้คอยช่วยเป็นหูเป็นตาสั่งการให้พระสงฆ์ผู้รับผิดชอบประจำตำบล ขับเคลื่อนงานอย่างเป็นระบบ ช่วยแก้ไขในสิ่งผิด และให้ข้าราชการได้ทำงานแบบรองเท้าสึกก่อนก้นกางเกงขาด และเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า MOU ทั้ง 3 ฉบับ จะนำไปสู่การขับเคลื่อนและการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และท้ายที่สุดคือการทำให้พระสงฆ์ได้ช่วยกันสงเคราะห์ดูแลให้การช่วยเหลือญาติโยม ผู้ยากไร้ ผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ให้มีโอกาสที่ดีในชีวิต

“ขอความเมตาพระสงฆ์ผู้รับผิดชอบประจำตำบล มีหนังสือรายงานการตรวจเยี่ยมในการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชน เพื่อจะได้เป็นข้อมูลรวมถึงคำแนะนำให้กับข้าราชการหรือปลัดอำเภอ และขอให้นายอำเภอร่วมลงพื้นที่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 10 ครั้ง เพื่อให้เกิดความใกล้ชิดกับประชาชนในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ประชาชนสามารถพึ่งพาอาศัยได้ และบรรลุตามตัวชี้วัดโครงการ “หมู่บ้านยั่งยืน ” ตามแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทั้ง 8 ตัวชี้วัด ได้แก่ การมีบ้านที่อยู่อาศัยที่มั่นคงแข็งแรง ช่วยซ่อมแซมบ้านเรือนของประชาชนที่เดือดร้อน รักษาความสะอาดความระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่สาธารณะ มีความมั่นคงด้านอาหาร มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปราศจากยาเสพติดและอาชญากรรม การสืบสานถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีสู่ลูกหลานเยาวชน การมีแหล่งน้ำดื่มที่สะอาด ไว้สำหรับบริโภค โดยการจัดหาภาชนะไว้สำรองกับเก็บน้ำไว้ใช้ในครัวเรือน และที่สำคัญ คือ มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มบ้าน คุ้มบ้าน โดยมีผู้นำกลุ่ม ผู้นำคุ้ม ช่วยกันดูแลประชาชน สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และมีข้าราชการผู้รับผิดชอบประจำตำบล เป็นผู้ขับเคลื่อนให้เกิดการร่วมกลุ่มกันตาม 4 กระบวนการ คือ ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน จึงนับว่าเป็นความฝันและความหวังของพวกเราชาวมหาดไทยในการสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยการลงพื้นที่ให้เกิดการ Change for Good สร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น โดยร่วมกับพระสงฆ์และผู้นำภาคศาสนา ทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุข อยู่ในหมู่บ้านยั่งยืน ซึ่งเรามั่นใจว่าจะส่งผลทำให้ประเทศชาติมั่นคง และแสดงออกถึงความกล้าหาญในการทำความดี มีจิตใจที่จะทำความดี เป็นจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” โดยไม่มีเครื่องแบบ ไปช่วยกันทำความดีเพื่อสังคมและส่วนรวม พร้อมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ “อารยเกษตร” ทำให้เกิดสิ่งที่ดีในชีวิตของประชาชนทุกคนไปพร้อมกันกับการการทำนุบำรุงศาสนา และขออาราธนาพระสังฆาธิการทุกรูปได้รับอนาคตของประเทศชาติและลูกหลานคนไทยไว้เป็นภาระธุระ เมตตาช่วยกันกระตุ้นปลุกเร้านายอำเภอ ข้าราชการผู้รับผิดชอบประจำตำบล และพระผู้รับผิดชอบประจำตำบล ช่วยกันดูแลบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทำให้สังคมเกิดความรัก เกิดความสงบ ข้าราชการอยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน ทำงานด้วยการลงพื้นที่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 10 ครั้ง เพื่อให้เกิดกุศล เกิดสิ่งที่ดีต่อพี่น้องประชาชน และท้ายที่สุดทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน”

Leave a Reply