ชาวอุบลจัดพิธีเถราภิเษกแบบโบราณยิ่งใหญ่!!  ต้อนรับ ๕ พระเถระวัดสระเกศ  หลังพ้นวิบากกรรม!!

วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๘ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๕  มกราคมที่ผ่านมา ชาวอุบลจัดพิธีฮดสรง (พิธีเถราภิเษก) พระพรหมสิทธิ (ธงชัย  สุขญาโณ)  กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดสระเกศ  ราชวรมหาวิหาร,พระราชอุปเสณาภรณ์ จ(สังคม  ญาณวฑฺฒโน, สังฆะพัฒน์), พระราชกิจจาภรณ์  (เทอด  ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) ,พระศรีคุณาภรณ์  (บุญทวี  ปุญฺญาวํโส,คำมา)และ พระครูสิริวิหารการ  (สมจิตร  จิตฺตธมฺโม,จันทร์ศรี)  วัดสระเกศ  ราชวรมหาวิหาร  ตามพิธีโบราณของชาวอุบล เพื่อแสดงมุทิตาจิตในโอกาสที่ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานคืนสมณศักดิ์ ครบทั้ง ๕ รูป  นอกจากนั้น ยังเป็นการถวายกำลังใจในการกลับสู่ถิ่นเกิดของพระราชกิจจาภรณ์หลังพ้นมลทินอีกด้วย โดยแหล่งน้ำ ๙ มงคลที่นำมาใช้ในพิธีฮดสรงครั้งนี้เป็นแหล่งน้ำโบราณของชุมชนโบราณบ้านตาเณศ ดงพระคเณศ และชุมชนโบราณบุ่งสระพัง ประกอบด้วย

 ๑. น้ำส่างหอปู่ฯ (หอปู่ใหญ่บุ่งสระพัง) เป็นบ่อน้ำโจก หรือน้ำซับใต้ศาลปู่ใหญ่บุ่งสระพัง มีน้ำอยู่ตลอดทั้งปี เป็นบ่อน้ำที่ใช้ในพิธีเลี้ยงปู่ตาของชาวบ้านมาแต่โบราณ  จึงเรียก ”ส่างปู่“ เดิมคาดว่า น่าจะเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาใช้ในพิธีกรรมของเทวาลัยมาตั้งแต่ยุคพราหมณ์

๒. น้ำส่างท่าน้ำคำ เป็นบ่อน้ำซับมีน้ำตลอดทั้งปี เดิมคาดว่าเป็นบ่อน้ำที่ใช้ในพิธีเลี้ยง “ปู่คำลือชา” หรือ “ปู่ท่าน้ำคำ” ของชาวบ้านมาแต่โบราณ  ต่อมาข้าวจ้ำ และผู้เฒ่าผู้แก่ได้ทำพิธีอัญเชิญปู่คำลือชาจากท่าน้ำคำให้มาอยู่รวมกันกับปู่คำแหง ปู่คำหาญ ปู่ทองลาย และปู่จันทร์วงศ์ที่หอปู่ใหญ่บุ่งสระพังสืบมาจนถึงปัจจุบัน ตามคำแนะนำของพระครูวิโรจน์รัตโนบล(รอด นนฺตโร) วัดทุ่งศรีเมือง

 ๓.น้ำหนองสะทัง ตำนานชาวบ้านเล่าว่า หนองสะทังเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ชาวบ้านได้ยินเสียงฆ้องทองคำดังขึ้นในวันศีล(วันพระใหญ่) ภายหลังจากมีลำแสงพุ่งขึ้นจากโนนต้นบกใหญ่จะตามมาด้วยเสียงฆ้องทองคำ สลับไปมาระหว่างหนองสะทังกับหนองวัด (วัดป่าพระพิฆเณศวร์)

๔. น้ำส่างปู่วัดป่าฯ (วัดป่าพระพิฆเณศวร์) อยู่ใกล้กับหนองวัด คาดว่า น่าจะเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาใช้ในพิธีกรรมของเทวาลัยในดงพระคเณศมาตั้งแต่ยุคพราหมณ์ จนการเข้ามาพระพุทธศาสนายุคทวารวดี

๕. น้ำส่างบะเฮน ตามคำบอกเล่าต่อกันมาของชุมชน ส่างบะเฮนเกิดจากการขุดหลุมให้ม้าบักเคนในกองทัพพระวอ-พระตา (อาจเพี้ยนเสียงเป็น ”บะเฮน“)  ซึ่งตกหล่มบืนขึ้นมาได้ เกิดน้ำไหลออกมาจากหลุมม้าบะเฮนไม่เคยแห้งมาจนถึงปัจจุบัน

๖. น้ำส่างโบราณบ้านโนน เป็นบ่อน้ำโบราณของหมู่บ้าน เดิมตั้งอยู่ทุ่งคุ้มบ้านโนน

 ๗. น้ำส่างโบราณบ้านน้อย เป็นบ่อน้ำโบราณของหมู่บ้าน ตั้งอยู่คุ้มบ้านน้อย

 ๘. น้ำส่างโบราณบ้านกลาง เป็นบ่อน้ำโบราณของหมู่บ้าน ตั้งอยู่ศาลากลางบ้าน ใช้เป็นสถานที่สูตรบ้าน เดิมอยู่กลางดงบากใหญ่ ซึ่งเป็นสถานที่แรกเริ่มของการย้ายหมู่บ้านมาตั้งอยู่

 ๙. น้ำส่างโบราณบ้านใหญ่ เป็นบ่อน้ำโบราณของหมู่บ้าน ตั้งอยู่คุ้มบ้านใหญ่

 เมื่อรวบรวมน้ำได้ครบทั้ง ๙ แห่งแล้วชาวบ้านจะแห่ไปตามถนนพร้อมทั้งรับบริจาคน้ำและดอกไม้จากผู้เฒ่าผู้แก่ไปตามถนนกลางชุมชนเข้าสู่วัดปากน้ำ (บุ่งสระพัง)แล้วอัญเชิญเข้าเก็บรักษา  ณ วิหารหลวงพ่อเงินจากนั้นจะมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์สูตรจุลไชยปกรณ์ (ไชยน้อย)  สูตรน้ำมั่นน้ำยืนสมโภชเป็นเวลา ๗ วัน

นอกจากนั้น ในวันดังกล่าว ยังมีวางอิฐรากฐานเป็นปฐม สถานที่สร้างอนุสรณ์สถาน ๑๐๐ ปีชาตกาลพระมงคลธรรมวัฒน์(บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) ณ โนนต้นบกใหญ่ ทางลงหาดบุ่งสระพัง ซึ่งเป็นสถานที่พระมงคลธรรมวัฒน์ปักกลดภาวนานิมิตเห็นฆ้องทองคำใหญ่  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ อีกด้วย

สำหรับพระมงคลธรรมวัฒน์ อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ  เป็นพระเถระสำคัญของหวัดอุบลราชธานี ชอบทางวิเวกไปปักกลดอยู่ตามป่ารกร้าง ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านดอนมเแดง บ้านเมืองเก่าบริเวณริมแม่น้ำมูล และนิมิตเห็นหลวงพ่อเงิน ๗๐๐ ปี พระพุทธรูปประจำทัพพระวอ-พระตา ผู้ตั้งเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย..

Leave a Reply