อย่าให้สาวกต้องมาตายแทน ?

@ เรื่องนี้ผมไม่ได้มีความอาฆาตใครหรือจะออกมาว่าให้ใครหรอกนะครับ แต่ผมจะมาพูดเรื่องของ “ความเป็นผู้นำในองค์กรทางศาสนา” เนื่องจากแนวทางในการเป็นผู้นำองค์กรทางศาสนานั้นผมเห็นว่าควรยึดรูปแบบของการปฏิบัติตนเองของผู้นำที่เป็นแบบพระพุทธองค์ ที่ทรงเน้นเรื่องของการเป็นผู้นำจะต้องเน้นเรื่องเหล่านี้ก็คือ

(๑) ความจริง ที่ว่าด้วยเรื่องของความจริงก็คือ พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้นำองค์กรทางศาสนาที่ทรงเน้นมากอยู่เรื่องหนึ่งก็คือเรื่องของ “ความจริง” โดยความจริงที่ว่านั้นก็คือ ความจริงในเรื่องของ (๑) ความทุกข์ (๑)สาเหตุของการเกิดทุกข์ (๓) การดับทุกข์ และ(๔) มรรคาที่นำไปสู่ความดับทุกข์ (ที.สี.(ไทย)๑๑/๓๐๑/๓๒๙.ที.ปา.ฏีกา ๓๒๒/๓๑๖, องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๒๖/๘).) ทรงเน้นเรื่องนี้มากเพราะอะไร เพราะว่าโลกและจักรวาลนี้ล้วนตกอยู่ในกรอบของความจริงในเรื่องนี้ ไม่มีอะไรที่หนีหรือพ้นไปจากความจริงเรื่องทุกข์และการดับทุกข์นี้ไปได้ โดยความจริงเรื่องทุกข์ก็คือ ทรงมองเห็นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เหตุอื่นๆที่นำไปสู่ความทุกข์จึงตามมา (วิ.ม.(ไทย)๔/๑/๑-๓.) ดังนั้นจึงทรงสอนให้เห็นความจริงของโลกและจักรวาลในข้อนี้

เฉพาะในเรื่องของการเป็นผู้นำก็เช่นกันผู้นำที่ดีจะต้องเรียนรู้ที่จะต้องเข้าใจในเรื่องของปัญหาเรื่องความทุกข์นี้ว่าทุกข์คนเกิดมามีทุกข์ ผู้นำก็ทุกข์ ลูกน้องก็ทุกข์ เมื่อทุกคนมีทุกข์ ผู้นำที่ดีจึงไม่ควรนำทุกข์หรือผลักภาระทุกข์ของตนเองไปให้ผู้อื่นหรือลูกศิษย์เป็นคนรับทุกข์นั้นแทน

แต่ผู้นำที่ดีจะต้องเป็นคนที่เข้าไปเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขทุกข์ให้กับลูกน้องเป็นที่พึ่งให้กับลูกน้อง และไม่ผลักภาระความทุกข์ของตนให้ไปเป็นภาระของลูกน้อง พระพุทธองค์ทรงเห็นความจริงในเรื่องนี้จึงทรงเป็นผู้ที่ รู้ทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ รู้การดับทุกข์ แลวิธีการที่จะนำไปสู่การดับทุกข์ จึงไม่ทรงผลักภาระความทุกข์ที่เกิดไปให้คนอื่น พระองค์มีแต่สอนให้คนอื่นดับทุกข์ได้ และนี่คือลักษณะของผู้นำทางศาสนาที่ดี ที่ถูกต้อง

(๒)ความรู้ความสามารถ ประการต่อมาที่ผู้นำทางศาสนาจะต้องมีก็คือ ความรู้ความสามารถ ซึ่งผู้นำต้อง “กำหนด” ความรู้ความสามารถของคนสองประเภท คือ

(๑) ความรู้ความสามารถของตนเอง คือต้องรู้ว่าตนเองมีศักยภาพเท่าไหร่ อย่างไรบ้าง อะไรที่ควรทำไม่ควรทำ อะไรที่ทำแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์หรือไม่เกิดประโยชน์

(๒) ความรู้ความสามารถของลูกน้อง คือต้องแจกแจงศักยภาพของลูกน้องได้ว่าคนไหนชำนาญอะไร เก่งเรื่องอะไร เก่งมากเก่งน้อยต่างกันอย่างไร ซึ่งการเรียนรู้หรือประเมินความเก่งของลูกน้องนี้จะมีประโยชน์กับผู้นำในการใช้งานให้เหมาะกับสถานการณ์

เพื่อที่จะสนับสนุนให้ลูกน้องคนนั้นๆสามารถใช้ความรู้ความสามารถของตนเองได้อย่างเหมาะสมกับงานที่เกิด พระพุทธองค์ทรงประเมินความรู้ความสามารถและจัดความรู้ความสามารถนั้นไว้ในรูปแบบของเอตทัคคะ คือ ผู้เชี่ยวชาญ และทรงใช้ความเชี่ยวชาญของพระสาวกในเวลาที่เหมาะสมให้เขาได้ทำงานอย่างเต็มที่เต็มความสามารถ อันนี้คือประการที่ ๒

(๓) ความเป็นแบบอย่าง ประการต่อมาสิ่งที่ผู้นำทางศาสนาจะต้องมีก็คือ “ความเป็นแบบอย่าง” ซึ่งความเป็นแบบอย่างนี้ หมายถึง ผู้นำที่ดีต้องมี “ปฏิปทา และจริยาวัตร” หรือที่เราเรียกกันว่าต้องมี “วิชชาและจรณะ” ให้ครบทั้งรูปลักษณ์ภายนอกและสิ่งที่มีอยู่ในภายใน ซึ่งผู้นำทางศาสนาจะต้องมีให้ “ครบเครื่อง”และเป็นแบบอย่างให้กับเหล่าสาวกได้

ไม่ใช่ว่าเป็นพระกรรมฐานขี้โกรธ หรือสันโดษขี้ขอ แล้วไปสอนให้เขาหายโกรธ และมักน้อยสันโดษ นั่นก็ไม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดีแต่อย่างใด ดังนั้น ความเป็นแบบอย่างของผู้นำทางศาสนานั้นจะต้องมี และควรจะมีด้วยเพราะถ้าหากไม่มีแล้วก็จะได้เฉพาะสาวกประจบสอพลอเท่านั้นส่วนสาวกที่มีปัญญาก็จะหนีหายตายจากไปเป็นธรรมดา

พระพุทธองค์นั้นทรงเป็นแบบอย่างของพระสาวกได้ทุกมิติ เช่น เวลาที่มีปัญหาเกิดขึ้นก็ไม่ทรงหนีปัญหา ทรงอดทนสู่ด้วยความเข้มแข็งแม้จะมีสาวกบางรูปขอให้หนีไปเสียพระองค์ก็ไม่หนียืนหยัดสู้อยู่ตรงนั้นจนคลี่คลายปัญหาไปได้จึงทรงเสด็จากสถานที่แห่งนั้น ข้อนี้ถือว่าเป็น “แบบอย่างที่ดี” กับสาวกได้

(๔) ความมีเมตตา สำหรับผู้นำทางศาสนาที่ดีนั้น จะต้องเป็นคนที่มี “เมตตาธรรม” เป็นที่ตั้ง เป็นผู้นำแล้วขาดเมตตานี้ก็เท่ากับว่าขาดเสน่ห์ในการบริหารงาน เนื่องจากความมีเมตตา (พอประมาณและอยู่ในหลักการ)

นี้ถือว่าเป็นมนต์เสน่ห์ที่สามารถยึดหัวใจของลูกน้องเอาไว้ได้ ความมีเมตตาของผู้นำก็คือการได้ไปนั่งในใจของลูกน้อง ตัวอย่างของความมีเมตตาและไปนั่งในหัวใจของลูกน้องของพระพุทธองค์ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ

ตอนที่พระปูติคัตตเถระป่วยมีแผลเต็มตัวและแผลก็มีหนองไหลเยิ้มตลอดเวลา จนไม่มีใครอยากอยู่ใกล้ ณ เวลานั้น พระพุทะองค์ทรงเปลื้องจีวรแล้วลงมือชำระล้างร่างกายให้พระปูติคัตตเถระด้วยพระองค์เองจนพระเถระสะอาดและดีขึ้น (ขุ.ธ.อ.(ไทย)๑/๒/๑/๔๓๕)

ภาพของพระพุทธองค์ที่ทรงมีพระวรกายเปื้อนหนอง เหงื่อไคลตอนที่ดูแลพระเถระนั้นเป็นภาพที่ตรึงในใจของพระสาวกมากเพราะพระองค์ทรงลงมาดูแลลูกน้องด้วยตนเอง ไม่่ถือยศถือศักดิ์ ทรงเป็นกันเองกับลูกน้อง นี่คือ การนั่งในใจลูกน้อง

(๕) ความมุ่งประโยชน์แก่ผู้อื่น ประการสุดท้าย(เพราะมันเริ่มจะยาวแล้ว) การที่ผู้นำจะเป็นไอดอลของลูกน้องก็คือผู้นำจะต้องทำ พูด คิด และแสดงออกทุกอย่างนั้นเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับคนอื่น คือลูกน้องและสังคมโดยภาพรวม

โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ตนเอง หรือทำประโยชน์ตนเองให้เสียไปเพราะประโยชน์ของผู้อื่น ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์สังคมจะต้องได้รับการิจารณาไปพร้อมๆกัน พระพุทธองค์ทรงดำเนินกิจการในการสอนธรรมและปกครองคณะสงฆ์ภายใต้กรอบของการมุ่งประโยชน์เพื่อคนอื่นเป็นหลักตามแนวทางที่ทรงประกาศไปเป็นเบื้องต้นว่า “พหูชนหิตายะ พหูชนะสุขายะ โลกานุกัมปายะ” คือเพื่อประโยชน์และความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนั่นเอง

@ เอาล่ะที่นี้ันมาดู “เจ้าลัทธิทั้งหลายในสังคมไทยบ้างปะไร” ว่าคนเหล่านี้มีพฤติกรรมที่พอจะเป็นผู้นำในองค์กรทางศาสนาได้หรือไม่ ท่านทั้งหลายลองไปติดตามสืบๆค้นดูนะครับว่าเป็นอย่างไร แต่สำหรับผมคนเหล่านี้เป็นคนที่ “กลัวจนขี้ขึ้นสมองทั้งหมด เวลาที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากหรือปัญหา” และที่สำคัญเมื่อมีเรื่อวมีราวก็ผลักภาระให้สาวกรับแทนหรือปลุกระดมปั่นหัวให้สาวกออกมาตายแทนทั้งนั้น…พฤติกรรมแบบนี้แหละคือ ผู้นำทางศาสนาของศาสดาหรือเจ้าลัทธิในสงัคมไทย” ได้โปรดเถิดครับยังไงๆก็อย่าให้สาวกต้องมาตายแทนอีกนะครับ

ขอบคุณครับ

FB-Naga King

Leave a Reply