พระสะกิดการสื่อสารยุคโควิด-19 สื่อเชิงพุทธสักนิดวิกฤติจะผ่อนคลาย

พระสะกิดการสื่อสารยุคโควิด-19 สื่อเชิงพุทธสักนิดวิกฤติจะผ่อนคลาย : พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. วิทยากรต้นแบบสันติภาพ วิทยากรกระบวนการธรรมะโอดี อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มจร รายงาน

ในภาวะปัจจุบันมีการสื่อสารที่ดุเด็ดเผ็ดมันบนสื่อออนไลน์ มีทั้งแช่งและชม เพราะช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางที่ดีที่สุดในปัจจุบันที่จะสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมาย ลูกค้า หรือผู้สนใจเรียนรู้ ในฐานะทำวิจัยด้านการเป็นวิทยากรต้นแบบสันติภาพและพัฒนาวิทยากรต้นแบบสันติภาพ หัวใจสำคัญคือ การสื่อสารเพื่อสันติภาพของผู้จะเป็นวิทยากรต้นแบบในระดับการสื่อสารผ่านทางไลน์ เฟซบุ๊ก เพจ ทวิตเตอร์ วีดีโอ ไลฟ์สด และช่องทางอื่นๆ ล้วนแต่เป็นตัวตนของบุคคลนั้นว่าจะสื่อสารแบบทั่วไป ดราม่า และสร้างคุณค่า จึงจะสามารถวัดได้ว่าเป็นวิทยากรต้นแบบสันติภาพ

ปัจจุบันเราเห็นบุคคลที่มีชื่อเรียกนามว่า #โค้ช #วิทยากร #กระบวนกร #นักสร้างแรงบันดาลใจ #นักพูด มากมายที่ออกมาสอน หรือ ให้แนวทางการสร้างความสำเร็จในอาชีพการงานชีวิต ดึงศักยภาพภายในสร้างความสำเร็จผ่านการสอนทางออนไลน์ โดยเชื่อว่าแต่ละชื่อที่เรียกจะต้องมีเครื่องชี้วัด ประกอบด้วยคุณสมบัติ จรรยาบรรณ คุณลักษณะ วิธีการนำเสนอ และอุดมการณ์ ว่าอะไรคือเครื่องชี้วัดว่าเป็นโค้ช อะไรคือเครื่องชี้วัดว่าเป็นวิทยากร อะไรคือเครื่องชี้วัดว่าเป็นกระบวนกร อะไรคือเครื่องชี้วัดว่าเป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ อะไรคือเครื่องชี้วัดว่าเป็นนักพูด บุคคลที่เป็นตามที่กล่าวมาคงจะสามารถตอบได้เป็นอย่างดีที่สุด รวมถึงบุคคลที่ติดตามแต่ละท่านเหล่านั้น

ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะเป็นอะไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่จะต้องมีเป็นเครื่องชี้วัด เป็นทักษะจากภายในและภายนอก คือ การสื่อสารเพื่อสันติภาพ การสื่อสารที่ไม่สร้างความขัดแย้ง การสื่อสารที่ก่อให้เกิดคุณค่าและความสามัคคี การสื่อสารจึงต้องระวังนำไปสู่โทสะทั้งผู้สื่อสารและผู้รับสาร เพราะจะเกิดความขัดแย้ง เป็นอกุศลมูล ด้วยการกล่าวเสียดสีหรือส่อเสียด 10 ประการที่พึงระวังเป็นอย่างมากในการกล่าวถึงบุคคลในด้านลบ นักสื่อสารผ่านออนไลน์พึงตระหนักและระวังอย่างยิ่ง คือ ชาติกำเนิด ชื่อ ตระกูล หน้าที่การงาน ศิลปวิทยา ความเจ็บไข้ รูปลักษณ์ กิเลส อาบัติหรือคดีความ และคำด่า

ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งในการอยู่ร่วมกัน จึงต้องระวังในเรื่องการสื่อสารแม้ความเห็นทางการเมือง ซึ่งมองกันคนละมุม หรือ ด้านเศรษฐกิจ ถ้าสื่อสารขอให้มีสติอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าจึงเป็นปรามาจารย์ด้านการสื่อสาร เป็นนักนิเทศศาสตร์ระดับโลก บางบริบทพระองค์ใช้เครื่องมือการโค้ช เครื่องมือวิทยากร เครื่องมือกระบวนกร เครื่องมือนักสร้างแรงบันดาลใจ เครื่องมือนักพูดนักบรรยาย เครื่องมือแบบ AL ขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมาย วิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน ไม่มีเครื่องมือใดที่ดีที่สุด มีแต่เครื่องมือที่เหมาะสมที่สุดกับบริบทนั้นๆ จงเรียนรู้ที่หลากหลายเครื่องมือแล้วนำมาบูรณาการปรับใช้ตามกลุ่มเป้าหมาย วิทยากรต้นแบบสันติภาพจึงต้องเรียนรู้เครื่องมือที่หลากหลาย พระพุทธเจ้าพระองค์เป็นนักสื่อสารธรรมที่สุดยอดมาก ถือว่าเป็นนักนิเทศศาสตร์ท่านแรกของโลกเพื่อสร้างสันติสุขในสังคมโลก ทฤษฏีการสื่อสารของพระพุทธเจ้า ประกอบด้วย จริง ไพเราะ เหมาะกาล ประสานสามัคคี มีประโยชน์ ประกอบด้วยเมตตา

สอดรับกับการสื่อสารตามแนวคิดทางของตะวันตก คือทฤษฎี SMCR ของ เดวิด เค. เบอร์โล (David K.Berlo) และในโอวาทปาติโมกข์เน้นย้ำว่านักสื่อสารว่าจะต้อง “ไม่พูดร้ายใครไม่ทำร้ายใคร” เป็นการสื่อสารที่ไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ วันอาสาฬหบูชาจึงเป็นวันสื่อสารธรรมของพระพุทธเจ้า

ปัจจุบันเรามาถึงยุคของการใช้ออนไลน์เต็มรูปแบบเพราะผลจากโควิด-19 การสื่อสารที่สุดยอดจะต้องกระทบธรรมแต่ไม่กระทบคน มีความนุ่นนวลกับคนแต่จริงจังกับปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าเราจะเป็นใครถ้าจะต้องสื่อสารต้องคำนึงถึง สัมมาวาจา ปิยวาจา วจีสุจริต วจีสามัคคี และมีสติ ขันติ สันติเป็นฐานสำคัญ แต่ผู้คนที่หลากหลายอาจจะมีจริตต่างกัน ลองไปอ่านหนังสือรู้ทันสันดานคน บางจริตอาจจะชอบแบบดุเด็ดเผ็ดมันส์ชอบการกระแทกแรงๆ เช่น โทสะจริต แต่บางจริตอาจจะชอบความนุ่มนวลอ่อนหวาน เช่น ราคะจริต ต้องไปศึกษาจริต 6 ในทางพระพุทธศาสนา โจทย์ของนักสื่อสารจะทำอย่างไรให้เกิดความกลมกล่อม ถ้าเป็นอาหารจะต้องมีความอร่อย ถูกปาก คนทุกภาคทานได้ ไม่เผ็ดเกินไปไม่จืดเกินไป คนชอบเผ็ดทานได้ คนไม่ชอบเผ็ดก็ทานได้ ทุกเพศทุกวัยสามารถทานได้ โลกไม่ซ้ำธรรมไม่เสีย ทางสายกลางของกลุ่มเป้าหมายนั่นเอง คำถามคือเราจะออกแบบการนำเสนออย่างไรให้อยู่ในทางสายกลาง? ให้เกิดคุณค่ามากกว่าดราม่า โยมขุนเขาเคยบอกว่า จงหาคุณค่าจากการดราม่าให้ได้ เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…………

ดังนั้น การสร้างสันติภาพที่แท้จริงนั้น คือ การดึงเอาความดีของอีกฝ่ายออกมาให้ได้แล้วสื่อสารสิ่งดีๆ ของกันและกัน จงสร้างสรรค์ผลงานออกมา เพราะการสื่อสารของท่านเนื้อหาที่ท่านสื่อสารจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายคน ทุกคนรอฟังท่านอยู่ เมื่อรู้ว่าพลาดมีเสียงสะท้อนกลับก็พร้อมรับฟังและขอโทษอย่างจริงจัง เพื่อการปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม “กระท้อนหวานเมื่อซ้ำคนจะเห็นธรรมเมื่อทุกข์”ทุกคนล้วนเป็นครูที่ดีที่สุดของเรา จงทำต่อไปเพียงเราปรับให้เนื้อหา นึกถึงความรู้สึกผู้ฟังในภาวะแบบนี้ ปรับวิธีการนำเสนอให้มีความกลมกล่อม ท่าทีนุ่มนวล จงเลื่อนตนเองขึ้นแต่เราไม่ลดคนอื่นลง ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านผ่านพ้นวิกฤตโควิดไปด้วยกัน จงให้โอกาสทุกคน ขอให้ทุกคนมีที่ยืนในสังคมอย่างภาคภูมิใจ

Leave a Reply