สื่อสิงคโปร์ตีข่าว’พระสงฆ์ไทยสู้ภัยอ้วนอมโรค’

วันที่ 23 พ.ย. 2561 เว็บไซต์ นสพ.The Straits Times ของสิงคโปร์ นำเสนอข่าวโดยอ้างรายงานจากสำนักข่าว AFP ว่า พระภิกษุสงฆ์ในประเทศไทยกำลังพยายามต่อสู้กับภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน อาทิ พระสงฆ์วัย 63 ปี รายหนึ่งเปิดเผยว่าเคยมีน้ำหนักสูงสุดถึง 180 กิโลกรัม ทำให้ต้องหาทางลดน้ำหนักลงด้วยการอดอาหารรวมถึงออกกำลังกายด้วยการเดินจงกรมรอบวัดรวมถึงออกกำลังแขนในหลายท่า ท่ามกลางวัฒนธรรมอาหารไทยที่เต็มไปด้วยน้ำตาล ไขมันและน้ำมันที่ส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพ

รายงานข่าวระบุว่า วิกฤติโรคเบาหวาน ความดันและข้อเข่าอักเสบ ทำให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขและด้านศาสนาของไทยต้องร่วมมือกันออก “คู่มือสุขภาพพระสงฆ์” แนะนำอาหารที่มีประโยชน์และหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นอันตราย สืบเนื่องจากคนไทยนั้นนิยมทำบุญในโอกาสต่างๆ ด้วยการตักบาตรอาหารแด่พระสงฆ์ แต่อาหารหลายชนิดที่พุทธศาสนิกชนเหล่านี้นำมาตักบาตรไม่ดีต่อร่างกาย เช่น แกงที่มีรสเผ็ดจัด ขนมหวาน น้ำอัดลมและขนมขบเคี้ยว หรือมีแม้แต่บุหรี่ ทั้งนี้คู่มือสุขภาพพระสงฆ์แม้ไม่ใช่กฎที่มีผลบังคับ แต่ก็มีพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยที่ปฏิบัติตาม

ขณะที่ข้อมูลของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุว่าคนไทยมีปัญหาโรคอ้วนสูงที่สุดในทวีปเอเชีย โดยพระสงฆ์เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุด ซึ่งในปี 2559 คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยสำรวจพบพระสงฆ์ในกรุงเทพฯ มีภาวะอ้วนถึงร้อยละ 48 และในจำนวนนี้เป็นโรคความดันโลหิตสูงถึงร้อยละ 42 เพราะแม้ในศาสนาพุทธจะมีข้อบัญญัติห้ามนักบวชบริโภคอาหารหลังเที่ยงวัน แต่การบริโภคเครื่องดื่มก็ยังมีความเสี่ยงเนื่องจากหลายชนิดมีน้ำตาลผสมอยู่มาก รวมถึงรูปแบบอาหารที่ไปในทางสำเร็จรูปก็เป็นปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน

นอกจากนี้สำหรับพระสงฆ์ยังดูแลสุขภาพตนเองได้ลำบากกว่าประชาชนทั่วไป เนื่องจากมีข้อบัญญัติทางศาสนาไม่ให้ปฏิเสธอาหารที่พุทธศาสนิกชนนำมาตักบาตร อย่างไรก็ตามพระสงฆ์ควรหาทางออกกำลังกายบ้าง เช่น เดินจงกรมเพื่อทำสมาธิหรือการทำความสะอาดวัดในตอนเช้า โดยแนวปฏิบัติตามคู่มือดูแลสุขภาพพระสงฆ์ถูกริเริ่มจากพื้นที่เล็กๆ ในชนบทของประเทศไทย

รายงานข่าวยังกล่าวอีกว่า พระสงฆ์ไทยยังมีแนวโน้มขาดการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เช่น พระสงฆ์ที่วัดแห่งหนึ่งใน จ.หนองคาย ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย กล่าวว่า ทางวัดเริ่มสนับสนุนให้พระสงฆ์ตรวจสุขภาพตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน โดยภาวะอ้วนและโรคความดันโลหิตสูงถือเป็นเรื่องปกติที่จะพบในหมู่พระสงฆ์ พร้อมกับอธิบายว่า พระสงฆ์มักจะย้ายจากวัดหนึ่งไปอยู่อีกวัดหนึ่งเป็นระยะๆ ทำให้ไม่ค่อยจะได้พบแพทย์และทันแพทย์

Cr.http://www.naewna.com,https://www.youtube.com/watch?v=4xxsuX91o90

Leave a Reply