ยลพระม่าน! 1 ใน 3 พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เมืองมรดกโลกหลวงพระบาง


พระม่านนับได้ว่าเป็นพระพุทธปฏิมากรหนึ่ง ใน สาม พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เมืองมรดกโลกหลวงพระบาง สปป.ลาว (อีกสององค์ คือ พระบางและพระเจ้าองค์แสน) ซึ่งจะมีพิธีอัญเชิญออกมาให้ประชาชนได้สักการะกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์เช่นเดียวกับพะบาง

นอกจากนี้ชาวหลวงพระบางยังเชื่อว่าใครที่มาบนบานขอลูกกับพระม่านจะประสบผลทุกราย แต่ด้วยความโชคดีที่ไปในครั้งนี้ได้มีโอกาสเข้าไปกราบและชมพระม่านอย่างใกล้ชิด โดยปกติทางวัดจะไม่เปิดให้เข้าไปชมพระม่านในหอพระม่าน ท่านที่ไปอยากจะชมต้องไปส่องที่รูตรงประตู่ด้านหน้าห่อพระม่าน ชาวหลวงพระบางจะอัญเชิญออกมาให้ชมและสงน้ำเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์ ตามราชประเพณีของชาวหลวงพะบางเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์จะได้อัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ทั้งสามคือ พระบาง พระแสน และพระม่าน ออกมาให้ผู้คนได้สงน้ำ แต่ที่พิเศษที่สุดพระม่านจะอัญเชิญมาหลังพระบาง สามวัน คือ เมื่อถึงวันที่ ๔ ของเทศกาลสงกรานต์ทางวัดเชียงทองจะอัญเชิญ พระม่าน ออกมาประดิษฐานที่ลานด้านหน้าพระอุโบสถหรือสิมให้ผู้คนได้กราบและได้สงน้ำ

พุทธลักษณะของพระม่าน เป็นพุทธรูปปางประทานอภัยเหมือนกับพระบาง พระม่านมีความสูงสองศอกเจ็ดนิ้ว (ประมาณ ๑.๑๔ เมตร) หล่อด้วยสำริด มีอายุอยู่ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึงตอนต้นของพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ตามศิลปะขอมแบบบายนตอนปลาย ประทับยืนยกพระหัตถ์ขึ้น นิ้วพระหัตถ์เรียบเสมอกัน พระพักตร์ค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม พระนลาฏกว้าง พระขนงเป็นรูปปีกกา พระเนตรเรียว พระนาสิกค่อนข้างแบน พระโอษฐ์บาง พระเศียร และพระเกตุมาลาเกลี้ยงสำหรับสวมเครื่องทรง ปั้นพระองค์เล็ก พระโสภีใหญ่ ครองจีวรห่มคลุม แลเห็นแถบสบงและหน้านาง

พระม่านประดิษฐานอยู่ภายในหอพระม่านทางด้านหลังของสิมหรือพระอุโบสถวัดเชียงทองราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดของแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว มีความสวยงามอลังการมาก นับเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวทุกคนจะต้องไปชมให้ได้ เมื่อไปเยือนเมืองมรดกโลกหลวงพะบาง จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “อัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมสกุลช่างล้านช้าง” ที่มีความงดงามยิ่ง วัดเชียงทอง สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๑๐๓ โดย พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรล้านช้างและล้านนา ก่อนที่พระองค์จะทรงย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางไปยังนครหลวงเวียงจันทน์

วัดเชียงทอง ถือเป็น “วัดประตูเมือง” และเป็นท่าเทียบเรือด้านเหนือ สำหรับการเสด็จประพาสทางชลมารคของกษัตริย์หลวงพระบาง วัดเชียงทองจึงได้รับการอุปถัมภ์มาโดยตลอด โดยเฉพาะในสมัย เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ และ เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา กษัตริย์สองพระองค์สุดท้ายของราชอาณาจักรลาว ที่สำคัญวัดเชียงทอง ยังเป็นวัดหนึ่งที่รอดพ้นจากอัคคีภัยครั้งใหญ่ที่เผาผลาญเมืองหลวงพระบาง เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๐ สิ่งก่อสร้างที่สำคัญ อาทิ พระอุโบสถ ซุ้มประตูโขง พระธาตุ หอไหว้น้อย หอไหว้สีกุหลาบ หอไหว้หลังพระอุโบสถ หอกลอง หอราชโกศเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ฯลฯ ยังคงอยู่อย่างครบถ้วน และสมบูรณ์เหมือนเดิมทุกประการ

Leave a Reply