สืบสานพระราชปณิธาน ‘โคกหนองนา’ ช่วยมีอยู่มีกินอย่างยั่งยืน เปิดใจ ‘อดุลย์ วิเชียรชัย’ เกษตรกรรุ่นใหม่

โลกยุคปัจจุบันเป็นโลกแห่งการแข่งขัน การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น มีเอารัดเอาเปรียบแทบทุกสังคม ประเภท “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” การวิ่งตามกระแสของระบบทุนนิยม ซึ่งสนองความต้องการของมนุษย์แบบบ้าคลั่ง รวมทั้งระบบการศึกษาโลกปัจจุบัน มิได้มุ่งสอนให้คนรู้จักพึ่งพาตนเอง แต่สอนให้ไปเป็นเครื่องจักรในโรงงาน เพื่อไปเป็นกลไกหนึ่งในการเข้าไปสนองวงจรอุตสาหกรรม ทำให้มนุษย์ส่วนใหญ่ไร้ “ภูมิคุ้มกัน” ไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า และการเอารัดเอาเปรียบ เพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่งคั่งและความร่ำรวย

ความไม่แน่นอนของชีวิตอันเนื่องมาจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ สงคราม ภัยพิบัติ และรวมทั้งภัยอื่น ๆ   ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ละคนเผชิญกับภาวะยากลำบากมากน้อยแตกต่างกันไป

แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไร ก็รับมือได้ทุกครั้ง เพราะพวกเขามี “ภูมิคุ้มกันที่ดี” อันได้มาจาก การน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา”มาปฏิบัติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์รัชกาลที่ 9 ทรงมอบ “มรดก” อันล้ำค่าให้กับ “ประชาชนชาวไทย” หากนับเป็นทฤษฎีที่ประชาชนรู้จักกันดีคือ “ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง” มีมากกว่า 40 ทฤษฎี รวมทั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันทรง “สืบสาน รักษา ต่อยอด”เจริญรอยตามพระราชบิดาของพระองค์ ที่หลายปีมานี้คนไทยรู้จักกันดีในนามเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”  และโครงการ โคก หนอง นา นี้แหละ ในห้วงเวลาเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด -19 ถือว่าเป็น “ภูมิคุ้มกัน”ชั้นดีให้กับครัวเรือนที่ดำเนินกิจกรรมนี้

“ปลัดเก่ง” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ในห้วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และปลัดกระทรวงมหาดไทย พยายามอย่างยิ่งยวดในการขับเคลื่อนกิจกรรมโคก หนอง นา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้พออยู่ พอกิน และพอใช้ มีภูมิคุ้มกันตนเองและครอบครัว เพื่อเป็นฐานในการ “ต่อยอด” ไปสู่กิจกรรมอื่น ๆ เช่น บางคนอาจต่อยอดไปทำธุรกิจรีสอร์ท โรงงานผลิตอาหารปลอดสารพิษ หรือ บางครัวเรือนต่อยอดธุรกิจอื่น ๆ ที่เอื้อต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลสอดคล้องกับหลัก “เศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ” และ “หลักศาสตร์ของพระราชา” ที่นอกจากมุ่งเน้นให้คนไทยมีกิน มีใช้ มีภูมิคุ้มกันตนเองและครัวเรือนแล้ว มุ่งเพื่อสร้างความสงบร่มเย็นแก่สังคมและประชาชนด้วย

ปัจจุบันการเจริญรอยตาม “ศาสตร์ของพระราชา” แม้ชนชั้นปกครองและนายทุนประเทศไทยส่วนใหญ่จะไม่เห็น “คุณค่า” เพราะไม่ได้สร้างความมั่งคั่งและความร่ำรวยให้เหมือนกับระบบทุนนิยม แต่ก็มีทั้งพระภิกษุสงฆ์ นักธุรกิจ ข้าราชการ ประชาชน รวมทั้งเด็กยุคใหม่หลายกลุ่ม หลายคนคิด “นอกกรอบ” หันมาสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองและชุมชนหมู่บ้านดำเนินกิจกรรมตามศาสตร์ของพระราชา คือ โครงการ โคก หนอง นา อย่างได้ผลจนน่าทึ่ง

“ทีมข่าวพิเศษ” ลงพื้นที่จังหวัดปทุมธานีไปพบกับเด็กหนุ่มจบวิศวะ อาศัยจุดแข็งของตนเองที่เรียนมาในแปลงโคกหนองนาหลายจุดจึงจัดการด้วยระบบไอทีเข้ามาช่วย เป็นศูนย์เรียนรู้ “อดุลย์คลองหลวงฟาร์มเห็ด”  มีภาครัฐหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมสนับสนุนและเป็นภาคีเครือข่าย วันที่ทีมงานลงไป กรมการพัฒนาชุมชนนำเจ้าหน้าที่และเกษตรกรจากประเทศเมียนมาร์ มาดูงานด้วย มีน้อง ๆ นักเรียนสาธิตการเพาะเห็ดให้กับผู้มาเยือน

“อดุลย์ วิเชียรชัย”  เล่าว่าเป็นลูกชาวนาแต่ไม่ได้ร่วมทำนากับพ่อแม่เลย ไม่มีความรู้ด้านเกษตรมาก่อน เพราะพ่อแม่มักจะบอกว่าให้ผมเรียนสูงๆ จะได้ไม่ลำบากเหมือนท่าน และจะได้มีเงิน ผมจึงตั้งใจเล่าเรียนอย่างเดียว

หลังจากเรียนจบด้านวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เขาได้ทำงานในตำแหน่งวิศวกรในธุรกิจสื่อสารรายใหญ่แห่งหนึ่ง แม้จะได้เงินเดือนสูงถึง 3-5 หมื่นบาทต่อเดือน แต่เขาก็รู้สึกไม่สบายใจ ส่วนหนึ่งเพราะเนื้องานที่ต้องเดินทางบ่อย ทำให้ต้องห่างเหินจากครอบครัว อีกทั้งเงินที่ส่งกลับมาให้พ่อแม่ก็ไม่เพียงพอ เพราะต้องนำไปใช้หนี้สินนอกระบบที่กู้ยืมมาลงทุนทำนา

กระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่พ่อของเขาล้มป่วยหนักในปี พ.ศ.2558 จากการใช้และได้รับสารเคมีสะสมจากการทำนา เมื่อบ้านขาดเสาหลัก กับภาระหนี้สินที่ต้องจ่ายต่อเนื่อง ทำให้ลูกชายคนโตตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อกลับมาอยู่บ้านและดูแลครอบครัว

กล่าวว่า ตอนลาออกจากงาน ผมหยิบหนังสือเล่มหนึ่งติดตัวกลับมา 1 เล่ม เป็นหนังสือที่ได้ตอนเรียนมหาวิทยาลัย สนใจอยากอ่านจึงเอาไปไว้ที่ทำงาน แต่ก็ไม่เคยอ่านจริงจัง คือ หนังสือแนวคิด หลักการและการปฏิบัติตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ของ ผศ.ดร.ณรัชช์อร ศรีทอง) ซึ่งภายในมีเรื่องราวเกี่ยวกับหลักการทรงงาน การน้อมนำหลักปรัชญาต่างๆ มาประยุกต์ใช้ ศาสตร์พระราชาของในหลวง รัชกาลที่ 9 และเกี่ยวเนื่องไปถึงในหลวง รัชกาลที่ 10

“ตอนกลับมาอยู่ที่บ้าน ผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้จริงจัง จึงทราบว่าจริงๆ ในหลวง ร.10 ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดมาเนิ่นนานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเริ่ม เดิมเคยเข้าใจว่ามีเพียงด้านการทหาร แต่จริงๆ ยังมีอีกหลายเรื่องมาก ซึ่งปรากฏในหนังสือเล่มนี้ ก็ทำให้ผมฉุกคิดได้ว่าถ้าเราเดินตามรอยเท้าพ่อเหมือนกัน เราจะสามารถสร้างความยั่งยืนได้ การขับเคลื่อนเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์โคกหนองนา”

ทำมาแล้ว 10 ปี จนปัจจุบันเป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่อุดมสมบูรณ์ มากมายไปด้วยพืชผักผลไม้รับประทานไม่ต่ำกว่า 300 ชนิด มีไก่ เป็ด ปลา ไข่ไก่ ไข่เป็ด เห็ด ให้บริโภคในครอบครัวได้ทุกวัน ชีวิตแทบไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตอาหารขึ้นราคาเลย เพราะเก็บผลผลิตจากในพื้นที่มาทำอาหารได้ ไม่ต้องซื้อ อีกทั้งแทบไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพราะไม่ต้องออกจากบ้านไปไหน จากการมีแหล่งอาหารและแหล่งทำงานอยู่ที่บ้าน และแทบไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจและสงคราม เพราะไม่ได้พึ่งพาปัจจัยภายนอกเลย ขณะเดียวกัน มีรายได้จากการนำผลผลิตที่เหลือไปขายแบบสดใหม่และแปรรูปมีรายได้เข้ามาอยู่ตลอด..

เมื่อทีมงานถามว่าเริ่มต้นการเดินตามรอยศาสตร์ของพระราชาหรือเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนาอย่างไร “อดุลย์” เล่าต่อว่าเริ่มชีวิตใหม่ด้วย ‘ทฤษฎีบันได 9 ขั้น โดยได้ศึกษาทฤษฎีบันได 9 ขั้น คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น บุญ ทาน เก็บ ขาย และเครือข่าย ก็เลยมาเห็นว่าการขายไม่ใช่บันไดขั้นที่ 1 การขายเป็นบันไดขั้นที่ 8 ฉะนั้นในหลวง ร.9 บอกว่าเราต้องอยู่ให้ได้ก่อน เมื่อเราอยู่ได้ก็จะรู้จักการขายเอง ก็เลยเป็นสาเหตุว่าทำไมเราถึงไม่เข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในช่วงแรก เพราะเราคิดจะขายอย่างเดียว

“แต่ขณะเดียวกัน การจะเปลี่ยนแปลงพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ ช่วงนั้นที่ผมไม่มีรายได้ แต่ผมก็มีพืชผักสวนครัวไว้กิน ขณะที่ผมขายดอกเห็ดไม่ค่อยได้ ผมก็ยังมีดอกเห็ดไว้กิน ผมมีแหล่งน้ำ มีปลา ผมไม่รู้ตัว เพราะไม่คิดจะขายเหล่านี้เลย คิดว่าทำไปก่อนเพื่อให้เกิดความพอเพียง แต่ปรากฏว่าสิ่งเหล่านี้คือความมั่นคงทางอาหาร เริ่มจากมีอยู่ มีกิน มีใช้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เริ่มรู้จักการแบ่งปัน เมื่อเหลือจากแบ่งปันแล้ว ก็โยงไปเรื่องการแปรรูป เมื่อยังเหลือก็เริ่มเอาไปขาย ซึ่งการขาย จะสืบเนื่องหลังการที่เราเอาไปแบ่งปันแล้ว คนก็จะมาอุดหนุนซื้อเรา ไม่ใช่มาขอเราฟรีแล้ว มันก็เริ่มขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ เลยทำให้เราขายผลผลิตของเราได้ โดยที่เราไม่ต้องเครียด ขณะเดียวกันสามารถสร้างเครือข่ายไปในตัว ก็ทำให้เข้าใจว่าการใช้ทฤษฎีบันได 9 ขั้น นำไปสู่ความพอเพียง เป็นอย่างไร”

อดุลย์มุ่งมั่นศึกษาเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวง ร.9 ที่มีถึง 40 ทฤษฎี เช่น ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง, ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก, ทำป่าเปียกกันไฟ, ฝายชะลอน้ำ, กำแพงแฝก, หลุมขนมครก, คลองไส้ไก่, แก้มลิง ฯลฯ พร้อมศึกษาทฤษฎีโคกหนองนา ซึ่งเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ล่าสุดมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่อย่างเหมาะสม และได้แนะนำต่อให้ชาวชุมชนที่สนใจ จนเริ่มเข้าใจอย่างถ่องแท้

“ตอนแรกชาวบ้านไม่เข้าใจ ไปเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงคือการอยู่ตามอัตคัด ห้ามรวย ต้องทำเอง อย่างอยากกินปลาร้า ต้องทำปลาร้าเอง อยากกินโน่น ก็ต้องทำเอง แล้วต้องอยู่อย่างพอเพียง จนผมมาเปิดให้ชาวบ้านได้รับรู้ ว่าแท้จริงแล้วเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างไร คือ รวยได้ แต่รวยแบบมีเหตุมีผล รวยตามฐานะของตัวเอง สามารถซื้อของหรูหราฟุ่มเฟือยได้ แต่ซื้ออย่างมีเหตุและผล ความพอประมาณของเรา เดินทางสายกลาง และพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง ก็ทำให้เห็นจนชาวบ้านเริ่มเข้าใจ และรู้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่การทำเกษตรอย่างเดียว แต่ทุกอาชีพสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้หมด จึงเป็นที่มาว่าคนเริ่มจะให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจพอเพียง”

การขยายเครือข่ายเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  “อดุลย์ วิเชียรชัย” ยังดึงชุมชน ผู้เฒ่าผู้แก่ เข้ามามีบทบาทต่อการเติบโตของ “ศูนย์เรียนรู้สัมมาชีพชุมชนตำบลคลองหก” แห่งนี้ด้วยการส่งเสริมอาชีพจักสานข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ การผลิตตุ๊กตาจากกะลามะพร้าว ส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำอาหารรับรองผู้เข้ามาศึกษาดูงาน ทำขนม จัดเบรก มีรายได้กันทั่วถึง

“เศรษฐกิจพอเพียงแก่นแท้คือการพัฒนาคน พัฒนาชีวิต พัฒนามนุษย์ พัฒนาอาชีพของตนเองให้ดีขึ้น ก็เลยเป็นที่มาของการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในรูปแบบโคกหนองนาโมเดล ผมเปลี่ยนแปลงพื้นที่ 10 ไร่เป็นโคกหนองนาโมเดล โดยใช้หลักภูมิสังคม ภูมิศาสตร์ ให้สามารถใช้งานได้จริง”

ความสำเร็จในการทำแปลงโคกหนองนาของอดุลย์และภาคีเครือข่ายล่าสุด “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” พร้อมคณะต้องลงไปดูความสำเร็จและขอให้ “อดุลย์” ไปช่วยพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เกษตร “ทฤษฎีใหม่” ตามแนวทางอารยเกษตร จำนวน 150 ไร่ คลอง 15 อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ที่วัดระฆังโฆสิตาราม ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยกำลังดำเนินการให้ด้วย

พร้อมกับกล่าวชื่นชม “อดุลย์” ว่า อดุลย์เปรียบเสมือน Brand Ambassador ผู้แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมว่า การน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่กว่า 40 ทฤษฎี ตลอดจนอารยเกษตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นแนวทางที่จะทำให้เราและสังคมโดยรวมมีความสุข ด้วยความอิ่มอกอิ่มใจที่ทำให้โลกของเราได้มีอายุที่ยืนยาว และนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ในการร่วมดูแลรักษาโลกใบเดียวนี้ของเราให้ยั่งยืน และยังเป็นการสนองแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ความว่า ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง..

“ทีมข่าวเฉพาะกิจ” ได้ถามถึงโคกหนองนา เหมาะสมกับสังคมไทยอย่างไร  “อดุลย์” ตอบว่า ความจริงเรื่องโคกหนอง นา สำคัญมากต่อสังคมไทย มันไม่ใช่แค่มีพืชผักอาหารการกินที่สมบูรณ์เท่านั่น มันโยงไปถึงการมีชีวิตสุขภาพที่ดี มีภูมิคุ้มกัน เป็นสังคมแห่งความเกื้อกูลและแบ่งปันซึ่งกันและกัน อันนี้มันคือวิถีชีวิตของพวกเราชาวไทยอยู่แล้ว และสิ่งสำคัญที่สุดคือ การมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ปลอดมลพิษ เรื่องโคกหนองนา เป็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติทั้งเรื่องดิน น้ำ และป่า  การจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมตามภูมิสภาพสังคม ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น บางพื้นที่อาจทำเป็นพื้นที่รับน้ำ บางพื้นที่อาจทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร หรือค่าเฟ่ โคกหนองนา มันไม่ใช่แค่ปลูกผัก ปลูกป่าเท่านั้น

สำหรับตนเองโคกหนองนาถือว่าตอบโจทย์ชีวิตมากอย่างน้อยได้พัฒนาศักภาพตัวเอง 3 ประการคือ หนึ่ง มันคือชีวิตจริง คือ ลงมือจริง ทำจริง และได้จริง มีผักปลอดสารพิษได้รับประทาน ได้อยู่กับครอบครัว มีกิจกรรมร่วมกัน มีธรรมชาติแวดล้อมที่สมบูรณ์ ป่า 3อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

“สำหรับบางคนตั้งเป้าหมายสูงเกินไป คาดหวังสูงเกินไป การทำโคกหนองนา มันต้องเดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ วางเป้าหมายให้ชัดแล้วเดินตามเป้าหมายอย่างน้อยให้ยึดทฤษฎีบันได 9 ขั้นของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นที่ตั้ง  บางรายเข้ามาทำแล้ว คาดหวังเงินเป็นตัวตั้ง เรื่องความอยากเป็นหนี้ ควรเลือกเป็นข้อสุดท้าย เวลาเข้ามาทำโคกหนองนานี้ ต้องยึดทฤษฎีบันได้ 9 ขั้นเป็นอันดับแรก แล้วให้ลงมือทำนั่นคือความจริงของชีวิต อย่าเฟ้อฝันลงมือทำคือตัวสำเร็จ ต่อจากนั้นค่อยวางเป้าหมาย และ ความอยากเป็น เป็นอันดับสุดท้าย..”

“อดุลย์ วิเชียรชัย” ในวัย 39 ปี ริเริ่มทำเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่เรียนจบใหม่ ๆ  เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่หันกลับมา “สำนึกรักบ้านเกิด” เดินตามรอยศาสตร์ของพระราชา พัฒนาพื้นที่ของตนเอง 26 ไร่เป็นศูนย์เรียนรู้ และต่อยอดมาเป็นโคกหนองนา 10 ไร่ วันนี้นอกจากทำให้ชีวิตของเขามีความสุข ตามเป้าหมายชีวิตที่วางไว้แล้ว ยังได้เป็น “ครูพาทำ”  นำองค์ความรู้ขยายไปสู่ครอบครัว สังคมด้วย

Leave a Reply