ส่อง..การศึกษาไทย หลัง COVID-19 (Education after COVID-19)

   โดย  ผศ.ดร.ปัญญา คล้ายเดช  อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต มจร วิทยาเขตขอนแก่น

        หลายท่านจินตนาการไปว่า หลักจากสิ้นสุดเหตุการณ์ไวรัสโคโรน่าไปแล้ว ความเป็นไปของชาวโลก จะเป็นไปเช่นไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของการศึกษา  การจัดการศึกษาโดยการจัดการเรียนการสอน การวัดประเมินผลการศึกษา ย้อนหลังไปแม้แต่การรับสมัครนักศึกษาใหม่ และการลงทะเบียนผ่านระบบ”ออนไลน์” หรือแม้กระทั่งการจัดประชุมแบบ “ออนไลน์” ได้ถูกนำมาใช้ในการจัดการศึกษาในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของ Covid-19 ภายใต้ภาวะ “แยกกันเราอยู่ รวมหมู่เราอาจตาย” หรือ “Social Distancing” เพื่อป้องกันระบาดของโรค ดังนั้น การจัดการศึกษาผ่าน “ระบบออนไลน์” จึงเป็นที่ยอมรับและทุกคนต้องปรับตัวให้สอดรับกับระบบการศึกษาในยุค Covid-19 นี้ หรืออาจจะกล่าวได้อีกมิติหนึ่งว่า Covid-19 เป็นปฏิกิริยาตัวเร่งของยุค Disruption ที่แทนที่เราจะต้องปรับตัวแบบเชื่องๆ ช้าๆ กลับมาต้องปรับตัวแบบพลิกผันในชั่วข้ามคืน

Model of Old Education

 รูปแบบการจัดการศึกษาในรูปแบบเดิมๆ นั้น ก็คือ การจัดให้มีสถาบันการศึกษา จ้างครู สร้างบทเรียนเป็นรายวิชา จัดอาคารสถานที่ที่เหมาะสมกับการเรียน มีตารางสอน มีห้องเรียน มีการวัดประเมินผลการเรียน ให้กับผู้ที่เป็นนักศึกษาของแต่ละสถาบัน (Education model is content of knowledge, teacher, time, space, evaluation and students) ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนจึงต้องมีลักษณะการเรียนในชั้นเรียนแบบ face to face ที่นักศึกษาต้องเข้าห้องเรียนตามที่กำหนด(ร้อยละ 80) มีการสอบวัดผลและประเมินผลแบบปิด (ปิดหนังสือ ห้ามลอก ห้ามดู)

Model of New Education

       รูปแบบการจัดการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพียงเพิ่มเติมเล็กน้อยคือ การจัดให้มีสถาบันการศึกษา จ้างครูมาสร้างบทเรียนเป็นรายวิชาโดยผ่านระบบ “ออนไลน์” โดยไม่จำเป็นต้องใช้สถานที่ ไม่ต้องมีห้องเรียน มีการวัดประเมินผลการเรียนให้กับผู้ที่เป็นนักศึกษาของแต่ละสถาบัน (Education model is content of knowledge, teacher, online innovation, evaluation and students) ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนจึงมีลักษณะการเรียนที่เป็นอิสระไม่จำเป็นต้อง face to face ไม่จำเป็นต้องเข้าห้องเรียนตามที่กำหนด และมีการสอบวัดผลและประเมินผลแบบเปิด (เปิดหนังสือ ลอกได้ ดูกันได้ ถึงแม้จะห้ามก็จะดู) การเรียนขึ้นอยู่กับการเรียนรู้โดยผ่านกิจกรรมตามที่ครูผู้สอนกำหนดหรือสร้างเงื่อนไขให้กับผู้เรียนได้ปฏิบัติตาม

       แต่การจัดการศึกษาในช่วงระยะเวลาวิกฤตินี้ จะมีลักษณะการเรียนแบบ face to face ที่นักศึกษาทุกคนยังต้องปรากฏตัวอยู่หน้าจอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อให้ครูได้สอนสดๆ เหมือนอยู่ในห้องเรียน แม้กระทั่งเวลาสอบก็ยังต้องเอากล้องมาจ่อแสดงตัวว่า กำลังทำข้อสอบด้วยตนเองโดยไม่ลอกจากผู้อื่น(ประเมินผลแบบปิด)

       อุปกรณ์ เครื่องมือ หรือนวัตกรรมสำหรับการจัดการศึกษาออนไลน์ในห้วงวิกฤตินี้ จะมีลักษณะโปรแกรมฟรีดาวน์โหลดที่ไม่ต้องลงทุนซื้อ ที่เกิดขึ้นจากการแสวงหาของครูผู้สอนของแต่ละท่านเองเป็นหลัก แต่ในส่วนของโปรแกรมที่มีการจัดทำโดยสถาบันการศึกษาที่มีการจ้างจัดทำเป็นการเฉพาะนั้นยังมีในสัดส่วนที่จำนวนน้อย ซึ่งคิดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีบริษัทที่ผลิตโปรแกรมการสอนออนไลน์นี้ออกมาขายอย่างแน่นอน ถ้าสถาบันการศึกษาจะลงทุนผลิตโปรแกรมการสอนออนไลน์ขึ้นมาก็คงต้องคิดหนักกับงบประมาณพอสมควรเช่นกัน

ข้อทำนาย

            ภายหลังจากเหตุการณ์ Covid-19 สิ้นสุดลง คิดว่าจะมีรูปแบบการจัดการศึกษาออกเป็น ๓ รูปแบบ คือ

            ๑.การจัดการศึกษาในรูปแบบ Old Education คือ กลับไปจัดการการเรียนการสอนในแบบที่ตั้ง แบบเช็คชื่อ เรียนแบบ Face to Face ใช้ทรัพยากรการศึกษาที่ลงทุนไว้แล้วเหมือนเดิม และจัดการวัดผลประเมินผลแบบปิด (ห้ามดูกัน ห้ามลอกกัน)  เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นการเรียนรู้แบบสด (Fresh Learning)

            ๒.การจัดการศึกษาในรูปแบบ New Education คือ ไม่ย้อนกลับไปสู่การศึกษาแบบเดิม แต่เป็นการมุ่งการศึกษาแบบออนไลน์เต็มรูปแบบ โดยใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนออนไลน์เข้ามาใช้การเรียนที่เป็นอิสระไม่จำเป็นต้อง face to face ไม่จำเป็นต้องเข้าห้องเรียนตามที่กำหนด และมีการสอบวัดผลและประเมินผลแบบเปิด เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นการเรียนรู้แบบแห้ง (Dry Learning)

            ๓.การจัดการศึกษาในรูปแบบผสมระหว่าง Old and New Education คือ มีการกลับไปจัดการการเรียนการสอนแบบในที่ตั้ง แบบเช็คชื่อ เรียนแบบ Face to Face  แต่มีการใช้การศึกษาแบบออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษา เช่น ใช้เป็นฐานในการจัดกิจกรรมเสริมความรู้สำหรับนิสิต เช่น ข้อสอบก่อนเรียน หลังเรียน ข้อสอบกลางภาค เป็นต้น เรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า เป็นการจัดการเรียนรู้แบบกึ่งสำเร็จรูป (Fresh & Dry Learning)

            สำหรับแนวโน้มว่าจะจัดการศึกษาในรูปแบบใดนั้น ปัจจัยสำคัญคือ Covid-19 จะอยู่กับคนไทยได้ยาวนานแค่ไหน หากอยู่ระยะสั้น ก็มีแนวโน้มกลับไปแบบเดิม หากอยู่ระยะยาว ก็มีแนวโน้นไปแบบใหม่ ถ้าไม่สั้นไม่ยาว ก็อาจจะออกลูกผสมก็ได้

*****************

  

Leave a Reply