ผู้ว่าฯ เมืองอุบลฯ ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายขับเคลื่อน“อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” สร้างความสุขแบบยั่งยืนให้ชุมชน

วันที่ 6 มิ.ย. 66 นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เผยว่า จังหวัดอุบลราชธานีมีความปรารถนา (Passion) และมุ่งมั่นตั้งใจในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตดีและมีความสุขอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) ด้วยการขับเคลื่อนโครงการ/กิจกรรมเพื่อเสริมสร้างสิ่งที่ดีในพื้นที่ในทุกมิติ โดยเน้นย้ำให้นายอำเภอทุกอำเภอ ได้เป็นผู้นำ “ทีมอำเภอ” อันประกอบด้วย ทีมที่เป็นทางการ ได้แก่ ปลัดอำเภอ ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทีมที่ไม่เป็นทางการ (ทีมจิตอาสา) ได้แก่ ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้ง 7 ภาคี คือ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน เพื่อลดช่องว่างที่อาจจะส่งผลต่อความต่อเนื่องของแนวนโยบายหรือแนวทางการทำงานที่หนุนเสริมให้เกิดสิ่งที่ดีในพื้นที่จากการที่นายอำเภอหรือข้าราชการต้องย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่นหรือเกษียณอายุราชการ โดยมี “ทีมอำเภอ” เป็นผู้สานต่อสิ่งที่ดี ถ่ายทอดไปยังนายอำเภอท่านใหม่ และหลอมรวมพลังความสามัคคีของคนในชุมชน

“ตนได้มอบหมายให้นายกําพล สิริรัตตนนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในกิจกรรมรวมพลังภาคีเครือข่ายลงพื้นที่อำเภอศรีเมืองใหม่ติดตามการขับเคลื่อนโครงการ “อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้เพื่อเป็นแหล่งเศรษฐกิจให้ชุมชน ณ สวนมุข บ้านป่ากุงน้อย หมู่ที่ 2 ตำบลลาดควาย กิจกรรมการมอบกล้าพันธุ์ต้นไม้ จำนวน 5,000 ต้น ให้แก่ส่วนราชการและพี่น้องประชาชน กิจกรรม Kick Off การปลูกต้นไม้ ณ วัดศรีมงคล บ้านไร่ หมู่ที่ 4 ตำบลตะบ่าย และกิจกรรม Kick Off การก่อสร้างฝายมีชีวิต ณ ลำห้วยตุงลุง บ้านไร่ หมู่ที่ 4 ตำบลตะบ่าย โดยได้รับเมตตาจาก คณะสงฆ์ เป็นหลักชัยนำหัวหน้าส่วนราชการอำเภอ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษา สมาชิกแม่บ้านมหาดไทย จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอศรีเมืองใหม่ กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มองค์กรภาคประชาชน/เอกชน และประชาชนจิตอาสาเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก” นายชลธี ฯ กล่าว

นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวอีกว่า จังหวัดอุบลราชธานีได้นำแนวทางการทำงานตามนโยบายของท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ต้องมุ่งมั่นในการสร้างทีมงานที่มีแนวทางการทำงานลงพื้นที่เข้าถึงประชาชนตามหลักการทำงานที่สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานไว้ว่า “รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” และ “ผู้นำ” ไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ “ต้องมีทีม” และต้องนำทีมลงไปรับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชน จึงเป็นที่มาของโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ที่กระทรวงมหาดไทยมุ่งเน้นให้นายอำเภอในฐานะนายกรัฐมนตรีของอำเภอ สร้างทีมงานทุกระดับในพื้นที่ ได้แก่ ทีมจังหวัด ทีมอำเภอ ทีมตำบล และทีมหมู่บ้าน ซึ่งในทีมงานแต่ละระดับจะต้องมีทีมงานคู่ขนาน ทั้งทีมงานที่เป็นทางการตามกฎหมาย เช่น คณะกรรมการอำเภอ คณะกรรมการตำบล คณะกรรมการหมู่บ้าน และทีมงานที่ไม่เป็นทางการหรือทีมงานจิตอาสา ประกอบไปด้วย 7 ภาคีเครือข่าย อันได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคศาสนา ภาควิชาการ และภาคสื่อสารมวลชน โดยทุกภาคส่วนมาร่วมกันขับเคลื่อนการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชนในพื้นที่ ให้รับรู้ มีส่วนร่วมและเกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยนายอำเภอต้องเป็นผู้นำการสร้าง Partnership ในพื้นที่ ด้วยการสร้างทีมและพบปะพูดคุยกับทีมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่า นายอำเภอ พร้อมที่จะเป็นผู้นำการขับเคลื่อนมาสู่พื้นที่ และพร้อมที่จะ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ซึ่งนำมาสู่การทำงานที่มาจากการร่วมมือกันของทุกฝ่ายในพื้นที่ ที่จะช่วยกันสอดส่องดูแล สร้างการพัฒนาร่วมกัน ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีของการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า การหลอมรวมพลังสร้างความรักสามัคคีของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้เพื่อเป็นแหล่งเศรษฐกิจให้ชุมชน การมอบกล้าพันธุ์ต้นไม้ จำนวน 5,000 ต้น ให้แก่ส่วนราชการและพี่น้องประชาชน และกิจกรรม Kick Off การปลูกต้นไม้ ณ วัดศรีมงคล เพื่อสร้างพื้นที่ธรรมชาติพร้อมทั้งเป็นคลังอาหารจากพื้นดินให้กับชุมชน รวมทั้งกิจกรรม Kick Off การก่อสร้างฝายมีชีวิตจากวัสดุในท้องถิ่น ณ ลำห้วยตุงลุงเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยนั้น ล้วนสอดคล้องกับหลักการทรงงานและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” อันจะก่อให้เกิดการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังเป็นการเจริญรอยตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน สร้างความรักความสามัคคีให้เกิดขึ้นในครัวเรือน ชุมชน สังคม ทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการบูรณาการภาคีเครือข่ายร่วมกัน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” นำไปสู่การเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และยังจะทำให้พี่น้องประชาชนและทุกคนได้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของความมั่นคงด้านอาหาร ความสำคัญของดิน ตามแนวคิด “อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน” เนื่องในวันดินโลก (World Soil Day) อีกด้วย

“โครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน จะสร้างแรงบันดาลใจ และ Passion ให้ทุกคนในพื้นที่มาร่วมกันค้นหาปัญหาและกำหนดแนวทางไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น รวมทั้งส่งเสริมพลังการมีส่วนร่วมให้เพิ่มพูน ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างยั่งยืน และขอขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ทำให้กิจกรรมนี้ลุล่วงสำเร็จตามเป้าหมาย นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการทำให้การพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้นแบบให้กับหมู่บ้านอื่น ๆ พัฒนาไปด้วยพลังภาคีเครือข่าย Partnership เพื่อที่จะทำให้อุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่มีความสุขอย่างยั่งยืนตลอดไป” นายชลธี ฯ กล่าวในช่วงท้าย

Leave a Reply