การลงพื้นที่เพื่อไปพูดคุยกับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยและไปสำรวจพื้นที่แปลงโคกหนองนาที่น้ำไม่ท่วมคราวนี้ของทีมงานทั้งอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก จังหวัดสุโขทัย ในช่วงปลายเดือนตุลาคม การเดินทางค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะการไป-กลับอำเภออุ้มผาง ที่ต้องใช้เวลามาก ถนนอันตราย ฝนตกผสมกับหมอกลงหนา ถนนลื่น มีโค้งมาก ตามรายทางร้านอาหารส่วนใหญ่ประกาศปิดหรือเลิกกิจการไปแล้ว ยิ่งคากลับจากอำเภออุ้มผางที่ถูกขนานนามว่า “ดินแดนดอยฟ้า” กว่าจะถึงสถานที่เป้าหมายจังหวัดสุโขทัยค่ำมืด มองสองรอบข้างถนนทุ่งนา ไร่สวน ของประชาชนส่วนใหญ่ถูกน้ำท่วม ร้านอาหารปิดหมด โชคดีหาที่พักริมทางได้ และได้รับความเมตตาของเจ้าของรีสอร์ทที่โทรสั่งอาหารกล่องมาให้เราได้รับประทานที่ห้อง สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นประสบการณ์การที่น่าจดจำสำหรับการลงพื้นที่ ที่แปลกจากทุกครั้งที่ผ่านมา 30 กว่าจังหวัด
ความจริง “จังหวัดสุโขทัย” ทีมงานเรามีเป้าหมายที่จะไปสำรวจพูดคุยกับเจ้าของแปลงโคกหนองนา 2 แห่ง คือ ในอำเภอศรีสำโรง และอำเภอศรีสัชนาลัย แต่ที่อำเภอศรีสัชนาลัยเป็นแปลงที่ไม่ถูกน้ำท่วม ขนาด 15 ไร่ ที่นี้เราได้พูดคุยกับเจ้าของแปลงที่เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหญิง และมี “ครูพาทำ” ของกรมการพัฒนาชุมชนอีก 2 คน มาเป็นพี่เลี้ยงและลงมือทำให้ การออกแบบแปลนโคกหนองนาตรงนี้ครูพาทำชื่อ วัฒนา โพธิ์เล็ก หรือ “ครูต้น” บอกว่า ออกแบบโดยที่ปรึกษากรมการพัฒนาชุมชน คือ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล และ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ หรือ ชาวโคกหนองนา เรียกกันว่า “อาจารย์โก้และอาจารย์หน่า” รายละเอียด หากมีโอกาสจะมาเล่าสู่กันฟัง
หลังจากแวะไปดูแปลงโคกหนองนาขนาด 15 ไร่ที่ออกแบบโดย อ.โก้ และ อ.หน่า ที่ปรึกษากรมการพัฒนาชุมชนแล้ว เป้าหมายต่อไปคือ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วม แต่มีแปลงโคกหนองนาบางแปลง ที่ออกแบบและขุดมาดี “น้ำไม่ท่วม”
“ศพช.พิษณุโลก” หรือ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน เป็น 1 ใน 11 ศูนย์ ของกรมการพัฒนาชุมชน สถานที่สะอาด มีแปลงผัก มีโคกหนองนา ซ้ำที่นี้มีตลาดนัดชื่อ “ตลาดหัวเขา” เปิดทุกวันเสาร์ จำหน่ายอาหาร ผัก และกล้าพันธุ์ไม้ เจ้าหน้าที่หากจำไม่ผิดชื่อ “แอน” พาชมรอบ ๆ บริเวนพื้นที่ของศูนย์ที่จัดเอาไว้สวยงาม ตามศูนย์ทั่วไปของกรมการพัฒนาชุมชนมีตึกเฉกเช่น โรงแรม มีห้องพักหลายสิบห้อง บางแห่งเป็นร้อย เหมาะแก่การพักผ่อน คืนนี้เรานอนที่นี้โดยได้รับการอำนวยความสะดวกจากผู้ตรวจการกรมการพัฒนาชุมชน “สรสาสน์ สีเพ็ง” และการต้อนรับที่ดียิ่งจาก “ประยุกต์ สุดธัญญรัตน์” ผอ.ศพช.พิษณุโลก
ในวันรุ่งขึ้นเวลา 09.00 น. ณ ที่ว่าการอำเภอวังทอง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากที่พัก ทีมงานมีนัดกับ “เจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน” เพื่อเดินทางไปยังแปลงโคกหนองนาของ “ธนันธร ปลอดครบุรี” ซึ่งอยู่ห่างออกไปขับรถใช้เวลาประมาณ 45 นาที ก่อนถึงแปลงเป้าหมายเห็นมีน้ำท่วมขังอยู่เป็นระยะ ๆ และเมื่อไปถึงร่องรอยน้ำท่วมตามรายทางก่อนเข้าแปลงก็ยังมีให้เห็นอยู่เป็นจุด ๆ
“ธนันธร ปลอดครบุรี” เป็นข้าราชการท้องถิ่น เป็นช่างของ อบต. ในพื้นที่ ปัญหาเรื่อง ช่าง ที่เป็นอุปสรรคอันดับหนึ่งของกรมการพัฒนาชุมชนตัดทิ้งไป ปัญหาการออกแบบแปลง ไม่มีปัญหา
“เรื่องช่างกับการออกแบบสำหรับพี่ไม่มีปัญหา เพราะเราเป็นช่างอยู่แล้ว ปกติตรงนี้ทำหลากท่วมทุกปี แต่หลังจากพี่ทำโคกหนองนาจำนวน 3 ไร่ แล้วน้ำไม่ท่วม สาเหตุหลักคือ หนึ่ง เรามีบ่อเก็บน้ำทั้งบ่อเดิมและบ่อใหม่ที่ขุดเสร็จแล้ว สอง มีคันนาทองคำสูงและกว้าง แน่นหนา และสาม เรามีโคกสูงกว่านาทั่วไปเกือบ 2 เมตร เท่ากันถนนลาดยาง น้ำจึงเข้ามาไม่ได้.”
ภายในแปลงสังเกต “หลุมพอเพียง” มีทั่วไปหมดไม่ต่ำกว่า 10 จุด หลุมพอเพียง สำหรับคนทำโคกหนองนาหรือตามศาสตร์ของพระราชาคงเข้าใจกันทั่วไป แต่สำหรับผู้อ่านที่ไม่เข้าใจลองไปทำความเข้าใจกันดู สำหรับคนมีพื้นที่น้อย คนเมือง เหมาะที่จะทำมาก
ธนันธร ปลอดครบุรี มองโคกหนองนา ผลสำเร็จนอกจากน้ำไม่ท่วมแล้ว คือ การได้มีกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว ทั้งในเวลานอกงานหรือวันหยุด มีผักปลอดสารพิษได้กิน เมื่อเราถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการเดินหน้าแปลงโคกหนองนา เธอบอกว่า
“สำหรับสุดคือภูมิสังคม การออกแบบ การขุดสระต้องบางแผนกับเจ้าของแปลง และให้เป็นไปตามนั้น บางแปลงมีสระน้ำอยู่แล้ว อาจต้องการแค่ 1 สระ บางคนลงไว้แค่ 1 ไร่ หากขุดสระหมด พื้นที่ทำงานกินก็เหลือ ภูมิสังคมนี่สำคัญ ต้องถามเจ้าของแปลงเขาว่าอะไรยังไง เพราะบางคนพอใจบ้างไม่พอใจบ้าง ตรงนี้กรมการพัฒนาชุมชนต้องแก้ไข”
ปัญหาหลัก ๆ ของการฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนทั่วประเทศ ที่ประสบเหมือนกันคือ เรื่อง แบบแปลน สอง เรื่องช่างและการขุด และ สาม เรื่องการได้รับการสนับสนุนพันธุ์ไม้ และ อุปกรณ์ช้า ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่คนของกรมการพัฒนาชุมชนต้องแก้ไข
ในขณะที่คนกรมการพัฒนาชุมชนเองก็มี ปัญหาเรื่องช่าง ที่ไม่มีคนของตัวเอง ขอจากท้องถิ่นก็ยาก มักไม่ได้รับความร่วมมือ เพราะไม่มีค่าตอบแทนอะไรเลย เลยพื้นที่โชคดีคือมี “นพต” หรือนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเขามาเติมเต็มให้
ห่างจากพื้นที่โคกหนองนาของธนันธร ปลอดครบุรี ไม่ไกลนัก “พี่ไก่” อำไพ พอกประโคน สมัครทำโคกหนองนาไว้ในพื้นที่ตนเอง 3 ไร่ อยู่กลางทุ่งนา ช่วงที่ไปรถเข้าไปไม่ถึงต้องเดินเข้าไป ผ่านโคกหนองนาซึ่งเป็นของญาติพี่ไก่อีกแปลกหนึ่ง ทั้ง 2 แปลง รอดพ้นจากน้ำท่วมเหมือนกัน เนื่องจากมีคันดินที่ชาวโคกหนองนาเรียกว่า “คันนาทองคำ” สูงกว่าพื้นท้องทุ่งเกือบ 2 เมตร น้ำจึงเข้าไปไม่ได้ หลังเดินสำรวจรอบ ๆ แปลงเสร็จเรียบร้อยพี่ไก่ บอกกับเราว่า
ตอนน้ำมา แปลงนารอบ ๆนี้ท่วมหมดเลย แต่โคกหนองนาเราน้ำไม่ท่วม ภูมิใจมาก ตอนนี้ก็มีปลูกต้นไม้ สูง กลาง ต่ำ เตี้ยดิน ใต้ดินเราก็ปลูกข่า สูงก็คือต้นสัก ต้นประดู่ เราปลูกเยอะรอบที่เลย แล้วก็มีต้นกล้วย ต้นฝรั่ง ในน้ำก็เลี้ยงปลาประเภท ปลาดุก ปลาทับทิม ปลานิล ปลาจีน ปลาสวายหอยเชอรี่ ไก่ก็มี
“การทำเศรษฐกิจพอเพียงแบบนี้ มีอาหารไว้ทานเองโดยไม่ต้องไปซื้อ ไม่ต้องจ่ายเงิน เราก็มีอาหารทุกอย่างในพื้นที่ของเราสามารถเอามาทำอาหารได้ ลูกหลานไม่มีงานทำ ตกงาน กลับมาบ้านเกิด มันก็มีพื้นที่รองรับ สำหรับน้ำในหน้าแล้ง แปลงนี้เพิ่งขุดได้ไม่นาน คงต้องดูฤดูกาลที่จะมาถึงนี้ว่า เก็บน้ำอยู่ไหม ตรงนี้มีปัญหาคือดินเป็นดินเหนียว ดินไม่สมบูรณ์ ก็คิดว่าจะต่อยอดจะทำเองจะเอาหน้าดินมาเติม..”
เมื่อเราถามถึงการดูแลของกรมการพัฒนาชุมชน หลังการขุดสระพี่ไก่ บอกว่า กรมการพัฒนาชุมชนเขาก็มาดูแลเริ่มแรกตั้งแต่ขุดก็มีน้องพัฒนาชุมชนมาให้คำปรึกษาแล้วก็ดูแลเรื่องพันธุ์ต้นไม้ ดูแลเรื่องพันธุ์ปลา พันธุ์ไก่ พันธุ์เป็ดมาให้เราต่อยอดเอง
“พช.เขาสนับสนุนเร าเป็นตัวอุปกรณ์และพันธุ์ไม้ ที่ได้มาก็มี มูลวัวมาให้ มีฟาง ต้นไม้ชนิดละ 5 ต้น และก็ปลาก็ได้ 100 ตัว ไก่ก็ได้ 5 ตัว เป็ด 5 ตัว และอุปกรณ์อื่น ๆ อีกเล็กน้อย ที่เหลือเราก็หางบส่วนตัวบ้าง ขอจากหน่วยงานรัฐบ้าง มาเสริม”
พี่ไก่เล่าถึงความสำเร็จและความสุขที่เกิดจากการทำโคกหนองนาว่า ความสุขตรงนี้เกิดขึ้นมากมาย โคกหนองนา มันไม่ใช่เฉพาะแค่ตอบสนองความต้องการแค่ผักยังเดียว มันมีระบบเอามื้อสามัคคี ระบบเกื้อกูลแบ่งปันซึ่งกันและกันด้วย และครอบครัวก็ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันด้วย เพราะมีกิจกรรมให้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ..
ในขณะที่ “เจ” ธีรัตน์ ดวงตานนท์ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบหรือ นพต. หนุ่มวิศวะคอมพิวเตอร์จาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บอกกับเราว่า
หน้าที่เราเริ่มต้นตั้งแต่การขุด ออกแบบ วัดเพิ่มที่ เป็นผู้ช่วยช่างไปในตัว และในฐานะตัวเองจบวิศวะมา เรื่องพวกนี้มิใช่งานยาก แม้กระทั้งในแปลงก็ช่วยหมดตั้งแต่ยกเสาสร้างบ้าน สร้างฐานเรียนรู้ และพูดถึงโคกหนองนาว่า
“โคกหนองนา ผมว่าหลัก ๆ คือการเก็บน้ำครับ เก็บน้ำให้ใช้เพียงพอต่อการเกษตรอย่างนี้ครับ ทั้งอยากปลูกอะไรก็ปลูกได้ขอให้มีน้ำ ถ้าเปรียบเสมือนโคกหนองนาเป็นร่างกายอย่างนี้ครับน้ำมันเหมือนกับเลือดเลย น้ำคือชีวิต น้ำก็เหมือนกับเลือดเอาไว้หล่อเลี้ยงเอาไว้นำสารอาหารไปให้พืชต่าง ๆที่ ปลูกครับ ผมว่ามันสำคัญมากครับ ถ้าสมมติว่ามีน้ำชาวบ้านก็มีรายได้ เพราะปลูกพืชผักได้ โคกหนองนา หัวใจสำคัญมันจึงอยู่ที่การเก็บน้ำ..”
การเดินทางลงพื้นที่เพื่อไปฟังเสียงสะท้อนของข้าราชการคนกรมการพัฒนาชุมชน นักปราชญ์ชุมชน แกนนำหมู่บ้าน ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งนักพื้นที่ต้นแบบหรือ นพต.ทุกพื้นที่การทำงานของนพต.มีลักษณะคล้ายคลึงกันคือ เป็นตัวเชื่อมระหว่างข้าราชการและประชาชนในพื้นที่ ในขณะเดียวกันก็เป็นแรงงาน เป็นให้กับเจ้าของแปลง เป็นผู้ช่วยช่างในท้องถิ่น นพต.ส่วนมากเป็นนักศึกษาจบใหม่ เป็นคนในท้องถิ่น มีความรู้ ฉลาดในการใช้ชีวิต เสียดายว่าสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ หากรัฐบาลไม่ให้งบประมาณมาต่อสัญญาให้กับกรมการพัฒนาชุมชน เราต้องสูญเสียกำลังของกลุ่มคนเหล่านี้ไป ในการขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนเกือบหนึ่งหมื่นชีวิตทั่วประเทศ..
Leave a Reply