เปิดประวัติพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) วัดหลิงกวง

วันที่ 23 พ.ย. 67 ทีมโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม เปิดประวัติ พระเขี้ยวแก้ว หรือ พระทาฐธาตุ คือ พระทันตธาตุส่วนที่เป็นเขี้ยวของพระพุทธเจ้า จัดเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ไม่แยกกระจัดกระจาย องค์มีลักษณะแข็งแกร่งรวมกันแน่น ซึ่งตามพระไตรปิฎกภาษาบาลี กล่าวถึงมหาปุริสลักขณะ 32 ประการ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึง ลักษณะของพระทาฐะหรือเขี้ยวของบุคคลผู้มีลักษณะแห่งมหาบุรุษว่า “เขี้ยวพระทนต์ทั้งสี่งามบริสุทธิ์”

ข้อมูลนี้จึงทำให้เชื่อกันว่า พระเขี้ยวแก้วมีทั้งหมด 4  องค์ ประกอบด้วย พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา ท้าวสักกะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา ประดิษฐานที่แคว้นกลิงคะ แล้วถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ลังกาทวีป (วัดพระเขี้ยวแก้ว ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน) พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ประดิษฐาน ณ แคว้นคันธาระ ต่อมาถูกอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่เมืองฉางอัน ประเทศจีน (ซีอาน) โดยพระภิกษุฟาเหียนเมื่อคราวจาริกไปสืบพระศาสนายังอินเดีย ปัจจุบันพระเขี้ยวแก้วองค์นี้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และพระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ประดิษฐานในภพพญานาค

วัดหลิงกวงสร้างขึ้นในรัชศกต้าลี่ (ค.ศ. 766 – 779) ราชวงศ์ถัง ต่อมามีการสร้างพระเจดีย์เจาเซียนและในปี ค.ศ. 1071 ได้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วมาประดิษฐาน ต่อมาพระเจดีย์เจาเซียนถูกทำลายจากเหตุการณ์ความวุ่นวายในปี ค.ศ. 1900 ถัดมาปี ค.ศ. 1901คณะสงฆ์ค้นพบกล่องศิลาบรรจุพระเขี้ยวแก้ว เวลาต่อมาปี ค.ศ. 1957 มีการบูรณะพระเจดีย์และพุทธสมาคมจีนได้ริเริ่มการสร้างพระเจดีย์ใหม่กระทั่งแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1964 และอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วมาประดิษฐานไว้ภายในพระสถูปทองคำประดับอัญมณีในพระเจดีย์ ณ วัดหลิงกวง ซึ่งพระเขี้ยวแก้วองค์นี้มีความยาวประมาณ 1 นิ้ว และเชื่อกันว่าผู้ที่มองเห็นองค์พระเขี้ยวแก้วจะเห็นสีต่างกันตามกรรมส่วนบุคคล

เมื่อปี พ.ศ.2545  รัฐบาลจีนได้อนุญาตให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) มาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา 5 ธันวาคม 2545 ซึ่งถือเป็น 1 ใน 6  ครั้งที่ประดิษฐานนอกประเทศจีน ถือเป็นสิริมงคลยิ่งต่อพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวจีนในประเทศไทย

ในวาระครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ในปี  2568 รัฐบาลจีนให้รัฐบาลไทยอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว จากวัดหลิงกวง มาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ เป็นการชั่วคราว ณ ท้องสนามหลวง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา  6 รอบ 28  กรกฎาคม2567 เปิดให้ประชาชนเข้าสักการะตั้งแต่วันที่ 5  ธันวาคม 2567  ถึงวันที่ 14  กุมภาพันธ์ 2568

ขณะที่เมื่อวานนี้ที่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล “รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานการดำเนินโครงการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐานในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว มี “นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร” ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ด้วยคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในคราวประชุม ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบให้รับโครงการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) มาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ และนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการฯ ในภาพรวม และดำเนินการเตรียมความพร้อมของสถานที่และการบริหารจัดการในภาพรวม ณ ท้องสนามหลวง

“ทั้งนี้ รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เห็นชอบร่วมกัน ในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐาน ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร เป็นการชั่วคราว เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และในโอกาสการครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน ในปี 2568

ในการนี้ การจัดพิธีการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว กำหนดพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ประดิษฐานที่มณฑปท้องสนามหลวง ในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลา 18.00 น. โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และมีสมเด็จพระราชาคณะ ซึ่งกรรมการมหาเถรสมาคมมอบหมาย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์

ทั้งนี้ ในวันดังกล่าว เวลา 17.00 น. รัฐบาลได้จัดให้มีริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จำนวน 19 ริ้วขบวน จากลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ไปยังท้องสนามหลวง

ในส่วนของการจัดงาน ได้จัดให้มีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จำนวน 5 โซน ประกอบด้วย

โซนที่ 1 “ดับขันธปรินิพพาน มกุฎพันธนเจดียสถาน” นำเสนอเรื่องราวพุทธประวัติในการประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จปรินิพพาน โดยเน้นในช่วงพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน

โซนที่ 2 “พุทธะบารมีพระสรีระธาตุ” นำเสนอเรื่องราวประวัติของพระสรีระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุที่ได้อัญเชิญไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก

โซนที่ 3 “พระเขี้ยวแก้ว” นำเสนอเรื่องราวประวัติ ความสำคัญ และความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุ(พระเขี้ยวแก้ว)

โซนที่ 4 “ใต้ร่มเศวตฉัตร ทศมรัช พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” เป็นนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยที่ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกและมีพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนา สืบสานราชประเพณีสืบเนื่องมาจนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ

โซนที่ 5 “ความสัมพันธ์ ไทย-จีน” นำเสนอเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญที่สร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนในด้านต่าง ๆ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ส่งเสริมคำว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”

ในโอกาสนี้ ได้เปิดให้ประชาชนเข้าสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ระหว่างวันที่ 5 ธันวาคม 2567 – 14 กุมภาพันธ์ 2568 กำหนดเวลาตั้งแต่ 07.00 – 20.00 น. โดยเจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมดอกไม้สักการะสำหรับประชาชน จึงขอเชิญชวนประชาชนกราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) เพื่อความเป็นสิริมงคลในช่วงเวลาดังกล่าวต่อไป

Leave a Reply