“มูลนิธิโพลวพลือ(ทางสว่าง)-อ.ยักษ์” หนุนนำ “สันติศึกษา มจร” วิจัยลงดินศรีสะเกษ สูตรโคกหนองนาสันติศึกษาโมเดล

“สันติศึกษา มจร”พร้อม! วิจัยและพัฒนาศูนย์สันติธรรมชาติ โคกหนองนา สันติศึกษาโมเดล จังหวัดศรีสะเกษ สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเอ็น

วันที่ 15 พ.ย. 2563 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยว่า ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง” หลักสูตรสันติศึกษา มจร จึงได้จัดวางนโยบายพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อสร้างสันติภาพลงดิน สันติภาพกินได้ ให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยดึงพลังของบวร บ้าน วัด และราชการ มาร่วมผนึกกำลังกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น

วันนี้ โยมแม่สมบัติ นิธิบุณยากร ในฐานะผู้บริจาคพื้นที่ จำนวน 13 ไร่ สำหรับรองรับโครงการดังกล่าว จึงได้นำสำรวจพื้นที่นา เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาให้เป็นศูนย์สันติธรรมชาติ โคกหนองนา สันติศึกษาโมเดล โดยจะเริ่มโครงการหลังฤดูเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้น

การพัฒนาโครงการนี้ จะมีนิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร รุ่นที่ 5 และนักศึกษามาบเอื้อง รุ่น 633 พร้อมด้วยพี่น้องชาวจังหวัดศรีสะเกษมาร่วมทีมวิจัยและพัฒนาตามโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งมหาวิทยาลัย โดยหลักสูตรฯ ได้มอบหมายให้ พระอดิศักดิ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา มจร เป็นผู้จัดการโครงการ

ทั้งนี้ มูลนิธิโพวเพลือ หรือทางสว่าง ที่ตั้งขึ้นเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดงานของหลวงปู่สรวง ได้สนับสนุนงบประมาณในการขุดคลองใส้ไก่ หลุมขนมครก และธนาคารน้ำ เป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท นอกจากนี้ นิสิตสันติศึกษา แกนนำชาวจังหวัดศรีสะเกษและนักศึกษามาบเอื้อง นำโดยอาจารย์ยักษ์ อาจารย์โจน หมวดวิชัย และหลวงพ่อสังคม จะได้เข้ามาให้ความรู้เพื่อลงมือปฏิบัติงานในพื้นที่จริง

“เมื่อโครงการสำเร็จแล้ว ศูนย์สันติธรรมชาติ โคกหนองนา สันติศึกษาโมเดล จะกลายเป็นแหล่งให้การศึกษา วิจัย เรียนรู้ ดูงาน และฝึกอบรมแบบครบวงจร โดยภายในศูนย์ได้รับการออกแบบให้มีป่า 30% น้ำ 30% นา 30% และสถานที่พัก 10% สอดรับกับแนวคิด และแนวปฏิบัติของศาสตร์พระราชา ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงออกแบบเอาไว้” พระมหาหรรษา กล่าวและว่า

หลักการพัฒนาตามแนวทางนี้ นับว่าสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเอ็น หรือองค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goal:SDGs) ที่เน้นขจัดความยากจน และพัฒนาให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอย่างประสานสอดคล้อง และเกื้อกูนซึ่งกันและกัน

Leave a Reply