โยมได้เวลาสนทนาธรรม! กับหลวงพ่อเอไอ(AI)แล้ว

พัฒนาการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) ได้มีให้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง ที่จีนก็ถูกสร้างให้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนักข่าว สามารถอ่านข่าวได้ 24 ชั่วโมง เป็นพนักงานเสริมอาหารในกรุงปักกิ่ง วัด Longquan ในกรุงปักกิ่ง ก็ได้สร้างหุ่นยนต์พระที่สามารถเคลื่อนที่ไปมาได้ สนทนาโต้ตอบแบบง่ายๆ ได้ และแน่นอนว่านำสวดมนต์ได้ด้วย ชื่อของหุ่นยนต์พระตัวนี้คือ Xian’er

ไปทางตะวันตกอย่างบริษัทเทคโนโลยีอย่าง IBM ได้พัฒนาให้สามารถในการการโต้วาทีกับมนุษย์ ภายใต้ชื่อ Project Debator แต่เป็นระบบคอมพิวเตอร์ออฟไลน์ ยังไม่สามารถดึงข้อมูลจากอินเทอร์เนตมาเพื่อเสริมให้การโต้เถียงได้ แต่ต้องอาศัยการฟังสิ่งที่มนุษย์ฝ่ายตรงข้ามโต้เถียง แล้วตีให้ตกไปทีละประเด็น โดยต่างฝ่ายต่างก็ต้องใช้ข้อมูลที่สะสมมาก่อนหน้า เพื่อค่อยๆ ขึ้นรูปชุดเหตุและผล ออกมาให้เถียงได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

ญัตติของการแข่งขันโต้วาทีครั้งนี้ถูกกำหนดขึ้นโดย IBM โดยมีอยู่สองญัตติ (คู่ต่อสู้จะเป็นมนุษย์ต่างคนกันในแต่ละญัตติ) ญัตติแรกคือ “เราควรให้รัฐสนับสนุนงบประมาณสำหรับการสำรวจอวกาศ” (We should subsidize space exploration) ในญัตตินี้ Project Debator อยู่ฝ่ายเสนอ (เห็นด้วย) ส่วนนาโอ โอวาเดีย (Nao Ovadia) แชมป์โต้วาทีระดับประเทศจากอิสราเอลเป็นฝ่ายค้าน ส่วนญัตติที่สองคือ “เราควรใช้การรักษาทางไกลเพิ่มขึ้น” (We should increase the use of telemedicine)

ประเด็นสำคัญของการโต้วาทีครั้งนี้คือ ทั้งสองฝ่าย – ปัญญาประดิษฐ์และนักโต้วาทีมนุษย์ – ไม่รู้มาก่อนว่าต้องเถียงในญัตติอะไร พวกเขาไม่สามารถเตรียมข้อมูลเพื่อการอภิปรายมาจากบ้านได้ แต่จะต้องดึงความรู้จากที่มีอยู่ในสมองหรือระบบออกมาฟาดฟันกันเอง

ในญัตติแรก โนอา โอวาเดีย ค้านข้อเสนอด้วยการถกเถียงว่างบประมาณรัฐนั้นควรถูกใช้กับเรื่องที่เป็นประโยชน์ทางตรงมากกว่าการสำรวจอวกาศ อย่างเช่นการวิจัยวิทยาศาสตร์บนผืนโลก เมื่อได้ฟังประเด็นของโนอา โอวาเดียแล้ว ปัญญาประดิษฐ์จาก Project Debator ก็โต้กลับด้วยการบอกว่า “มันง่ายมากเลยนะครับที่จะบอกว่ามีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่าในการใช้งบ ประเด็นนี้ผมไม่เถียง ไม่มีใครบอกหรอกว่านี่ (การสำรวจอวกาศ) จะเป็นงบประมาณรายการเดียวในการใช้จ่ายของรัฐ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นหลักที่เราจะคุยกัน ผมคิดว่าการอุดหนุนการสำรวจอวกาศจากรัฐนั้นจะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมโดยรวมมาก จึงคิดว่ารัฐบาลควรดำเนินนโยบายในแนวทางนี้”

หลังการโต้วาทีทั้งสองนัด เหล่าผู้ชมสามารถเลือกโหวตให้คะแนนฝ่ายที่ตนเองชอบได้ ซึ่งผลก็ออกมาชัดเจนว่าสำหรับเรื่องการเลือกถ้อยคำ การส่งสาร (delivery) นั้นมนุษย์ทำได้ดีกว่า แต่สำหรับเรื่องประเด็นภายใต้ข้อโต้แย้ง (substance) ปัญญาประดิษฐ์จะเป็นฝ่ายชนะ

เมื่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI)พัฒนามาถึงระดับนี้ หันมามองประเทศไทยบ้าง แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0  ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอก็ได้ระบุว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20  นั้นส่วนที่หายไปอย่างน่าเสียดาย คือ “ยุทธศาสตร์ AI” ซึ่งประเทศอื่นมีหมดแต่ในไทยไม่มี หรือบิ๊กดาต้าที่ภาครัฐให้ความสำคัญ แต่สิ่งที่ทำเป็นแค่ความพยายามตั้งศูนย์ข้อมูล ไม่ใช่การผลักดันให้เกิด “open data” ที่จะเปิดให้ทุกคนเข้ามา integrate ได้ ดังนั้นรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาในอนาคตเองก็คงอยากทำผลงานของตนเอง แต่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ถือว่ามาถูกทางแล้วจึงควรต้องไปต่อ และทำให้ลึกขึ้น ซึ่งสุดท้ายปัญหาใหญ่ที่สุดที่ต้องพูดอีกครั้ง คือ “ภาครัฐ” และการพัฒนา “กำลังคน” ถ้าศักยภาพบุคลากรไม่เป็น 4.0 อย่างไรก็เป็น 4.0 ไม่ได้

หันมาทางคณะสงฆ์ไทยบ้าง AI นั้น สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการแต่งกัณฑ์เทศน์ บทความธรรมะ บทบรรยายต่างๆ แทนการทำงานของคณะสงฆ์ หากมีโยมที่ใจบุญสร้างโปรแกรมการใช้งานของ AI ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์และสังเคราะห์หลักธรรมในพระพุทธศาสนาทั้งในพระไตรปิฎก คำสอนอธิบายความของพระสงฆ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแล้วสังเคราะห์เป็นหมวดธรรมหรือสูตรให้เหมาะสมกับจริตของญาติโยมแต่ละคนได้ละเอียดและแก้ปัญหาหรือดับทุกข์ของญาติโยมได้ดี โดยทำเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์แล้วจะเจาะฝังในพระพุทธรูปรูปหรือรูปเหมือนของพระสงฆ์ต่างๆ เมื่่อญาติโยมไปกราบสามารถที่จะป้อนข้อมูลให้หาหลักธรรมที่ตรงกับปัญหาของแต่ละคนแล้วสรุปเป็นไฟล์โหลดนำไปศึกษาต่อก็จะเป็นประโยชน์มาก

ดังนั้น จึงเป็นประเด็นที่น่าศึกษาวิจัยอย่างยิ่งต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการเป็นห่วงของการใช้ AI ว่าจะมีความสร้างสรรค์สร้างสันติภาพแก่ชาวโลกตามที่พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ตั้งข้อสังเกตไว้หรือไม่อย่างไร จึงควรที่ต้องใช้จริยธรรมนำ AI  และหลักธรรมที่จะสามารถควบคุม AI ได้นั้นก็คือวิปัสสนากรรมฐานตามการเสนอของพระราชปริยัติกวี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ดังนั้น อนาคตแนวความคิดปรัชญาพุทธปัญญาประดิษฐ์จึงถือว่าเป็นแนวคิดที่สำคัญ เพราะจะทำให้ AI เป็น “สัมมา AI” คงจะมีส่วนในการสร้างสรรค์สารธรรม สารสันติธรรม สร้างสันติภาพโลก ตามทันสื่อสงครามได้

ขณะเดียวกันคณะสงฆ์จะต้องสร้างสื่อออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาร์แกรม ยูทูป เป็นเครือข่ายทั้งแต่ระดับมหาเถรสมาคม เจ้าคณะหนใหญ่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด ไปจนถึงระดับสื่อออนไลน์ของวัด แล้วมีการแชร์สื่อสารธรรม สื่อสารสันติธรรมต่างๆ ให้เป็นเอกภาพ เชื่อแน่ว่าจะให้การทำงานของคณะสงฆ์มีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน

พร้อมกันนี้ทราบว่า กำลังมีแนวความคิดจะสร้างเว็บไซต์ในลักษณะเป็นศูนย์แต่ก็ยังขาดทุนทรัพย์ในการดำเนินการ โดยมีเป้าหมายทำเป็นพุทธบูชาและแทนคุณพระพุทธศาสนา หากเป็นไปได้มีการพัฒนาโปรแกรมโดยนำปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาเป็นตัวช่วยในการพัฒนาเว็บไซต์หรือเป็นหุ่นยนต์หรือผู้ประกาศข่าว AI ช่วยในการสื่อธรรมก็จะเกิดประโยชน์ไม่น้อย

หากมีการเจียดเงินทอดกฐินผ้าป่าปีนี้คาดว่าจะมียอดเงินบริจาคไม่น้อยกว่า 1 พันล้านบาท มาสร้างวัด โบสถ์วิหารทางสื่อออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ หรือสนับสนุนอดีตนักบิณฑ์ที่กำลังมีแนวความคิดดังกล่าว เพื่อเป็นสื่อกลางในการสื่อธรรมก็จะทำให้สื่อถึงประชาชนได้อย่างทันกาลไม่ต้องรอเทศกาลหรือวันพระวันโกนอีกต่อไป เพราะ AI จะทำหน้าที่ให้การเผยแพร่ธรรมะตลอด 24 ชั่วโมง ทำหน้าที่เหมือนกับผู้ประกาศข่าว AI ของสำนักข่าวซินหัวเลยทีเดียว ซึ่งจะเป็นการส่งเสริม พิทักษ์พระพุทธศาสนาอย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง

Cr.http://dv.co.th/blog-th/AI-debate-history/,หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 – 12 ธ.ค. 2561

Leave a Reply