ก้าวหน้าอีกขั้น..ระบบการศึกษาบาลี-นักธรรม

         วันที่ 9 มิถุนายน 2564  ณ สำนักงานสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้มีวาระการประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษาเพื่อพิจารณา“แนวทางการศึกษาวิชาสามัญเพิ่มเติมเพื่อรับรองวิทยฐานะให้กับการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีสนามหลวงและแผนกธรรมสนามหลวง” ตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม 2562 โดยมี คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม ซึ่งในการประชุมครั้งมี  พระเทพเวที เจ้าคณะภาค 6  ในฐานะกรรมการสภาการศึกษาซึ่งเป็นผู้แทนคณะสงฆ์ได้ร่วมประชุมด้วย

         ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พระเทพเวที ได้เปิดเผยว่า  ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ สพฐ.(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน)ไปตั้งคณะกรรมการพิจารณา “วิชาสามัญเพิ่มเติม” ว่ากลุ่มสามเณรที่เรียนบาลีและนักธรรมเป็นหลักนั้น จะต้องเรียนวิชาสามัญเพิ่มเติมอะไรบ้าง, จำนวนกี่วิชา ทั้งนี้ให้เป็นไปโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมด้วย

        สำหรับการพิจารณาในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม 2562 มาตรา 21 บัญญัติไว้ว่า การศึกษาพระปริยัติธรรมที่ได้จัดให้แก่สามเณรซึ่งเป็นเด็กตามกฏหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับและมีพื้นฐานความรู้ไม่ต่ำกว่าระดับประถมศึกษาปีที่หกหรือเทียบเท่าซึ่งได้ศึกษาวิชาสามัญเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติกำหนดโดยคำแนะนำของมหาเถรสมาคมเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานดังต่อไปนี้

        (1)แผนกธรรมสนามหลวง ชั้นนักธรรมเอก เป็นการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

        (2)แผนกบาลีสนามหลวง ชั้นเปรียญธรรมสามประโยคเป็นการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

       พระเทพเวที กล่าวเพิ่มเติมอีกกว่า

       “ การที่สภาการศึกษามีมติครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ก้าวสำคัญโดยเฉพาะสำหรับสามเณร ซึ่งเป็นศาสนทายาทตามกฏหมายว่าด้วยการศึกษาพระปริยัติธรรม 2562 ซึ่งจะมีวุฒิทั้งทางธรรมและทางโลก

       การศึกษาระบบนี้จะเน้นหนักการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีและแผนกธรรมเป็นหลักโดยเสริมวิชาสามัญเพิ่มเติมตามความเหมาะสมและจำเป็นเท่านั้น.. กระบวนการเรียนการสอนจะจัดที่สำนักศาสนศึกษาหรือสำนักเรียนโดยได้รับงบประมาณแผ่นดินตามสิทธิแห่ง พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม 2562 ทุกประการ..”

Leave a Reply