คณะสงฆ์ชื่นชม!!  สว.เฉลิมชัย เครืองาม หนึ่งเดียวในรัฐสภาฝากนโยบายพุทธศาสนาถึง..รัฐบาลเศรษฐา

วันที่ 14 กันยายน 2566  การแถลงนโยบายรัฐบาลของ “ครม.เศรษฐา ทวีสิน” ระหว่างวันที่ 11 – 12 กันยายน 2566  ต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ  ผ่านพ้นไปแล้ว มีหลากหลายนโยบายที่สมาชิกรัฐสภาประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ สมาชิกวุฒิสภา ร่วมกันอภิปรายเสนอแนะซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ในขณะที่นโยบายด้าน “ศาสนา” อันเป็นสถาบันหลักของชาติ 1 ใน 3 ไม่มีสมาชิกท่านใดหยิบยกขึ้นมาอภิปรายสักรายเดียว คงมีแต่ พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม สมาชิกวุฒิสภาท่านเดียว ลุกขึ้นมาอภิปราย พร้อมแนะนำให้รัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทย  ดำเนินการเร่งออกกฎหมายเพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา 3 ประการคือ หนึ่ง พระราชบัญญัติส่งเสริมคุ้มครองกิจการพระพุทธศาสนา สอง พ.ร.บ.สังเวชนียสถาน และ สาม การสร้างพุทธมณฑลประจำจังหวัด

เวปไซต์ “Thebuddh” ได้ถอดคำอภิปรายของ พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม อย่างละเอียดดังนี้

..ผมขอปรับเรื่องที่ผมจะอภิปรายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมือง ที่คิดว่าเราต้องการความสงบร่มเย็น ความปรองดอง สมานฉันท์ สิ่งที่ผมจะพูดนั่นได้บรรจุอยู่ในนโยบายรัฐบาลฉบับปัจจุบันอยู่หน้า 24 ถึงแม้จะเขียนไว้เพียงเล็กน้อยแต่ผมเห็นว่ามีความสำคัญและเป็นประโยชน์ที่จะมีการต่อยอดนำไปใช้ ข้อความที่เขียนไว้ในหน้า 24 ส่วนหนึ่งคือเขียนว่า การส่งเสริมสถาบันศาสนาให้เป็นกลไกในการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต คงจะแปลกใจที่ผมพูดเรื่องศาสนา นี่แหละครับคือเป็นหนึ่งในสามสถาบันหลักของชาติ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ผมมองดูแล้วคงไม่มีใครพูดเรื่องนี้ ผมจึงจำเป็นต้องหยิบยกเรื่องนี้มา เรื่องนี้ได้บรรจุไว้ในหมวด 6 ในนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เขียนไว้ในมาตรา 67 ดังนี้รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ในการอุปถัมภ์คุ้มครองศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาการเผยแผ่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และมีมาตรการกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด ทำไมผมถึงอภิปรายว่ามีความสำคัญ เรื่องนี้อยู่ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐทุกมาตราที่เขียนอยู่ในนโยบายแห่งรัฐธรรมนูญจะเขียนไว้ว่า “พึง” แต่ข้อความที่ผมอ่านเมื่อสักครู่นั้นรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า “ต้อง” เป็นต้องที่อยู่ในแนวนโยบายแห่งรัฐคือต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด

เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ผมขออนุญาตขยายความว่า “เวลานี้นั้นศาสนาพุทธแม้ว่าจะไม่ได้บัญญัติไว้ว่าเป็นศาสนาประจำชาติแต่พึงระลึกไว้เสมอและเราก็เข้าใจโดยตลอดว่าเป็นศาสนาที่มีมาช้านาน และคนไทยนั้นยึดถือว่าเสมือนหนึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นกับพุทธศาสนาในประเทศไทยเวลานี้ต้องยอมรับว่ามีภัยที่มีผลกระทบกับความมั่นคงของพุทธศาสนามากมาย ทั้งภัยภายนอกและภายใน

 ฉะนั้นผมเห็นว่ารัฐบาลมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกฎหมายพิเศษขึ้นฉบับหนึ่งชื่อว่า “กฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมคุ้มครองกิจการพระพุทธศาสนา” หากรัฐบาลรับเรื่องนี้เอาไว้ ผมจะบอกว่าท่านจะได้รับการสรรเสริญจากพระสงฆ์ทั่วประเทศ เพราะนี่จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีกฎหมายเพื่อกำกับคุ้มครองกิจการพระพุทธศาสนา ซึ่งกิจการพระพุทธศาสนานั้นมีอยู่มากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ศาสนสมบัติ ศาสนพิธี ศาสนิกชน ศาสนทายาท ศาสนศึกษา และที่สำคัญคือศาสนธรรม เรามีปัญหาเรื่องศาสนสมบัติ ศาสนิกชนมากมาย..”

เพราะฉะนั้นหากรัฐบาลรับเรื่องนี้ไว้จะเป็นมิติและกลไกสำคัญในการกำกับคุ้มครองพระพุทธศาสนา ซึ่งเรื่องนี้ชาวพุทธ พระสงฆ์กว่า 300,000 รูป วัดกว่า 30,000 วัด ต้องการคุ้มครองกิจการพระพุทธศาสนาที่มีอยู่มากมายนั้นหากได้รับการคุ้มครอง เพราะขณะนี้เรามีเพียงกฎหมายพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับปี 2505 แก้ไขปี 2484 (ยกเลิก พ.ร.บ.สงฆ์ ปี 2484 มาเป็น  พ.ร.บ.สงฆ์ 2505) ซึ่งไม่เพียงพอ ปกติพระสงฆ์จะใช้ “พระธรรมวินัย” ในการกำกับดูแล แต่ลำพังพระธรรมวินัยอย่างเดียวในยุคนี้ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงยุคสมัยมากมายไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีนั้น พระธรรมวินัยอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการคุ้มครอง รัฐจะต้องทำเรื่องนี้ และผมเห็นเรื่องนี้มีความสำคัญเพราะรัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้ว่าต้องมีกลไกมาตรการในการกำกับคุ้มครองพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้นท่านไปดำเนินการได้เลย ที่ผมจะฝากไว้คือ 3 ประเด็น 1. มีพระราชบัญญัติที่ผมว่าไว้ 2. รัฐบาลสนับสนุนให้มีกองทุนหนึ่งเพื่อส่งเสริมให้พระสงฆ์ ศาสนิกชนชาวพุทธได้เดินทางไปแสวงบุญ ณ ประเทศอินเดียหรือเนปาลเพื่อเป็นการกราบสักการะต่อสังเวชนียสถาน เรื่องนี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญจริง ๆ แล้วเคยมีการทำแล้วเมื่อสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้วและไม่มีการส่งเสริมต่อเติมมาคือ เรื่องของการสร้างพุทธมณฑลประจำจังหวัดให้มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ งบประมาณเหล่านี้ไม่มาก หลายจังหวัดมีแล้วอีกหลายจังหวัดยังไม่มี พุทธมณฑลจังหวัดเป็นสิ่งที่ชาวพุทธกว่า 60 ล้านคนต้องการมานานรัฐบาลสามารถที่จะดำเนินการได้

Leave a Reply