ปลัด มท. เปิดงาน  “ข่วงเล่น เป็น ปัญญา” เทศบาลนครเชียงราย เน้นย้ำ ขยายผล “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” ไปยัง อปท. ทั่วประเทศ

 วันนี้ (19 ก.ค. 65) เวลา 10.00 น. ที่โรงเรียนเทศบาล 8 บ้านใหม่ เทศบาลนครเชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา และปาฐกถาพิเศษในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทิศทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนครเชียงราย โดยมี นายบัญชา เชาวรินทร์ นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และกรรมการมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา นายดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา (มสสป.) นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางของแผนสุขภาวะชุมชน พื้นที่ภาคเหนือ นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ คณะกรรมการมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา นางสาวบังอร บัวเมือง เลขามูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา นายณรงค์ศักดิ์ เตือนสกุล รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนในพื้นที่เทศบาลนครเชียงรายกว่า 1,000 คน ร่วมรับฟัง

 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า ขอขอบคุณอาจารย์ดิสสกร กุนธร ผู้จุดประกายแห่งการสร้างสรรค์ในการทำเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจักรวาล คือ “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในเบื้องต้น” ให้เป็นต้นไม้ที่มีรากแก้วที่แข็งแรง เพราะช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อทำให้เขาเป็นคนดีนั้นอยู่ที่ช่วงต้นของชีวิตทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการพัฒนาสติปัญญาความเฉลียวฉลาด หรือ IQ นักวิชาการด้านการแพทย์ ให้ข้อสรุปตรงกันทั่วโลกว่า การพัฒนาสติปัญญาและทรัพยากรมนุษย์ช่วงที่สำคัญที่สุด คือช่วง “ปฐมวัย” 80% ของ IQ มนุษย์อยู่ที่ช่วง 3-5 ขวบ ถ้าพัฒนาดี เด็กจะเติบโตเป็นเด็กที่เฉลียวฉลาด อารมณ์ดี สุขภาพดี และเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ง่าย จะมีเพียงบางส่วนที่อาจจะเข้าข่ายดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “รักดีหามจั่วรักชั่วหามเสา” หรือ “คบคนพาลพาลพาไปหาผิด” แต่ทั้งนี้ หากเราเลี้ยงดูโดยปล่อยในเด็กเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เหมือนกัน เด็กที่ได้รับการดูแลในช่วงปฐมวัย คือ 3-5 ขวบได้ถูกต้องและดี จะเป็นเด็กที่เฉลียวฉลาด ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่กับมือถือ หน้าจอทีวี เกม เครื่องเล่นที่ไปซื้อมาจากร้านในตลาด พวกเหล็ก พลาสติก ซึ่งจะทำให้ไม่ได้รับการพัฒนาที่เหมาะสม ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เป็นหน่วยงานที่สำคัญในการเป็นเจ้าภาพบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก คือ ดูแลเด็กช่วงที่สำคัญที่สุด

     “นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเป็นความโชคดีของพวกเราชาวเชียงรายและคนไทยทุกคนที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ “สมเด็จย่า” ทรงเป็นต้นแบบในการอบรมเลี้ยงดูพระโอรสและพระธิดาทั้ง 3 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ด้วยการฝึกให้เรียนรู้ด้วยการให้เล่นหิน ดิน ทราย เล่นอยู่กับธรรมชาติ เกิดการสร้างปฏิภาณ ไหวพริบ มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง และเกิดคุณธรรม ความรัก ความผูกพัน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โดยอาจารย์ดิสสกร กุนธร ได้น้อมนำแนวทางของพระองค์ท่าน มาออกแบบสู่การสร้าง “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” ซึ่งตนได้มีส่วนร่วมในครั้งแรกเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท คนที่ 52 โดยได้ก่อสร้างที่อำเภอสรรพยา เป็นแห่งแรกของจังหวัดชัยนาท และทุกวันนี้ก็ยังเกิดประโยชน์กับลูกหลานชาวสรรพยา และต่อมาเมื่อดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น คนที่ 13 ได้ขยายผลเรื่องดังกล่าวไปยังพี่น้ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในด้านการพัฒนาเด็กเล็ก เพื่อให้ลูกหลานในทุกที่ถิ่นไทยได้รับการพัฒนาให้เป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาด เป็นคนดี คนเก่ง และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยน้อมนำแนวทางการเลี้ยงดูพระโอรส และพระธิดาของสมเด็จย่า ซึ่งสาสามารถศึกษาได้จากหนังสือพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ “แม่เล่าให้ฟัง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้กล่าวต่ออีกว่า การส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กได้เรียนในพื้นที่ที่มีต้นไม้ ดิน เนิน เขา หนองน้ำ อยู่กับธรรมชาติ จะทำให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเขาเองว่า เขาจะต้องทำอะไรกับมัน มีจินตนาการ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะหัวเข่าถลอกหรือเป็นอันตรายกับร่างกาย เพราะเขาจะดูแลตัวเขา และรู้จักช่วยเหลือตัวเขาเอง นอกจากนี้ ยังเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อ ค่าความสุขทางอารมณ์ ทำให้อารมณ์ดี รู้จักเรื่องการเข้าแถวเข้าคิว คือ ระเบียบวินัย เด็กจะรู้เรื่องของการ Sharing แบ่งปัน แบ่งแยกกันเล่น เล่นด้วยกัน ไม่มีการทะเลาะกัน ซึ่งเด็กจะซึมซับ และเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ นอกจากนี้ สิ่งที่ทุกท่านทุกภาคส่วนได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้าง ยังถือเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุด สอดคล้องกับพระราโชบายและพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงอยากให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย นั่นคือ “การมีจิตอาสา” อันเป็นสิ่งที่สังคมไทยมีมาแต่ดั้งเดิม เมื่อจิตอาสาได้รับการประยุกต์ถ่ายทอดผ่าน “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” ที่เกิดจากความเสียสละ ความร่วมมือ ทั้งพี่น้ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครู ผู้ปกครอง องค์กรการกุศล และทุกภาคีเครือข่าย จึงเป็นการสืบสานพระราชปณิธานแห่งการสร้างจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ”

     “โครงการสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา มีผู้นำที่ดี คือ อาจารย์ดิสสกร กุนธร ที่เป็นผู้นำระดับประเทศในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยมีผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ของจังหวัด อำเภอ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ในการเป็นจุดแตกหักที่จะทำให้สำเร็จและขยายผลได้ โดยอาศัยภาวะผู้นำของทุกท่านไป “นำความคิด นำการปฏิบัติ และนำการดูแลรักษา” เพื่อให้สิ่งดี ๆ อย่างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาคงอยู่ได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน ทั้งนี้ คณะครู บุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการ และภาคีเครือข่ายทุกคนต้องเปิดใจรับสิ่งที่ดี ศึกษาให้เข้าใจเข้าใจถ่องแท้ และตัดสินใจเชื่อมั่นที่จะทำในสิ่งที่ดี ในสิ่งที่ถูกต้อง ด้วยความเพียรพยายาม ความอดทน ดังที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแง่คิดไว้ในนิทานชาดก “พระมหาชนก” ที่ต้องมีความเพียร ความวิริยะ แล้วสิ่งดี ๆ จะเกิดขึ้นได้ และอีกปัจจัยสำคัญที่สุดที่การพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างจะสำเร็จได้ นั่นคือ “ทีมที่ดี” โดยน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “บวร” บ้าน วัด ราชการ “บรม” บ้าน ราชการ มัสยิด “ครบ” คริสต์ ราชการ บ้าน โดยดึง 7 ภาคีเครือข่าย  ประกอบด้วย ภาคราชการ วิชาการ ผู้นำศาสนา ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน โดยทุกคนสามารถเป็นสื่อมวลชนที่ช่วยกันสื่อสารข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเชื่อมั่น และความร่วมมือที่ยั่งยืน ซึ่งขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในการขยายผลนำสิ่งที่ดีไปสู่พี่น้องประชาชน ให้ความดีกระจายเต็มทั่วทั้งจังหวัดเชียงราย ด้วยความสุขใจในฐานะที่พวกเราได้ “ทำความดีตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

นายสมพร ใช้บางยาง กล่าวว่า มูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา มีความมุ่งเป้ามายังจังหวัดเชียงรายเพื่อนำองค์ความรู้ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงใช้เลี้ยงดูพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มาถ่ายทอดสู่การพัฒนาเด็กในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ในการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา โดยมี สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมสนับสนุน ซึ่งปัจจัยความสำเร็จที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1) ความมุ่งมั่นของผู้บริหารเทศบาลนครเชียงรายต่อนโยบายด้านการเรียนรู้และการศึกษา ที่ได้ขับเคลื่อนนโยบายมาต่อเนื่องกว่า 20 ปี จนถึงปัจจุบันยังกำหนดเป็นนโยบายที่จะทำให้การศึกษาเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนเชียงราย 2) คณะผู้บริหารโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา และครูมีความพร้อมที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นไป โดยร่วมกันฟื้นฟูสนามเด็กเล่นให้เป็น “เครื่องมือหนึ่ง” ของการจัดการเรียนการสอน และ 3) การบูรณาการกับการขับเคลื่อนนครเชียงรายสู่เมืองแห่งความสุข 3 มิติ คือ มิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะเพื่อสร้างเสริมสุขภาพของคนในชุมชน โดยจะมีการพัฒนาให้เกิด “พื้นที่สำหรับทุกกลุ่มวัยมาใช้เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน (Learning space)” และ “ข่วงเล่น เป็น ปัญญา” แห่งนี้ จะเป็น “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาต้นแบบ” พร้อมที่จะขยายผลไปยังภาคีเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ

นายดิสสกร กุนธร กล่าวว่า จากการได้ศึกษามากว่า 20 ปี เกี่ยวกับบทเรียนหรือองค์ความรู้ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงใช้ในการทำงานและอบรมเลี้ยงดูพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งทำให้สามารถนิยามองค์ความรู้ที่ทรงใช้ว่า “ฉันทศึกษา” โดยออกแบบเป็น “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” ในหลากหลายรูปแบบตามเงื่อนไขของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ “ข่วงเล่น เป็น ปัญญา” ที่โรงเรียนเทศบาล 8 แห่งนี้ มีความแตกต่างจากสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ โดยสนามแห่งนี้มีพื้นที่โดยประมาณ 1.5 ไร่ มีพื้นที่จัดกิจกรรมอย่างน้อย 8 ประเภท ได้แก่ กิจกรรมเรือโจรสลัด เพื่อการพัฒนาการทางด้านอารมณ์ และพัฒนาการเรียนรู้ กิจกรรมเดินบนล้อยาง ฝึกการทรงตัว เคารพกฎกติกา กิจกรรมปีนป่ายเชือก เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อ การทรงตัว กิจกรรมเล่นน้ำ เพื่อเรียนรู้การว่ายน้ำเพื่อเอาตัวรอด กิจกรรมขึ้นภูเขา เพื่อสร้างเสริมกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ทำตามคำสั่งได้อย่างถูกต้อง กิจกรรมลอดถ้ำ เพื่อฝึกกล้ามเนื้อ กล้าพูดอย่างสร้างสรรค์ กิจกรรมสระน้ำเด็ก เพื่อฝึกพยุงตัว ฝึกหายใจ ฝึกช่วยเหลือผู้อื่น และกิจกรรมเล่นทราย เพื่อฝึกกล้ามเนื้อ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น พัฒนาการสื่อสาร และยังมีพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้สำหรับการจัดประชุมและจัดกิจกรรม อย่างเช่น ประชุมครู ฝึกทำอาหาร ทำกิจกรรมทางวัฒนธรรม สถานที่พบปะพูดคุยอย่างสบายสบาย เป็นที่พักนั่งรอรับ-ส่ง อีกด้วย

ด้าน นายณรงค์ศักดิ์ เตือนสกุล กล่าวว่า เทศบาลนครเชียงราย เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนทุกช่วงวัย มีองค์ความรู้รอบด้านโดยยึดหลัก “การศึกษาคือการพัฒนาคน คนพัฒนาเมือง และเมืองพัฒนาคน” จึงได้ร่วมกับมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาและภาคีเครือข่าย ร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่และสนับสนุนให้มีการสร้าง “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในโรงเรียนเทศบาล 8 บ้านใหม่” ด้วยการออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์สำหรับเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และชั้นประถมศึกษา บูรณาการเข้าสู่แผนการเรียนการสอนและเอื้ออำนวยให้ทุกกลุ่มอายุในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ไปพร้อมกันด้วย รวมถึงจะได้พัฒนาเป็นสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาต้นแบบการเรียนรู้ นอกจากนี้ พิธีเปิดสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาวันนี้ จัดขึ้นภายใต้กรอบแนวคิด “ภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการยกระดับคุณภาพการศึกษา” ซึ่งมีการแสดงผลงานทางวิชาการของโรงเรียนในสังกัด และการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีตามหลักการ “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา” ที่จะพัฒนาให้เชียงรายก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน มุ่งขับเคลื่อนเทศบาลนครเชียงราย เป็นเมืองสงบ สะอาด ปลอดภัย มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขอย่างยั่งยืน

Leave a Reply