ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกรมการปกครอง เน้นย้ำ นายอำเภอเป็นเสาหลักในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขพี่น้องประชาชนในพื้นที่

วันนี้ (24 พ.ย. 64) เวลา 09:30 น. ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ถ.อัษฎางค์ กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการปฏิบัติราชการให้กับผู้บริหารและข้าราชการกรมการปกครอง โดยมี นายชยาวุธ จันทร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมตรวจเยี่ยม โอกาสนี้ นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง นายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคำ นายพิริยะ ฉันทดิลก ร้อยตำรวจโท ภพชนก ชลานุเคราะห์ นายสมยศ พุ่มน้อย รองอธิบดีกรมการปกครอง ผู้บริหารส่วนกลาง ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง ปลัดจังหวัด นายอำเภอ และปลัดอำเภอ ทั่วประเทศ ร่วมประชุม

 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ในวันนี้เป็นการตรวจเยี่ยมกรมการปกครองในฐานะที่ตนดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย คนที่ 40 ซึ่ง ณ กรมการปกครองแห่งนี้ เป็นที่เริ่มต้นชีวิตราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2531 จึงเป็นเหมือนการได้กลับมาบ้านเกิด ทั้งนี้ เมื่อเรากล่าวถึงกรมการปกครอง ก็จะสื่อไปถึงการทำหน้าที่ของพี่น้องฝ่ายปกครองทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นายอำเภอ” ที่เป็นผู้นำอยู่ในที่ว่าการอำเภอทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็น “นายกรัฐมนตรีของอำเภอ” เป็นผู้นำของอำเภอที่ยึดหลักการนำแบบมีส่วนร่วม และที่สำคัญต้อง “เป็นผู้นำที่ดี” รู้จักหน้าที่ของตนเอง นอกจากนี้ ข้าราชการฝ่ายปกครองทุกตำแหน่งหน้าที่ต้องยึดมั่นและจดจำในอุดมการณ์และความปรารถนาเมื่อครั้งที่ทุกคนสอบเข้ารับราชการที่พวกเราอยากมาทำงานให้ประชาชน ทำงานให้พื้นที่ ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ให้มันอยู่คู่กับตัวเรา เป็นความคิด เป็นอุดมการณ์ และเป็นการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม อย่าให้สลายหายไป

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า หน้าที่ของฝ่ายปกครองมีภารกิจงานในความรับผิดชอบที่กว้างขวางมากกว่าหน่วยงานอื่น เพราะงานของฝ่ายปกครองเป็นงานครอบจักรวาล ทำหน้าที่เป็นผู้นำทั้งในเชิงหน้าที่ (Function) และเป็นผู้นำในพื้นที่ (Area) ตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจในการให้เป็นผู้นำในท้องที่ สืบต่อจากบรรพบุรุษฝ่ายปกครองในอดีต คือ “กรมพลัมภัง” ที่ทำหน้าที่สานต่ออุดมการณ์มาจวบจนถึงปัจจุบันกว่า 129 ปี ซึ่งในความรู้สึกของประชาชน นายอำเภอเป็นหัวหน้าใหญ่ในอำเภอ ปลัดอำเภอเป็นผู้นำ เป็นจุดแข็ง ที่จำเป็นต้องทำหน้าที่ให้ดี และได้เน้นย้ำแนวทางการทำงานของฝ่ายปกครอง 7 ข้อ ได้แก่ 1) ต้องทำหน้าที่ผู้นำของทุกกระทรวง ทบวง กรม ในพื้นที่อำเภอ เป็นนายกรัฐมนตรีอำเภอ “ยึดหลักพรหมวิหาร 4 และทศพิธราชธรรม” ด้วย ตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ผู้ตาม คือ พี่น้องประชาชนมีความสุข และสิ่งดี ๆ ก็จะเกิดขึ้นในพื้นที่ ด้วยการผนึกกำลังของทุกกระทรวง ทบวง กรม ทั้งในส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ครอบคลุมทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคสื่อมวลชนนั้น ทุกคนเป็นสื่อมวลชน มิใช่เฉพาะผู้ที่มีอาชีพนักสื่อสารมวลชน เพราะการสื่อสารกับสังคมมีอยู่ตลอดเวลาผ่านสื่อที่อยู่ในมือของทุกคน คือ โทรศัพท์มือถือ และแพลตฟอร์มต่าง ๆ อันจะมีประโยชน์ ทำให้พี่น้องประชาชนรู้ว่าเรากำลังขับเคลื่อนงานอะไร ประการต่อมา คือ สิ่งดี ๆ ที่เราทำจะได้กระจายไปในวงกว้าง เป็นแบบอย่างให้กับหน่วยงานหรือเพื่อนรวมงานท่านอื่นที่ยังไม่ได้ทำ สามารถทำได้และได้ความสุขทั่วกัน และต้องมีทักษะในการสื่อสารที่จะสร้างความเชื่อมั่น ความรักใคร่นับถือ การยอมรับ ตามพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า วิสฺสาสปรมา ญาติ : การรู้สึกคุ้นเคยทำให้เป็นญาติอย่างยิ่ง ทำให้พี่น้องประชาชนเป็นเสมือนญาติของเราที่เพิ่มขึ้นในท้องที่ที่ไปปฏิบัติราชการ  2) ต้องสืบสาน รักษา ต่อยอด อุดมการณ์ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” หรือการ “ทำทุกข์ให้ลดลง สุขให้เพิ่มขึ้น”  ที่เป็นแรงปรารถนาที่ชาวกรมการปกครองอยากทำให้ดีขึ้น ต้องทำนุบำรุงสิ่งเหล่านี้ให้งอกงาม อันจะนำพาซึ่งความสำเร็จทั้งในเรื่องส่วนตัวและส่วนรวม ข้าราชการกรมการปกครองต้องมีทั้งความสามารถ (Ability) และความรู้ (Knowledge) และทัศนคติที่ดี (Attitude) เพื่อขับเคลื่อนงานไปสู่จุดมุ่งหมายได้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ 3) ขอให้น้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งพระองค์ทรงมีความห่วงใยคนไทยทุกคน รวมถึงคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยใกล้ชิดกับคนไทย โดยให้ฝ่ายปกครองเร่งรณรงค์ โน้มน้าว และเชิญชวนคนที่ยังไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนให้มาฉีดวัคซีน โดยในขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับแพลทฟอร์ม jitasa.care ซึ่งสามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลร่วมกับกรมควบคุมโรคและแพทย์จิตอาสา เป็นช่องทางที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเครือข่าย สามารถช่วยกันใช้ในการดำเนินการบริหารจัดการการฉีดวัคซีนในพื้นที่ได้ 4) ให้นายอำเภอในฐานะผู้บริหารสถานการณ์ในท้องที่ ประสานการปฏิบัติเกี่ยวกับแนวทางและเกณฑ์ในการผ่อนคลายหรืออนุญาตเปิดกิจการ/กิจกรรมในพื้นที่ตามแนวทางที่ ศบค. ได้ผ่อนคลาย ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ 5) ให้หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยร่วมกับกรมการปกครองและทุกกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย จัดตั้งทีมเฉพาะกิจพิจารณาข้อกฎหมาย หรือแนวทางปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามสถานการณ์ในปัจจุบันและส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชน เพื่อสามารถขับเคลื่อนงานเอื้อต่อการอำนวยประโยชน์และบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน อย่างมีประสิทธิภาพ 6) ต้องส่งเสริมความสำคัญของคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ให้มีบทบาทการทำงานในพื้นที่ตามที่มีระเบียบและกฎหมายกำหนด ซึ่งทุกตำแหน่งตามกลไกคณะกรรมการหมู่บ้านล้วนมีความหมายและความสำคัญ จะต้องเป็นเสาหลักในการบำรุงสุขในท้องที่ให้กับประชาชนคนไทย และ 7) การสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติ โดยข้าราชการส่วนกลางต้องสนับสนุนข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องกับผู้ปฏิบัติในส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายอำเภอ และปลัดอำเภอที่ต้องรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องจากส่วนกลางเพื่อไปถ่ายทอดสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน

ด้าน นายธนาคม จงจิระ เปิดเผยว่า กรมการปกครอง ขับเคลื่อนภารกิจผ่านโครงการสำคัญ (Flagship Project) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อให้ฝ่ายปกครองมีทิศทาง และแนวทางการขับเคลื่อนงานที่ชัดเจนอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ยุทธศาสตร์ชาติและ แผนระดับรอง นโยบายของรัฐบาล นโยบายของกระทรวงมหาดไทย และสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ภายใต้บริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้เกิดการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) โดยได้นำหลักการ The Ease of Doing Business ของธนาคารโลก มาปรับใช้ในการกำหนดโครงการสำคัญฯ และขับเคลื่อนการปฏิบัติงานให้ Easier/Cheaper/Faster/Smarter โดยมีเป้าหมายและวิธีการดำเนินงานร่วมกันในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ภายใต้แนวคิด “หน้าที่ของฝ่ายปกครอง คือ ทำให้ประชาชนทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น” ทั้งนี้ สำหรับแนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีจุดเน้นสำคัญ คือ มุ่งเน้นและพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนบนฐานการทำงานแบบดิจิทัล โดยกำหนดเป้าหมายให้ทุกสำนัก/กอง พัฒนาระบบการให้บริการ เป้าหมาย 1 สำนัก/กอง 1 ระบบการให้บริการในรูปแบบออนไลน์ หรือ OBOES (One Bureau One E-Service) และได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการที่ต่อยอด พัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพจากการขับเคลื่อนโครงการสำคัญในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จึงเกิดการขับเคลื่อนโครงการสำคัญของกรมการปกครอง (10 Flagships to DOPA All Smart 2022) ประจำปี 2565 เพื่อให้ฝ่ายปกครองมีทิศทางและแนวทางการขับเคลื่อนงานที่ชัดเจนอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ภายใต้กรอบการทำงานใน 4 ส่วนสำคัญ ส่วนที่ 1 E-Dopa Heart ส่งเสริมสถาบันหลักของชาติเพื่อความยั่งยืน ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการจิตอาสาพระราชทาน 2) การขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 3) การปกป้องเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ ส่วนที่  2 E-DOPA Services การยกระดับงานบริการประชาชนเพื่อความยั่งยืน 3 โครงการ ได้แก่ 4) ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ “อำเภอดำรงธรรม” 5) อำเภอ…วิถีใหม่ เพื่อมุ่งสู่การเป็น “กรมการปกครอง.. วิถีใหม่” 6) สัญชาติและสถานะบุคคล ส่วนที่ 3 : E-DOPA Sustainability การสร้างความเข้มแข็งระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ เพื่อความยั่งยืน 3 โครงการ ได้แก่ 7) แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง “หมู่บ้าน อยู่เย็น” ส่งเสริมอำเภอคุณธรรมต้นแบบ 8) อำเภอมั่นคง ปลอดภัย “หมู่บ้านมั่นคง ปลอดภัย จากยาเสพติด” 9) อำเภอมั่งคั่ง  ส่วนที่ 4 : E-DOPA Digitalization การพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนบนฐานการทำงานแบบดิจิทัล ได้แก่ 10) DOPA All Smart ผ่านการปรับโฉมการทำงาน 4 มิติ ได้แก่ งาน E-DOPA Smart Management งาน E-DOPA Smart Budgeting งาน E-DOPA Smart Office งาน E-DOPA Smart Human

 การพัฒนาหรือการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนได้อย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs ของ UN นั้น ขึ้นอยู่กับท่านนายอำเภอทุกคน ซึ่งผมได้หยิบยกคำกล่าวของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า “นายอำเภอที่ดีต้องเป็นนายกรัฐมนตรีของพื้นที่ได้” และฝากทุกท่านเป็นเสาหลักในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้บ้านเมืองตามที่บรรพบุรุษได้ปกป้องรักษาบ้านเมืองให้พวกเราได้อยู่กันอย่างมั่นคงและยั่งยืน พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขในสิ่งแวดล้อมที่ดี และที่สำคัญที่สุด ขอให้พวกเราทุกคนได้พยายามปรับปรุงพัฒนางานให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยความโปร่งใส และเราจะได้ทำสิ่งที่ดีร่วมกันดังเป้าหมาย “ประชาชนทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น” เป็นข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชนด้วยความภาคภูมิใจ นายสุทธิพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

Leave a Reply