เกร็ดประวัติศาสตร์ : พระพิมลธรรม พระต้นแบบของนักต่อสู้!! ยึดมั่น “สันติวิธี”

 

        เมื่อวานแวะไปขอหนังสือจากสถาบันวิปัสสนาธุระ  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) มา 2 เล่ม เล่มหนึ่งชื่อ 118 ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ อีกเล่มชื่อว่า “พระพิมลธรรม อาสภเถร” ไปบำเพ็ญศาสนกิจที่สหภาพพม่า พ.ศ. 2495 พระคุณเจ้าบอกว่า เล่มแรก จะเน้นภาพเก่า ๆ ของสมเด็จตั้งแต่เด็กจนเข้าสู่วัยชรา เป็นภาพสีสวยงามทั้งเล่ม ส่วนอีกเล่มชื่อบอกแล้วว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับประเทศพม่าในช่วงปี 2495 เพียงแค่  7 วัน ที่พระพิมลธรรมเดินทางไปพม่า แต่กลายเป็นรากฐานสำคัญพลิกโฉมให้วิปัสสนากรรมฐานสายมหานิกายและมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เจริญรุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้ อันนี้ไม่ต้องพูดถึงการที่พระพิมลธรรมวางรากฐานการศึกษาไว้กับคณะสงฆ์ไทย ทั้งส่งพระไปศึกษายังต่างประเทศ ทั้งผู้บุกเบิกวางรากฐานสำคัญให้ มจร เจริญมั่นคงและก้าวหน้าเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่พระนิสิตนานาชาติ 1,300 รูป มาจากทั่วโลกมากกว่า 20 ประเทศ มีวิทยาเขตทั่วประเทศ มีสาขาในต่างประเทศ อีกไม่ต่ำกว่า 6 ประเทศ จึงถือว่า มจร ยุคนี้คือ ศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาโลก ก็ว่าได้

       ผู้เขียน สนใจเรื่องราวของพระพิมลธรรม เนื่องจากตอนเรียนปริญญาโท ที่ ม.เกริก สาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ ได้ทำวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับท่านชื่อว่า การเมืองว่าด้วยการปกครองคณะสงฆ์:ศึกษากรณีอธิกรณ์อดีตพระพิมลธรรม (อาจ อาสภเถร)

      ความจริง “พระพิมลธรรม” คล้ายคลึงกับ “ครูบาศรีวิชัย”  คือ เป็นพระหัวก้าวหน้า ทันสมัย เชื่อมั่นในอุดมการณ์ อุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เสียดายว่า ทั้ง 2 รูป ไม่เป็นที่โปรดปรานของฝ่ายบ้านเมืองไม่อย่างนั้น คงได้รับเสนอชื่อเป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ไปแล้ว เพราะมีผลงานไม่แพ้หลวงพ่อพุทธทาส, หลวงปู่มั่น, หรือแม้กระทั้ง “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส” และความจริงพระพิมลธรรมเป็นผู้วางรากฐานสำคัญหลายเรื่องที่คณะสงฆ์ไทยกินบุญเก่าอยู่ดังทุกวันนี้

ในหนังสือว่าด้วยไปบำเพ็ญศาสนกิจที่สหภาพพม่า พ.ศ. 2495 ตอนหนึ่ง ระบุว่า จุดมุ่งหมายของ       พระพิมลธรรมไปพม่าคราวนี้มี  2 ประการ คือ หนึ่ง เพื่อไปดูกิจการพระพุทธศาสนาในประเทศพม่า ประการที่สอง เพื่อนำอาจารย์และนักศึกษาของ มจร ไปศึกษาวิปัสสนาธุระและคันถะธุระเพิ่มเติม

ยุคนั้นการเดินทางไปต่างประเทศของพระเถระผู้ใหญ่ ต้องแจ้งให้ฝ่ายบ้านเมืองคือ กรมการศาสนาทราบ พร้อมบอกวัตถุประสงค์การเดินทาง พระพิมลธรรม ท่านก็แจ้งไป แต่ก่อนเดินทางอธิบดีกรมการศาสนายุคนั้น  เมื่ออ่านวัตถุประสงค์ในจดหมายแล้ว “ไม่ปลื้ม”  โดยเฉพาะวัตถุประสงค์ข้อที่สองที่ระุบุว่า นำอาจารย์และนักศึกษาของ มจร ไปศึกษาวิปัสสนาธุระและคันถะธุระในประเทศพม่า

 จึงเกิดการต่อต่อรองขึ้น ระหว่างอธิบดีกรมการศาสนากับพระพิมลธรรม อธิบดีกรมการศาสนาต่อรองว่า “ขอให้ท่านเจ้าคุณเปลี่ยนความมุ่งหมายการเดินทางเสียใหม่ ไม่ควรนำอาจารย์และนักศึกษาของ มจร ไปศึกษาในประเทศพม่าด้วย โดยอ้างว่า พม่าเพิ่งพ้นจากความเป็นทาสของอังกฤษ ส่วนประเทศไทยมีเอกราชสมบูรณ์ ส่วนอีกประเด็นหนึ่ง พระพุทธศาสนาของประเทศไทย มีค่าสูงกว่าพระพุทธศาสนาใดในโลก ไม่มีชาติใดสู้ได้.. จึงขอให้พระพิมลธรรมลบล้างความมุ่งหมายเดิม 2 อย่าง ให้เหลือไว้แต่อย่างเดียว หรือลบล้างทั้งหมด คือ “ระงับการเดินทาง”..”

 พระพิมลธรรม มิได้ต่อรองหรือหักล้างข้อเสนอของอธิบดีกรมการศาสนามากนัก เพียงแต่ปรารภว่า หน้าที่ของพระสงฆ์มีสองอย่างคือ วิปัสสนาธุระและคันถธุระ ท่านได้แจ้งสภา มจร. ร่วมทั้งศิษยานุศิษย์ รวมทั้งสถานทูตพม่าและลูกศิษย์ชาวพม่าแล้วว่าจะเดินทางไปดูงานที่พม่า ต้องรักษาคำพูด  และไปคราวนี้ไปในนามส่วนตัวมิใช้ตำแหน่งทางราชการคือ ตำแหน่ง “สังฆมนตรี” แต่ประการใด จึงไม่อาจระงับการเดินทางตามความต้องการของอธิบดีกรมการศาสนาได้

 ครั้นจนถ้วยคำอธิบดีกรมการศาสนากราบเรียนว่า พรุ่งนี้ นายกรัฐมนตรี (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) จะมาบำเพ็ญกุศลที่วัดสามพระยา ถ้าท่านเจ้าคุณจะไปพบ เพื่อทำความเข้าใจกับนายกรัฐมนตรีก็จะดีที่สุด  ซึ่งเรื่องนี้ในบันทึกไม่ปรากฏว่า พระพิมลธรรม ไม่ได้พูดอะไรต่อและก็ไม่ปรากฎว่าท่านเดินทางไปพบนายกรัฐมนตรีที่วัดสามพระยา ตามที่อธิบดีกรมการศาสนาบอกไว้

 นี้คือเกร็ดประวัติส่วนหนึ่งของ “พระภิกษุผู้เป็นประวัติศาสตร์” ผู้เป็นแบบอย่างของนักต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เพื่อพระพุทธศาสนา แม้ตนเองจะติดคุกก็ยอม หากเปรียบเทียบกับยุคนี้คงต้องบอกประมาณว่า “มิยอมให้ฆราวาสมาปกครองพระ” 

ซ้ำในตอนท้าย ๆ ของชีวิตมีโอกาสเป็น “พระสังฆราช” ด้วยซ้ำไป แต่ก็ยอมสละไม่สนใจต่อยศถาบรรดาศักดิ์ โดยทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการศาสนาในปี 2532 ว่า เจริญพรท่านอธิบดีกรมการศาสนาพระเถระที่สมควรจะมาดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชต่อไปนี้ ควรจะเป็นสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร..”

พระภิกษุผู้เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งแบบนี้..ศิษยานุศิษย์น่าจะร่วมกันปรึกษาหารือหาช่องทาง เสนอให้เป็น “บุคคลสำคัญของโลก”

Leave a Reply