“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร องค์รัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานมานานกว่า 40 ปี คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ วันที่ 18 กรกฏาคม 2517 โดยเริ่มต้นจากพระบรมราโชวาทใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งเน้นความสำคัญในการพัฒนาประเทศแบบสร้างพื้นฐานคือ “ความพอมีพอกิน พอใช้”
ต่อมาพระองค์มีพระราชดำรัสอีกครั้งเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2517 ณ ศาลาดุสิตดาลัยเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาทรงเน้นคำว่า “พอมีพอกิน” ดังนั้นคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” จึงมาจากจุดเริ่มต้นว่า “พอมีพอกินพอใช้” นั่นเอง
“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่สำคัญจะต้องมี “สติ ปัญญา และความเพียร” ซึ่งจะนำไปสู่ “ความสุข” ในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง
ส่วนคำว่า “โคก หนอง นา” ซึ่งโดยฐานก็คือ แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง เป็นการจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร เป็นแบบผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนไทยแบบดั้งเดิมในการใช้ชีวิตตั้งอยู่บนฐานแห่งความไม่ประมาท เกื้อกูลและแบ่งปันซึ่งกันและกัน
ช่วงระยะเวลา 2-3 ปีมานี้คำว่าโคก หนอง นา เป็นคำที่ประชาชนคนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการขับเคลื่อนการทำงานอย่างเป็นระบบของ “กรมการพัฒนาชุมชน” ภายใต้การนำทัพของ “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ที่ปูพรมเดินสายเข้าหาประชาชนทั่วประเทศ ภายใต้คำขวัญที่ว่า “ผู้นำต้องทำเป็นแบบอย่าง”
เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ทีมงานข่าวเฉพาะกิจ” ได้ติดตาม สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ลงพื้นที่จังหวัดราชบุรี เพื่อไปดูแปลงขนาด 15 ไร่ ของ “พอต” อภิวรรษ สุขพ่วง ณ ไร่สุขพ่วง เลขที่ 107 หมู่ 10 ต.จอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี
พื้นที่แปลงโคก หนอง นา ขนาด 15 ไร่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผัก ผลไม้และการเลี้ยงปลา ปู ชนิดต่าง ๆ เอาไว้ การขุดสระและคลองไส้ไก่เพิ่งเสร็จสิ้นได้ไม่นาน ยังมีร่องรอยของการตบแต่งพื้นที่ใหม่ ๆ หลังจาก สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ถึงพื้นที่ได้เดินดูผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากไร่สุขพ่วง พร้อมกับสำรวจบริเวณแปลงโดยรอบ พร้อมกับมีการซักถามและแนะนำวิธีการดูแลแปลงอย่างคล่องแคล่วสมกับว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยในการที่จะต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน เพราะ สไตล์การทำงานอย่างที่สังคมรับรู้คือ “ถึงลูกถึงคนและติดดิน” หลังจากเดินดูใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง ได้บอกกับนักข่าวว่า
รู้สึกประทับใจมากที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมน้องอภิวรรษ สุขพ่วง ณ ไร่สุขพ่วง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี น้องเขาเป็นเด็กรุ่นใหม่ได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาใช้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังขยายความสุขให้กับคนอื่น โดยการใช้พื้นที่ 25 ไร่ ทำเป็นพื้นที่เรียนรู้การบริหารจัดการพื้นที่ทางการเกษตร มีการดำเนินการแบบเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน คือ การออกแบบพื้นที่ชีวิตโดยใช้หลักการออกแบบภูมิสังคม ปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่มีความเหมาะสมในการทำการเกษตร แก้ไขปัญหาความแห้งแล้งในชุมชน และปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมยามหน้าฝน โดยการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เนื่องจากเขตพื้นที่ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน จึงได้มีการขุดสระน้ำและคลองไส้ไก่เพื่อรองรับน้ำฝนที่ตกมาในพื้นที่ทั้งหมดให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์
น้องเขานำดินที่เกิดจากการขุดสระน้ำมาถมเป็นพื้นที่สูงเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและคอกสัตว์ สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีโดยการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามศาสตร์พระราชา และการปลูกป่า 5 ระดับ นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ใช้เกษตรทฤษฎีใหม่ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนที่ 1 พื้นที่รับน้ำ ได้แก่ คลองไส้ไก่และบ่อน้ำขนาดใหญ่ 4 บ่อ เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรอุปโภคและบริโภคตลอดทั้งปี ส่วนที่ 2 พื้นที่ป่า ถูกจัดให้อยู่ในบริเวณพื้นที่สูงรอดพ้นจากภัยพิบัติน้ำท่วม โดยทำเป็นป่า 5 ระดับ ส่วนที่ 3 เป็นพื้นที่นาข้าว ทำหัวคันนาให้มีขนาดใหญ่สำหรับปลูกพืชผัก และบนหัวคันนายังมีกับข้าวไว้กินได้ตลอดปี ส่วนที่ 4 เป็นที่อยู่อาศัยและคอกสัตว์
“ไร่สุขพ่วงได้เปิดเป็นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้คนที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ และที่สำคัญคือศูนย์เรียนรู้ที่นี่จะมีฐานเรียนรู้ที่หลากหลายมากกว่าที่อื่นๆ ที่อยู่ในหลักสูตร ทั้งนี้เนื่องจากน้องอภิวรรษมีประสบการณ์จากการศึกษาอบรมและนำมาประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น บริเวณที่ปลูกต้นไผ่ เพื่อที่จะให้ต้นไผ่เป็นพืชอาหารและไม้ใช้สอย และในขณะเดียวกันเพื่อไม่ให้รากไผ่ไปเบียดเบียนต้นไม้อื่นๆ เช่น ต้นโกโก้ ผักกูดที่เป็นไม้ที่ปลูกไว้ในบริเวณเดียวกัน ก็จะขุดร่องเพื่อให้ร่องนั้นเป็นหลุมทำให้เกิดปุ๋ยไผ่ สามารถนำปุ๋ยไผ่ไปใช้ประโยชน์ได้อีก และสิ่งที่น่าประทับใจอีกอย่างหนึ่งคือการทำเห็ดนางฟ้า ซึ่งสมัยก่อนที่เราเรียนรู้กันมา เห็ดนางฟ้าจะต้องใช้ขี้เลื่อย เศษวัสดุที่เป็นผงนำมานึ่งฆ่าเชื้อให้เรียบร้อย ถึงจะใส่เชื้อซึ่งอันนั้นมีต้นทุนสูง แต่ที่ไร่สุขพ่วงได้ใช้ฟางข้าวนำมาแช่น้ำ 6-7 ชั่วโมง ก็สามารถนำมาเพาะเห็ดได้ เป็นการประหยัดต้นทุน และที่สำคัญที่สุดคือฟางข้าวสามารถหาได้ทั่วไป อีกทั้งยังมีการปลูกพืชสวนครัวไว้ริมรั้วเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน อาทิเช่น ต้นหอม มะเขือ กุยช่าย ผักสลัด มะละกอ เป็นต้น ซึ่งตรงกับความหมายของไร่สุขพ่วง หมายถึงมีความสุขทั่วกัน ไม่ใช่มีความสุขคนเดียว ยังขยายความสุขให้กับคนอื่นด้วย
ซึ่งนับเป็นที่น่าภาคภูมิใจที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณให้กรมการพัฒนาชุมชนขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อจะทำให้พี่น้องประชาชนมีทางรอดในการน้อมนำเอาหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน และที่สำคัญเราสามารถสร้างชุมชนให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทั้งในเรื่องของการแบ่งปันความรู้ การแบ่งปันพืชอาหารต่างๆ ให้กับคนในชุมชน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าประเทศไทยของเรารอดแน่นอนในวิกฤตการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจ หรือวิกฤตของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ถ้าหากประเทศไทยของเรามีต้นแบบอย่างน้องอภิวรรษ ขอให้พวกเราได้ช่วยกันขยายผลในการที่จะนำองค์ความรู้ นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาใช้ในชีวิตประจำวัน และขยายผลแก่พี่น้องประชาชนตามแนวพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร..”
หลังจากนั้น “พอต” อภิวรรษ สุขพ่วง ในวัยอายุ 33 ปี บอกว่า หลังจากที่เรียนจบปริญญาตรี ด้านวิศวะ ก็ได้เดินทางกลับบ้านเพื่อจะมาทำอาชีพเกษตรกรรมทันที ไม่ได้มองสายงานที่เรียนมา เนื่องจากที่บ้านมีพื้นที่มรดกไว้แต่ไม่มีใครสร้างประโยชน์ ปล่อยให้เป็นพื้นที่รกร้าง และแห้งแล้งทั้งๆที่อำเภอเราได้ชื่อว่าจอมบึง ซึ่งหมายถึงน้ำอุดมสมบูรณ์ แต่ไม่มีน้ำ และด้วยนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนรักธรรมชาติ และมีความคิดที่อยากเป็นนายตัวเอง ไม่อยากเป็นลูกน้องใคร จึงตัดสินใจได้ไม่ยากที่จะมาเริ่มต้นชีวิตการเป็นเกษตรกร
จนเริ่มต้นทำแนวทางตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประเภท เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ศึกษาความรู้ เริ่มทำเกษตรอินทรีย์ไม่ได้ใช้เงินเป็นตัวตั้ง แต่เริ่มทำเพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากความหิวโหย เพราะหลังจากที่เรียนจบกลับบ้าน ไม่มีเงินติดตัวเลยสักบาท รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระของครอบครัว จึงคิดว่าเราคงต้องหาอะไรทำเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเอง และทำอย่างไรก็ได้ให้ครอบครัวมีรายจ่ายน้อยที่สุด
“ตอนนั้นคิดว่า การทำเกษตรเพื่อแลกเงินเป็นเรื่องที่เหนื่อย แต่ถ้าคิดว่าจะทำอย่างไร ให้คนในครอบครัวมีรายจ่ายน้อยลง มันเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า จึงเริ่มสังเกตพฤติกรรมการกินของคนในครอบครัว มองดูแล้วว่าพวกเขาไม่ได้กินอะไรที่มากไปกว่าน้ำพริกผัก อาหารหลักคือ ข้าว คิดว่าถ้าลงมือทำคงไม่ยาก จึงเริ่มลงมือปฏิบัติใช้พื้นที่มรดกเป็นห้องเรียนและเรียนการทำเกษตรด้วยตัวเอง โดยอาศัยภูมิปัญญาของคุณตาคุณยาย
การทำเกษตรเพื่อแลกเงินเป็นเรื่องที่เหนื่อย แต่ถ้าคิดว่าจะทำอย่างไร ให้คนในครอบครัวมีรายจ่ายน้อยลง มันเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า จึงเริ่มสังเกตพฤติกรรมการกินของคนในครอบครัว มองดูแล้วว่าพวกเขาไม่ได้กินอะไรที่มากไปกว่าน้ำพริกผัก อาหารหลักคือ ข้าว คิดว่าถ้าลงมือทำคงไม่ยาก จึงเริ่มลงมือปฏิบัติใช้พื้นที่มรดกเป็นห้องเรียนและเรียนการทำเกษตรด้วยตัวเอง โดยอาศัยภูมิปัญญาของคุณตาคุณยาย”
ในการพัฒนาพื้นที่ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ จึงได้คิดเปลี่ยนหัวคันนา และเปลี่ยนพื้นที่รอบบ้าน ให้เป็นพื้นที่ปลูกผัก คนในบ้านชอบอะไรก็ปลูกอย่างนั้น โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้มีความเหมาะสมในการทำเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำในชุมชน โดยมีการขุดสระน้ำและคลองไส้ไก่ เพื่อรองรับน้ำฝนที่ตกลงมาตามฤดูกาล จากนั้นนำดินที่เกิดจากการขุดสระน้ำมาถมเป็นโคก เป็นพื้นที่สูงปลอดภัยจากน้ำท่วม ใช้สร้างที่อยู่อาศัย คอกสัตว์ ยุ้งข้าว ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง พร้อมแบ่งการปลูกต้นไม้เป็น 5 ระดับ เพื่อเป็นคลัง อาหาร เป็นไม้ใช้สอย เป็นป่าไม้ขนาดใหญ่ จนเกิดความร่มเย็น และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับพื้นที่
“แต่กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มีอุปสรรคผ่านเข้ามาในชีวิตอย่างมากมาย แต่ก็ได้พิสูจน์ให้ครอบครัวได้เห็นถึงความพยายาม พร้อมกับนำความรู้ที่มีมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ผ่านพ้นปัญหาไปได้ และเริ่มมีความคิดที่อยากจะแบ่งปัน ให้คนอื่นได้สัมผัสกับความสุขในแบบเดียวกัน จึงตัดสินใจสร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อให้ผู้คนได้มาเรียนรู้วิถีชีวิตการเกษตรแบบยั่งยืน อนุญาตให้เกษตรกรเข้ามาดูตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำว่าเป็นอย่างไร ให้ดูว่าการปลูกผัก การเลี้ยงไก่ ต้องทำอย่างไร เพื่อถ่ายทอดความรู้ และส่งต่อความสุขให้กับผู้มาเยือน ความสุขในครั้งนี้คือการได้กลับบ้าน โดยกลับไปพัฒนาไร่สุขพ่วงให้มีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้อื่น เพื่อที่เหล่าเกษตรกรจะได้มีความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน มีผลผลิตไว้กินไว้ขายได้ตลอดปี และส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้ พร้อมกับต่อยอดเส้นทางอาชีพนี้ได้อย่างมั่นคง ทั้งนี้ขอขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชนที่ได้เปิดโอกาสให้ทางไร่สุขพ่วงได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ได้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อยอด ถ่ายทอดองค์ความรู้ ส่งมอบความสุขให้กับผู้อื่น ที่นี้จะเป็นศูนย์เรียนรู้ภาคตะวันตก มีผลิตภัณฑ์หลากชนิดที่เกิดจากศูนย์แห่งนี้ งานในหลวง ศาสตร์ของพระราชา เป็นงานที่เราจะต้องทำต่อเนื่อง หยุดไม่ได้..
การแพร่ระบาดของโควิด -19 มีการคาดการณ์ว่าประชาชนผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวางและมีการกลับสู่ถิ่นฐานกำเนิดของตนเองไม่ต่ำกว่า 5 ล้านราย ซึ่งการสร้างชุมชนเข็มแข็งในระดับครัวเรือนและชุมชน จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่รัฐจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ
“ไร่สุขพ่วง” เป็นแบบอย่างที่ดีในการที่จะเรียนรู้สำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะหันกลับมาพัฒนาบ้านเกิดและทั้งเป็นโมเดลสำคัญในการที่จะศึกษาหาความรู้ในการดำเนินตามรอยศาสตร์ของพระราชา พร้อมทั้งต่อยอดเศรษฐกิจพอเพียงในขั้นก้าวหน้าคือ เป็นแหล่งผลิตสินค้าระดับชุมชนได้
สำหรับท่านที่สนใจที่จะเข้ามาเยี่ยมชมศึกษาเรียนรู้ หรือสนใจผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากไร่สุขพ่วง สอบถามได้ที่ อภิวรรษ สุขพ่วง เบอร์ 08-9379-8950, Email : [email protected], Line ID: raisukphoang.หรือจะเข้าไปติดตามกิจกรรมเฟชบุ๊ค “ไร่สุขพ่วง” ก็ได้
Leave a Reply