สมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ละสังขารด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง สิริอายุ 85 ปี

วันที่ 15 มีนาคม 2565 นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากทางวัดบวรนิเวศวิหาร ว่า สมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรฯ กรรมการมหาเถรสมาคม ละสังขารแล้ว เมื่อเวลา 14.22 น. ด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ส่วนพิธีการต่าง ๆ ทางวัดจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โดยก่อนหน้านี้ สมเด็จพระวันรัต เข้ารับการรักษาอาพาธอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

สำหรับ สมเด็จพระวันรัต มีนามเดิมว่า จุนท์ พราหมณ์พิทักษ์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน 2479 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 ปีชวด ณ บ้านเกาะเกตุ ต.ชำราก อ.เมืองตราด จ.ตราด โยมบิดา มารดา ชื่อ นายจันทร์ และนางเหล็ย พราหมณ์พิทักษ์ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดคิรีวิหาร ต.ชำราก อ.เมืองตราด จ.ตราด

จากนั้นได้เข้าพิธีบรรพชาเมื่อวันพุธที่ 12 พฤษภาคม 2491 ณ วัดคิรีวิหาร ต.ชำราก อ.เมืองตราด จ.ตราด โดยมีพระวินัยบัณฑิตเป็นพระอุปัชฌาย์ กระทั่งอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม 2499 ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร

โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยบัณฑิต (ถาวร ฐานุตฺตโร) วัดคิรีวิหาร จ.ตราด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูวิสุทธิธรรมภาณ (แจ่ม ธมฺมสาโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลังอุปสมบทได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค จากสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร

ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 สมเด็จพระวันรัต ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนี ได้ปฏิบัติหน้าที่พระเถระชั้นผู้ใหญ่ นั่งพระเสลี่ยงกลีบบัว (พระยานมาศพระนำ) และราชรถน้อย (รถพระนำ) อ่านพระอภิธรรมนำขบวนพระอิสริยยศ ในการเคลื่อนพระศพ จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สู่พระเมรุ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

รวมทั้ง ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี วันที่ 9 เมษายน 2555 สมเด็จพระวันรัต ได้ปฏิบัติหน้าที่พระเถระชั้นผู้ใหญ่ นั่งพระเสลี่ยงกลีบบัว (พระยานมาศพระนำ) และราชรถน้อย (รถพระนำ) อ่านพระอภิธรรมนำขบวนพระอิสริยยศ ในการเคลื่อนพระศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สู่พระเมรุ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงอีกวาระหนึ่ง

ส่วนภาระหน้าที่พิเศษ ยากที่จะหาผู้ใดทำหน้าที่นี้ได้ในยุคปัจจุบัน คือการที่ได้รับมอบหมายจากเถรสมาคมเป็นผู้ตรวจสอบการคำนวณปฏิทินหลวง (ปฏิทินจันทรคติไทย) และให้ความเห็น ก่อนที่จะประกาศใช้ในแต่ละปี นอกจากนี้ ยังเดินหมุด และคำนวณปฏิทินปักขคณนาสำหรับวันลงอุโบสถให้กับคณะสงฆ์ธรรมยุตด้วย

Leave a Reply