วันที่ 25 พ.ย. 64 เมื่อวันที่ 22 ที่ผ่านมา ณ วัดหนองคู หมู่ที่ 4 ตำบลยาง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ในฐานะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้นำเสนอแนวทางในการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ โดยขยายผลจากโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ในพื้นที่ตำบลยาง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานการรับฟังความคิดเห็นร่วมกับภาครัฐและประชาชนอื่น ๆ
พระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึงแนวทางในการเข้าร่วมโครงการฯ ว่า เป็นการขยายผลโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งรัฐบาลได้มีแนวทางการขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การนำของ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่มีบทบาทสำคัญในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่ประชาชนตามแนวทางของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นหน่วยงานหลักขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ จึงได้เสนอการขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ โดยภาครัฐจะได้สนับสนุนการจ้างงาน โครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์พื้นฐาน อำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ที่จำเป็น ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ ภาควิชาการในพื้นที่ร่วมพัฒนาและยกระดับทรัพยากรมนุษย์ ต่อยอดด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมที่เหมาะสม โดยมีภาคเอกชนร่วมสนับสนุนการบริหารงานโครงการ วางแผน พัฒนาและต่อยอดผลผลิตต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากความสมบูรณ์ของการพัฒนาพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีศักยภาพในกรพัฒนา พื้นที่ประสบปัญหาภัยพิบัติซ้ำซาก และใช้โอกาสจากภาคแรงงานที่มีทักษะและศักยภาพที่ประสบกับปัญหาการเลิกจ้างจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่กลับไปยังบ้านเกิดเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เป้าหมาย ด้วยการให้ความรู้ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่ ควบคู่กับการศึกษาถึงรากเหง้าภูมิปัญญาดั้งเดิม และเพิ่มพูนด้วยชุดความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาของพื้นที่และภูมิสังคม เพื่อพัฒนาหรือยกระดับเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เพื่อขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเสริมสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ภายในปี 2030
ขณะที่ นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้กล่าวถึงการสนับสนุนโครงการฯ นั้นจะสามารถพิจารณากำหนดรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมร่วมกับภาคประชาชนและภาคเอกชนในพื้นที่ ที่สามารถส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ช่วยการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ และการเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนา ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่ หลัก “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน/ราชการ) “บรม” (บ้าน โรงเรียน/ราชการ มัสยิด) “ครบ” (คริสต์ โรงเรียน/ราชการ บ้าน) รวมถึงแนวพระราชดำริต่าง ๆ การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) การพัฒนาและการรังสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบใหม่ Policy Sandbox ภายใต้การปฏิรูประบบราชการ และแนวทางการพัฒนาโดยใช้ศาสตร์อื่น ๆ เพื่อมาเป็นแหล่งเรียนรู้ตามแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจและเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินข้าร่วมโครงการภายใต้เงื่อนไขสำคัญที่พื้นที่ที่เข้าร่วมนั้น ต้องพัฒนาให้สามารถประโยชน์สุขร่วมกันตามนโยบายของรัฐบาลในการขจัดปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นพื้นที่มีความพร้อมในการดำเนินงานได้ทันที และต้องได้รับการยินยอมให้ใช้พื้นที่และจดทะเบียนการใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ในวันนี้จึงได้มาประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ พร้อมส่งแบบฟอร์มการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ โดยมี สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ เป็นพี่เลี้ยงในการสนับสนุนการดำเนินงานและประสานงาน โดยขอให้จัดส่งข้อมูลให้จังหวัดฯ เพื่อจักส่งต่อไปยังกระทรวงมหาดไทย ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2564 นี้
Leave a Reply