“กษัตริย์จิกมี” นิมนต์ “ผู้บริหาร มจร” เยี่ยมราชอาณาจักรภูฎาน

วันที่ 18 มิ.ย.67  เฟชบุ๊ค PM S Pachantasena ซึ่งเป็นเฟชส่วนตัวของ พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้โพสต์ว่า  พระพรหมวัชรธีราจารย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พร้อมด้วย พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ รองศาสตราจารย์ ดร.สุรพล สุยะพรหม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญมี พรรษา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ และนายเชาวฤทธิ์ หวังประกอบกุล กรรมการอุปถัมภ์วิทยาลัยพระธรรมทูตและวิเทศสัมพันธ์ เดินทางไปเยือนราชอาณาจักรภูฏาน ตามคำอาราธนาของราชอาณาจักรภูฏาน ในฐานะพระราชอาคันตุกะของ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ระหว่างวันที่ 18-20  มิถุนายน 2567

สำหรับราชอาณาจักรภูฏานหรือประเทศภูฏาน กว่า 75% ของชาวภูฏานเป็นพุทธศาสนิกชน แบบมหายาน แบบตันตระหรือวัชรยาน และภูฏานเป็นเพียงประเทศเดียวในโลก ที่ยอมรับนับถือพุทธศาสนามหายานแบบตันตระ เป็นศาสนาประจำชาติอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็จะมีหลักธรรมพื้นฐานคล้ายกับนิกายอื่น แต่จะนับถือบรรดาเทพเจ้าและเหล่าพระโพธิสัตว์

ปัจจุบันในประเทศภูฏานมีพระสงฆ์กว่า 8,000 รูป แบ่งออกเป็น 5 ชั้นปกครอง คือ

– เจเคนโป เป็นชั้นปกครองสูงสุด สมเด็จพระสงฆราช ชั้นสูงสุดนี้ห่มผ้าได้ทุกสี ชั้นสูงสุดนี้พระมหากษัตริย์จะสถาปนาในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของอาณาจักร และศาสนจักร ชาวภูฏานเรียกว่า พูนาคาซอง

– เคนโป เป็นชั้นรองมาจากสังฆราช หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งคือ รินโปเชผู้อวตารมาเกิด ห่มผ้าปนทุกสี

– ลามะ เป็นชั้นรองจากเคนโป เป็นอาจารย์ที่ทรงความรู้ ห่มผ้าสีเหลืองปนแดง

– โลแพน เป็นชั้นรองลงมาจากลามะ เป็นพระที่มความรู้บ้างแล้ว ห่มผ้าสีเหลือง

– เกลอง เป็นชั้นรองลงมาจากโลแพน เป็นชั้นสามัญ แต่ก็มีเกลองชั้น ตรี โท เอก ด้วย เกลองนี้ ห่มผ้าสีแดง

วิธีเลื่อนชั้นนี้ก็จะทำการสอบคัดเลือก แม้การปกครองทางอาณาจักรจะเหมือนกับทิเบตในช่วงแรก จากนั้นมาก็มีการแยกปกครองทั้งฝ่ายพุทธจักร และอาณาจักร แต่ลามะก็มีที่นั้งในสภา 10 ที่นั่ง ทำให้ลามะมีบทบาทในการปกครองประเทศ

พระภิกษุในอดีตมีภรรยาได้ แต่ในปัจจุบันถ้าจะมีภรรยาต้องสึกเสียก่อน พระเณรทุกรูปได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเดือนละ 200 นูตรัม นอกจากรายได้จากการอุปถัมภ์ของรัฐบาลแล้ว พระยังมีรายได้จากจากการบริจาคในพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะพิธีที่เกี่ยวข้องกับการตาย ชาวภูฏานนิยมบริจาคมากจนบางครั้งกลายเป็นหนี้สิน รัฐบาลต้องออกกฎหมายควบคุมการบริจาค

Leave a Reply