จัดตั้ง “กลุ่มมหาเปรียญ 9 ประโยค” คาดหวังได้-ไม่ได้??

การออกมากระตุ้นให้ตั้ง “กลุ่มผู้จบเปรียญธรรม 9 ประโยค” ของ เจ้าคณะภาค 1 “พระธรรมวชิรเมธี หรือ เจ้าคุณมีชัย” เหมือนจะสร้าง  ”ความตื่นเต้น” ให้วงการมหาเปรียญ และสาธุชนที่มีบทบาทในการปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาพอควร!

ความจริง มีการจดตั้ง “เปรียญธรรมสมาคมแห่งประเทศไทย” ในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จย่า มายาวนานตั้งแต่ “ปี 2544” โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ “เพื่อธำรงรักษาและส่งเสริมพระพุทธศาสนา ฯ

มีการรวมตัวของกลุ่มผู้จบเปรียญธรรม “ทุกประโยค” มายาวนาน

แต่ “มักมีคำถามเสมอมา” ว่า เวลาเกิด “ปัญหา” กับพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ สมาคมนี้ “หายตัวไปไหน???

แล้ววัตถุประสงค์ที่จดตั้งไว้ “เคยได้แสดงบทบาทบ้างไหม???

สังคมต้องการความคิดเห็นเรื่องคุณธรรม จริยะรรม และศีลธรรม หรือ การที่พระพุทธศาสนาถูกรุกราน ย่ำยี พระสงฆ์ถูกกระทำย่ำยีให้เสียหาย การดำเนินคดีกับพระสงฆ์ไม่เป็นตามหลักพระธรรมวินัย

กรรมการเปรียญธรรมสมาคมที่ตั้งมาเพื่อธำรงพระพุทธศาสนาได้ทำอะไร และได้แสดง “บทบาทใดๆ ตามวัตถุประสงค์บ้างไหม???

นอกจากนี้ ยังปรากฏว่า มีการจดตั้ง “สมาคมเปรียญธรรม 9 ประโยค” ขึ้นมาแล้วอย่างเป็นทางการ และดูเหมือนจะ “มีบทบาทมากกว่าเปรียญธรรมสมาคมแห่งประเทศไทย” พอสมควร ในการทำหน้าที่ตอบ “ข้อสงสัย” ให้แก่สังคมเกี่ยวกับประเด็นปัญหาดังกล่าว

แต่อยู่ ๆ สมาคมนี้ก็ได้ “อันตรธานไป” แบบไม่มีร่องรอย มีกระแสข่าวว่า มีความขัดแย้งกันระหว่างมหาเปรียญ 9 ประโยคที่เป็นผุ้บริหารสมาคม ก่อนจะสลายตัวกันไปตามกระแสสังคม

จริงเท็จประการใด ไม่ทราบ!

มหาเปรียญทั้งที่เป็นฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์มี “จำนวนมากมาย” แต่ผู้ที่มีความรู้ที่จะทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครอง ตอบคำถามให้แก่สังคมเวลาพระพุทธศาสนาหรือคณะสงฆ์เผชิญปัญหา “มีไม่กี่ท่าน!

แต่ดูเหมือนจะโดน “อำนาจลึกลับ” ตรึงไว้ไม่ให้มีปากมีเสียง!

ที่สื่อใช้เป็น “แหล่งข้อมูลตอบปัญหาพระพุทธศาสนาและสังคมสงฆ์” ได้บ้างเวลานี้ คือ “ผู้ที่ไม่ได้เป็นมหาเปรียญ!

ส่วนผู้ที่เป็น “มหาเปรียญ” ที่ “สังคมคาดหวังมาก” ว่าจะเป็นปากเสียงได้เมื่อ “ลาสิกขา” ออกมา กลับมีพฤติกรรมทางการพูดและการกระทำ “หนักหนาสาหัส” ยิ่งกว่าผู้ที่ไม่ได้บวชเรียนเขียนอ่านเสียอีก!

ตามหลักพุทธ พฤติกรรมการพูดและการกระทำออกมาจากจิตใจ จิตใจเป็น “ตัวกำหนดการพูดและการกระทำ” ของมนุษย์

เมื่อพระเถระผู้ใหญ่ “เจ้าคุณมีชัย” เจ้าคณะภาค 1 เปรียญธรรม 9 ประโยค ริเริ่มให้มีการร่วมตัวของผู้จบเปรียญธรรม 9 ประโยค เพื่อการดังกล่าวนี้ จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า จะได้ผลจริงไหม???

ผู้จบเปรียญธรรม 9 ประโยคมีกี่ท่าน ที่ “มีภูมิรู้และกล้า” ที่จะแสดงออกให้เกิดผลกระทบต่อสังคมได้จริง

ส่วนผู้จบเปรียญ 9 ประโยคที่เป็นพระ ก็อย่างที่เห็น “น้อยนัก” ที่จะกล้าชี้นำสังคมให้เดินไปในทางที่ถูกต้อง เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่ “ญาติโยม” เป็นผู้กำหนดเส้นทางให้พระคิด พูด และทำ!

เพราะญาติโยมนับถือ “ความศักดิ์สิทธิ์” ของพระ หรือนับถือพระเป็น “องค์แห่งความศักดิ์สิทธิ์” มากกว่าที่จะนับถือพระธรรมวินัยที่อยู่ในตัวพระ

และพระก็ “พอใจที่จะให้ญาติโยมนับถือพระในลักษณะนี้” ไม่กล้าบอกและสอนให้ญาติโยมนับถือพระธรรมวินัยในตัวพระ!

 ในสังคมไทย จึงเห็นพระส่วนใหญ่ต้องคิด พูด และทำตามที่ญาติโยมกำหนดให้”!!!

พระส่วนใหญ่ไม่กล้าแม้แต่จะแสดงความคิดเห็นที่ทวนกระแส แม้สิ่งนั้นจะถูกต้อง แต่ไม่ถูกใจสังคม

สภาพเช่นนี้ เกิดขึ้นแม้กระทั่งกับ “มหาเถรสมาคม” องค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย ที่เต็มไปด้วย “พระเถระที่จบเปรียญธรรม 9 ประโยค

แต่ในข้อเท็จจริง กรรมการมหาเถรสมาคมที่จบเปรียญธรรม 9 ประโยคกลับตกอยู่ภายใต้อำนาจครอบงำของกรรมการมหาเถรสมาคมที่ไม่ได้จบเปรียญธรรม หรือจบเพียงเปรียญธรรม 1-2 ประโยค แต่เป็นเจ้าคุณหรือสมเด็จที่ “อาวุโสกว่า” และ “อยู่ใกล้ขั้วอำนาจมากกว่า”!!!

ถ้ามีการรวมกลุ่มมหาเปรียญธรรม 9 ประโยค “ได้จริง!” ตามที่เจ้าคุณมีชัยเชิญชวน  และมหาเหล่านี้มีภูมิรู้และกล้าชี้นำสังคมในทางที่ถูกต้องจริง

ชาวพุทธก็พอมีหวังได้ว่า พระพุทธศาสนาจะเจริญมั่นคงและเป็นสังคมอุดมปัญญาจริง!!

Leave a Reply