หลายคนอาจไม่ทราบว่าภาคใต้ของประเทศไทยนับตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป “ไม่มีฤดูหนาว” จังหวัดชุมพรเดือนที่มีอากาศหนาวที่สุดของปี คือ ธันวาคม โดยมีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยเท่ากับ 22°C นอกนั้นนับได้ว่า มีเพียงสองฤดูเท่านั้น คือ ฤดูร้อนเริ่มตั้งเดือนมกราคมจนถึงเดือนเมษายน และ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนธันวาคม
“ทีมข่าวพิเศษ” เดินทางไปจังหวัดกระบี่ จังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวระดับโลก “กระบี่” แม้เป็นจังหวัดขนาดเล็ก แต่มากด้วยทรัพยากรท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และมรดกทาง วัฒนธรรม อันเก่าแก่ มีการผสมผสานการดำรงชีวิตของผู้คนที่ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา และ ความเชื่อที่แตกต่างอย่างกลมกลืน อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงแผ่นดินประมาณ 814 กิโลเมตร รายได้หลักของจังหวัดกระบี่เกิด จากการท่องเที่ยวและการประมง และพืชเศรษฐกิจที่สำคัญจังหวัดกระบี่ คือ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา
“จังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากมีแหล่งผลิตอาหารพืชผักไม่เพียงพอ” นี่คือคำพูดของ “กล้วย” จำเริญ เขียวขาว วัย 52 ปี ชาวตำบลโคกหาร อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่บอกกับทีมงาน ซึ่งคำพูดนี้กล้วยบอกว่าเป็นคำกล่าวของ “ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล” หรือ อ.โก้ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการดำเนินงาน โคก หนอง นา บอกกับเขาในวันที่พบกันครั้งแรกเมื่อคราวที่จำเริญ เขียวขาว อบรมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งตอนนั้นตัวเขาเองก็ยังงงอยู่กับคำพูดของที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทยคนนี้ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้รู้ว่าคำพูดของอาจารย์โก้เป็นจริง ประชาชนตกงาน ขาดแคลนเงิน ประชาชนขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะผักที่มีคุณภาพปลอดสารเคมี กล้วยเล่าต่ออีกว่า ประมาณปี 2555-2556 เริ่มสนใจในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เดิมทำธุรกิจส่วนตัวและขายรถมือสองตอนทำงานอยู่เริ่มสับสนกับตัวเอง ทำงานหาเงินและตายไป รู้สึกเหมือนชีวิตไม่ได้อะไร สังคมในระบบการแข่งขันที่สูง มันไม่ใช่แก่นแท้ของชีวิต ช่วงนั้นรู้สึกสับสน และมองหาทางออกของชีวิต เมื่อได้ศึกษาหาข้อมูลแล้วก็เจอว่า อ. ยักษ์ (วิวัฒน์ ศัลยกำธร) ได้มีการเปิดอบรม จึงได้เข้าร่วมอบรมพร้อมกับภรรยา อ.ยักษ์ ได้มีการกล่าวถึงในหลวง ร.9 บ่นว่า ใครก็ว่าฉันคิดดี ทำดี แต่ไม่มีใครนำไปปฏิบัติ พอนำปฏิบัติแล้วก็ปลูกมะเขือ 3 ต้นพริก 3 ต้น และเขียนป้ายเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำงบประมาณของฉันออกไปใช้ เมื่อได้ฟังแบบนี้แล้ว รู้สึกน้ำตาตก จึงได้ตัดสินใจกับภรรยาอยากจะทำให้เรื่องนี้สำเร็จ ทั้งๆที่ตอนนั้นธุรกิจส่วนตัวกำลังไปได้ดี เพราะผมทำธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
แต่ก็ตัดสินใจหันมาทำเกษตร เดินตามรอยศาสตร์พระราชา เริ่มต้นจากขอที่ดินจากพ่อตา 10 ไร่ ซึ่งเดินทีพื้นที่ตรงนี้ได้ปลูกยางพาราไว้ และโค่นยางออกไปแล้ว เริ่มแรกเรียนรู้ปรัชญาและนำมาปรับใช้กับครอบครัว จากนั้นก็นำทฤษฎีมาปรับใช้ด้วย ด้วยการขนเปลือกมะพร้าวทุกวัน จนชาวบ้านระแวกนั้นต่างพากันหัวเราะ ระยะแรกไม่มีรายได้เลย ต้องนำเงินเก็บออกมาใช้ แต่ไม่เหมือนตอนที่ทำงาน เราใช้เงินแบบไม่แยกว่าสิ่งไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็น จึงเป็นปัญหาของชีวิต แต่เมื่อมาอยู่แบบนี้แล้วดูเหมือนไม่มีเงิน แต่เราก็อยู่ได้ สมัยที่ทำธุรกิจคนภายนอกดูเหมือนว่าเรามีเงินเยอะแต่จริงๆแล้วไม่มี!!
“ตอนอายุ 48 ปี เมื่อปี 2561 ได้เริ่มมาอยู่ที่นี่และทำเศรษฐกิจพอเพียงแบบจริงจัง 100% รายได้หลักมาจากการเลี้ยงวัว ผมคิดว่าแนวทางปฏิบัติในการดำเนินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง อย่างแรกต้องเริ่มจากความศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญ ตั้งมั่นในศรัทธา มีความเพียรที่บริสุทธิ์ และลงมือปฏิบัติจริง เราเชื่อในสิ่งที่เราทำ และมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นกับเราหลายครั้ง จึงทำให้เรายิ่งเชื่อมั่นในศาสตร์ของพระราชา นอกจากวัวที่เป็นรายได้หลักแล้ว ยังมีหน่อไม้ น้ำผึ้ง กล้วย และหญ้า ก่อนตายคิดว่าอยากจะสร้างวัด หรือโรงเรียนเล็กๆ สอนความรู้นอกตำรา สอนวิชาชีพ หากจะว่าไปทฤษฎี 9 ขั้น ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ดัดแปลงมาจากหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น ผมและไม่เคยทำสวนมาก่อน เพราะที่ผ่านมาทำแต่ธุรกิจ ตั้งแต่เข้ามาทำเศรษฐกิจพอเพียงได้ 1 ปีกว่า เมื่อก่อนกลัวตายมาก ทำประกันต่างๆไว้มากมาย เดี๋ยวนี้ไม่ต้องทำ มันเหมือนว่าเราได้ทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ สำหรับคนอื่นอาจจะคิดแตกต่างกันไป..”
ปัจจุบัน “กล้วย” จำเริญ เขียวขาว อาศัยอยู่กับภรรยาและลูกน้อย ในบ้านดินที่สองสามีภรรยาทำเอง บนที่ดินประมาณ 40 ไร่ ซึ่งเป็นสวนแบบผสมผสานมีไผ่ 30 กว่าชนิดทั้งของไทยและต่างประเทศ มีปลาหลายหลายชนิด ซึ่งกล้วยบอกว่า “ไม่ขาย แต่จะแบ่งให้กับคนมีรายได้น้อย” ใครมีบัตรสวัสดิการของรัฐมารับได้เลย มีการเลี้ยงผึ้งโพรงตามธรรมชาติกว่า 40 รัง ที่นี่ได้ตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ย่อยของ สปก. เวลาคนมาอบรมจะมีรายได้จากค่าอาหาร ค่าวิทยากร ในอนาคตอยากให้เป็นศูนย์เรียนรู้ ที่ผ่านมาใช้ชีวิตแบบไม่เห็นแก่นแท้ของชีวิต และเมื่อได้ฟัง อาจารย์ยักษ์ที่พูดถึงการนำศาสตร์ของพระราชามาปรับใช้กับชีวิตประจำวัน จนทำให้มีความคิดที่จะนำความรู้ที่มี คือ 4 พ. (พออยู่ พอกิจ พอใช้ พอร่มเย็น) นำไปบอกต่อกับผู้อื่นให้ได้เห็นความสุขที่แท้จริง “สมัครเข้าร่วมโครงการ โคก หนอง นา กับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยไว้ 15 ไร่ ทางกรมก็เข้ามาช่วยในเรื่องการขุดบ่อ การสร้างฐานเรียนรู้ 9 ฐาน และสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งถือว่าการช่วยเหลือของกรมการพัฒนาชุมชน นี้ มีส่วนช่วยให้ประสบความสำเร็จเร็วขึ้น ถ้าหากต้องใช้ทุนของตัวเองทั้งหมดก็จะช้ากว่านี้ เฉพาะค่าขุดบ่อก็ 1,040,000 บาทแล้ว นอกนี้ยังมีค่าวัสดุอุปกรณ์อีกมากมาย ตรงนี้ก็ต้องขอขอบคุณที่เห็นคุณค่าของคนทำจริงในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง..” หลังจากพูดคุยกับ จำเริญ เขียวขาว หรือ “กล้วย” ผู้ซึ่งดูแลมีบุคลิกอ่อนน้อมถ่อมตน แต่แววตาแฝงไปด้วยความมุ่งมั่นและจริงใจกับคนผู้พบเห็น
เป้าหมายต่อไปคือแปลงโคก หนอง นา ของ “ประเสริฐ บุตรมิตร” ตำบลโคกยาง อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ สองข้างทางในฤดูฝนแบบนี้ “เขียวขจี” ไปด้วยธรรมชาติที่สวยงาม บางเวลาขับรถผ่านเนินเขามองไปเต็มไปด้วยสวนปาล์มสุดลูกตา ผสมกับมีสวนยางเป็นระยะ ๆ ภายในสวนยางมีห้องแถวเห็น “แรงงานข้ามชาติ” อยู่กันเป็นครอบครัว ๆ เห็นเด็กเล็กเล่นกันอยู่เป็นหมู่คณะ ฤดูฝนที่ยาวนานแบบนี้ “การกรีดยาง” หรือภาษาคนใต้เรียกว่า “ตัดยาง” คงได้รับผลกระทบไปด้วย แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ในจังหวัดภาคใต้มีหลายจังหวัดต้องอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะแบบนี้ เพราะในหมู่แรงงานมีคำกล่าวขานกันว่า “เคยถูกปล้น” มาแล้วหลายราย จึงต้องอยู่ร่วมกันเป็นคณะเพื่อป้องกันภัย เคยสอบถามแรงงานชาวพม่าและมอญ หลายคนบอกว่า “เรื่องจริง” บางทีถูกเจ้าหน้าที่รัฐรบกวนบ้าง ถูกคนปลอมเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเรียก “ค่าคุ้มครอง” ก็เคยมี ร้ายสุดคือ “ถูกปล้นและฆ่า” ก็มีหลายกรณี การอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะหรือห้องแถวตามสวนปาล์ม สวนยางแบบนี้ จึงปลอดภัยกว่า แยกกันอยู่แบบโดดเดี่ยว ส่วน “เด็กเล็ก” บางครอบครัวฝากให้ลูกหลานไปโรงเรียนใกล้ ๆ แต่บางครอบครัวอยู่ไกลจากโรงเรียนเด็กเล็กเหล่านี้ก็ “อดเรียน” หรือมีบางครัวเรือนส่งลูกกลับไปอยู่กับปู่ย่าตายายที่ประเทศต้นทางก็มีบ้าง
Leave a Reply