เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 เพจศ.ดร.พระมหาบุญเลิศ ช่วยธานี ได้โพสต์ข้อความว่า คนในมหาจุฬาฯ : องค์กรวิถีพุทธ
วันนี้อยากแวะมาคุยเรื่องหน่วยงานของตนเอง แต่ไม่ได้มาอวยใคร เพียงจะมาบอกจุดแข็งที่เป็นทุนที่มองไม่เห็น แต่สมควรจะได้นำมาใช้ในการบริหารองค์กร ที่เขียนไว้ในแผนพัฒนาว่าเป็น องค์กรวิถีพุทธ
อันนี้เป็นมุมมองเล็กๆ ของคนตัวเล็กในมุมเล็กๆ แห่งหนึ่งของรั้วมหาจุฬาฯ
ในมหาจุฬาฯ แห่งนี้ ดูดีๆ ก็มีแต่คนที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน จะใกล้ชิดบ้าง ห่างกันบ้าง แต่รวมๆ ก็มีความสัมพันธ์กันทางใดทางนึง
• เคยเป็นศิษย์อาจารย์กันบ้าง
• เป็นญาติสายสัมพันธ์ทางตระกูลกันบ้าง
• เคยบวชเรียนอยู่วัดเดียวกันบ้าง
• มีพระอุปัชฌาย์เดียวกันบ้าง
• เป็น พธ.บ. ร่วมรุ่นกันบ้าง
• เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ก่อการเพื่อให้ มจร.มีวันนี้บ้าง
• เป็นศิษย์เก่าอินเดียร่วมสำนักกันบ้าง
• เคยเรียนบาลี ท่องไวยากรณ์สำนักเดียวกันมาบ้าง
• สึกออกจากพระใหม่ๆ เช่าห้องแคบๆ อยู่ด้วยกันบ้าง
• ฯลฯ
พูดสั้นๆ ก็คือ “เคยกินข้าวหม้อเดียวกันมาเป็นส่วนใหญ่”
ผมคิดว่า นี่คือจุดแข็งที่นำพามหาจุฬามาสู่ยุครุ่งเรืองในปัจจุบันได้ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของมหาจุฬา จึงควรเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ละเลยความสัมพันธ์อันเป็นทุนวัฒนธรรมที่เข้มแข็งขององค์กรวิถีพุทธอย่างแท้จริง แน่นอนในการเปลี่ยนแปลงย่อมมีทั้งความผิดหวังและสมหวัง แต่ความสัมพันธ์ไม่ควรจะเปลี่ยนไป
“การอยู่ร่วมกันของคนในองค์กรวิถีพุทธ ต้องทำให้เกิดระยะห่างจากอำนาจ เมื่ออำนาจเจือจาง ธรรมชาติเดิมแท้ของความเป็นคน คือความเมตตา กรุณา จะเข้มแข็ง”
นั่นหมายความว่า องค์กรวิถีพุทธ ที่เป็นคำสำคัญปรากฏในแผนพัฒนามหาวิทยาลัย เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจให้น้อย ใช้ความสัมพันธ์ในฐานะพี่น้องและผองเพื่อนให้มาก การบริหารองค์กรจะเปี่ยมด้วยความสุข
อำนาจมีไว้เพื่อบดขยี้ ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับวิถีแห่งพุทธะ เมื่อใช้มาก ความระแวงก็จะมาก ความสุขก็จะน้อย แต่ความสัมพันธ์มีไว้เพื่อสร้างดุลยภาพในการอยู่ร่วมกันอย่างไว้เนื้อเชื่อใจ เมื่อใช้มาก ความไว้วางใจก็จะมาก ความสุขก็จะมาก
Leave a Reply